ชีวิตครอบครัวปัจจุบันต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า แม่บ้านหรือคนรับใช้เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่จำเป็นต้องมี โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเล็กและไม่มีญาติผู้ใหญ่ช่วยดูแล เพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากครอบครัวใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน ไปเป็นครอบครัวเล็กที่มีเพียงพ่อ แม่ ลูก เป็นสังคมเมืองที่ทุกคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง กลับบ้านเมื่อแสงอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว ทำให้ต้องพึ่งพิงคนรับใช้หรือที่เรียกว่าพี่เลี้ยง หรือสถานรับเลี้ยงเด็กกันเป็นส่วนใหญ่ บางครอบครัวโชคดีได้พี่เลี้ยงดี รักเด็กรับผิดชอบหน้าที่ ไม่เที่ยวเตร่ ไม่ลักขโมยซึ่งนับว่าหายากมาก เพราะผู้หญิงไทยที่มีความรู้ไม่สูงนักในปัจจุบันส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นสาวโรงงานที่มีอิสระมากกว่าเป็นคนรับใช้ที่จะต้องอยู่กับนายจ้างวันละ 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการดูแลเด็กซึ่งเหนื่อยและน่าเบื่อหน่าย ยิ่งหากนายจ้างจู้จี้และมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการเลี้ยงดูลูกมาก
พ่อ แม่สมัยใหม่บางคนถึงกับกางตำราต่างประเทศ เลี้ยงลูกไปตามขั้นตอนในหนังสือโดยไม่ได้ไตร่ตรองก่อนว่าการใช้ชีวิตของชาติตะวันตกกับตะวันออกต่างกันอย่างไร หากมองให้เล็กลงไปอีก แค่วัฒนธรรม ทัศนะคติและการศึกษาในชาติเอเชียด้วยกันก็ยังแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นการเลี้ยงลูกโดยอาศัยตำราและบังคับให้พี่เลี้ยงทำให้ได้ดีจึงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
ครอบครัวที่มีฐานะดีจึงหันไปใช้บริการ Nursery ซึ่งมีราคาแพง แต่มีการรับรองเรื่องคุณภาพ เช่นพี่เลี้ยงได้รับการฝึกฝนด้านการดูแลเด็กโดยเฉพาะ มีมาตรฐานเรื่องสุขภาพความสอาดของพี่เลี้ยง มีมารยาท สุภาพสามารถพาไปออกสังคมพร้อมนายจ้างได้โดยมีเครื่องแบบที่แสดงถึงหน้าที่ชัดเจน เจ้านายส่วนใหญ่จะพอใจ เพราะหากไม่ถูกใจก็สามารถแจ้งศูนย์บริการให้เปลี่ยนคนใหม่ได้
แต่ยังมีคนส่วนใหญ่ที่ต้องการพี่เลี้ยงที่อยู่ด้วยกันแบบเครือญาติ คือไม่ได้ใช้หน้าที่และตัวเงินเป็นเครื่องผูกมัดให้ทำงาน แต่ใช้ความสัมพันธ์ทางใจ เช่น เจ้านายกินอยู่อย่างไร ลูกจ้างก็อยู่อย่างใกล้เคียงกันไม่แบ่งระดับความสัมพันธ์ชัดเจน เหมือนพี่เลี้ยงจากศูนย์ฯ ที่ต้องแยกกันอยู่ แยกกันกิน ไม่แสดงความสนิทสนมเกินหน้าที่ไม่แสดงความใกล้ชิด บางครอบครัวถึงกับต้องมีคนรับใช้ทำหน้าที่ซักผ้า เตรียมอาหารให้พี่เลี้ยงลูก เพราะพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ตามที่ศูนย์ตกลงในสัญญาจ้างเท่านั้น
ความต้องการพี่เลี้ยงแบบเครือญาติที่ยังมีมาก แต่คนที่จะมาทำงานมีไม่พอ หรือที่เรียกว่า อุปสงค์กับอุปทานไม่สอดคล้องกัน ทำให้ต้องหันไปพึ่งแรงงานต่างชาติมากขึ้นไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า ซึ่งค่าแรงค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศลาวและเขมร แต่โอกาสเสี่ยงในหลายๆด้านสูงมาก เช่น เป็นแรงงานผิดกฎหมายหากถูกจับจะเสียค่าปรับตั้งแต่ ห้าหมื่นบาทไปถึงหลักแสน หรือทั้งจำทั้งปรับทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง เสี่ยงกับโรคภัยต่างๆที่ติดมากับลูกจ้าง หรือการทำร้ายเพื่อลักขโมยและหลบหนีโดยจับตัวมาลงโทษไม่ได้
จากความต้องการดังกล่าวทำให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย โดยใช้พาสปอร์ตและมีหลักฐานการจ้างงาน มีนายจ้างที่มีโควต้าจ้างแรงงานต่างชาติ มีใบรับรองการตรวจโรค และมีวีซ่าเข้าประเทศ ทำให้นายจ้างไทยสบายใจขึ้นที่สามารถมีทางเลือกอื่นโดยไม่ต้องง้อแรงงานไทยที่เรียกร้องขึ้นค่าแรงตลอดเวลา โดยเฉพาะงานรับใช้ในบ้านซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ที่นายจ้างต้องจำยอมเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง
หากแต่ปัญหาที่เิกิดจากคนรับใช้ หรือพี่เลี้ยงต่างชาติ ไม่ได้หายไป เพราะจากประสบการณ์ที่ทำงานมานานรวมทั้งการเกาะกลุ่มกัน ทำให้มีการเรียนรู้การต่อรอง ไม่ต่างกับแรงงานไทยแต่กลับมากกว่า เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความรู้สึกผูกพันธ์ทางเชื้อชาติ ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องตอบแทนความมีน้ำใจของนายจ้าง เพราะถือว่าเป็นการทำหน้าที่ และพร้อมที่จะกลับไปประเทศของตนหากมีเงินมากพอ หรือพร้อมจะเปลี่ยนงานไปตามคำชักชวนของเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน
ถึงแม้นายจ้างจะทำพาสปอร์ตให้บรรดาพี่เลี้ยง ให้ได้อยู่อย่างถูกกฎหมายในไทยและสามารถเดินทาง เข้า-ออกประเทศได้อย่างความปลอดภัย เพราะมั่นใจว่าลูกจ้างต้องกลับมาอยู่กับตนแน่นอน เนื่องจากก่อนจะมีพาสปอร์ต ลูกจ้างขอกลับไปเยี่ยมครอบครัว และกลับมา แต่หลังจากได้รับพาสปอร์ตลูกจ้างขอลาออกโดยอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น กลับไปแต่งงาน พ่อ แม่ไม่สบาย อยากกลับไปอยู่บ้าน แต่ส่วนใหญ่มักจะได้งานใหม่ที่ให้ข้อเสนอเรื่องเงินเดือนมากกว่า สบายกว่าไม่ต้องเลี้ยงเด็ก การมีโอกาสเลือกงาน ทำให้ลูกจ้างรู้สึกถึงการมีอิสระที่จะเลือกทางเดินชีวิตเอง แม้จะไม่แน่ใจว่า ทางเลือกนั้นจะสุขหรือทุกข์มากกว่าเดิมก็ตาม
นายจ้างส่วนใหญ่จำใจต้องยอมรับ แม้บางคนจะรู้สึกผิดหวังและเสียใจที่เคยช่วยเหลือ ดูแลกันมายามที่ลูกจ้างเดือดร้อน บางคนถึงกับใช้คำพูดว่า "เสียดายที่อุตส่า่ห์เลี้ยงดูเหมือนลูกหลาน หวังจะอยู่ด้วยกันนานๆ พอได้โอกาสก็หนีไป ไม่คิดถึงใจเราเลย"
นอกจากความต้องการ คนรับใช้ แม่บ้าน หรือพี่เลี้ยงแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือความรู้สึกผูกพันธ์กันและกันจากการที่อยู่ร่วมกันมานาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูก เพราะนายจ้างมองพี่เลี้ยงว่าเสมือนแทน พ่อ แม่ ด้วยความไว้วางใจว่าจะดูแล รับผิดชอบชีวิตลูกได้ดีที่สุด แต่พี่เลี้ยงจะรับรู้ถึงความไว้วางใจนั้นหรือไม่ คงต้องขึ้นกับระดับคุณธรรมในจิตใจของแต่ละคน ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับความรู้ ระดับการศึกษา การนับถือศาสนาหรือเป็นคนชาติใด แต่ขึ้นกับความรู้สึกที่จะตอบแทนความดีที่ผู้อื่นมีกับตนที่แต่ละคนย่อมคิดแตกต่างกันออกไป
หากมองในมุมกลับกัน คือในมุมของพี่เลี้ยง หรือลูกจ้างแล้ว สิ่งที่นายจ้างคิดว่าดีสำหรับเขา คือให้ที่อยู่ดี ที่กินดี เงินเดือนดี ปฏิบัติต่อลูกจ้างดีไม่ดูถูกเหยียดหยาม น่าจะดีพอแล้ว แต่อาจไม่ใช่ความต้องการสูงสุดที่ลูกจ้างต้องการ เพราะที่จริงคือ เขาต้องการความเป็นอิสระ เพราะในอดีตการจากบ้านเกิด จากครอบครัว เพื่อมาหาชีวิตที่ดีกว่าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวทำให้จำเป็นต้องยอมรับสภาพหลบๆซ่อนๆ เมื่อมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการ ทุกคนจึงพยายามไปให้ถึงจุดนั้น
การยอมรับความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกจะทำให้นายจ้างที่คาดหวังกับ พี่เลี้ยง หรือลูกจ้าง บรรเทาความรู้สึกผิดหวังลงได้โดยให้มองไปในแบบเดียวกับบทกลอนของ สุธา ธรรมชาติ ที่เปรียบเทียบถึงเรื่องของความสุข ของนก กับมนุษย์ไว้อย่างน่าฟังว่า
ความสุขมีหลายแบบ ความสุขของนกไม่ได้มีแบบเดียว
คือจะต้องเป็นหงส์ หรือเป็นนกอินทรี ถึงจะมีความสุข
ความสุขของคนก็ไม่ได้มีแบบเดียว คือจะต้องอยู่บ้านหลังใหญ่
ราคาหลายล้านมีรถยนต์หลายคัน ถึงจะมีความสุข
ความสุขมีหลายแบบ สุขของเขาก็ตามแบบของเขา
สุขของเราก็ตามแบบของเรา แต่สุขที่แท้จริง
ต้องไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
และมีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ไม่มีความเห็น