ความหมายที่แท้ของ PLC



ผมค่อยๆ ทำความเข้าใจ PLC ในมิติของชีวิตครู    ว่าน่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ทฤษฎีการเรียนรู้สู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ผ่านการปฏิบัติของทีมงานครู  

พูดใหม่ให้ฟังง่ายหน่อย ชีวิตครูทำหน้าที่สอน    ที่สมัยนี้ต้อง “สอนแบบไม่สอน” หรือกล่าวใหม่ว่าทำหน้าที่เอื้อ (facilitate) ให้ศิษย์เรียนรู้     ทำหน้าที่โค้ชมากกว่าสอน    ซึ่งแปลว่านักเรียน “ทำงาน” เพื่อการเรียนรู้ของตน     โดยต้องการโค้ชที่ดีมาช่วยเชียร์และแนะ    การทำหน้าที่โค้ชที่ดีนั้น เรียนรู้ได้ไม่มีจบสิ้น

PLC คือเครื่องมือที่ดีที่สุด สำหรับให้ครูเรียนรู้วิธีการและทฤษฎีว่าด้วยการทำหน้าที่โค้ชของตน     โดยเป็นเครื่องมือเรียนรู้ร่วมกันของครู  ช่วยเสริมการเรียนคนเดียว    

PLC จึงเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการ ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติของครู      

ชีวิตครูจึงต้องเป็นชีวิตที่เรียนรู้ต่อเนื่องไม่จบสิ้น    ครูจึงต้องสวมวิญญาณ “ผู้เรียน” ไม่ใช่ “ผู้รู้”     สมมติฐานในการทำหน้าที่ของครูคือ “ฉันทำหน้าที่ครู (โค้ช) แก่ศิษย์ได้ดีกว่านี้ได้     หากฉันเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครูของฉัน”     ครูยึดถืออุดมการณ์นี้ตลอดชีวิต    นักศึกษาครูได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์นี้    และได้รับการฝึกทักษะ PLC   จนในที่สุดเป็นกิจกรรมที่ครูร่วมกันทำอย่างเป็นอัตโนมัติ   

PLC จะเป็นของแท้ หรือของปลอม    ขึ้นอยู่กับวิญญาณครู    ว่าเป็นวิญญาณ “ครูเพื่อกู”  หรือเป็นวิญญาณ “ครูเพื่อศิษย์”    เป็นวิญญาณ “ครูผู้รู้”   หรือวิญญาณ “ครูผู้เรียน”

วงการศึกษาไทยต้อเอาชนะความเข้าใจผิดว่า การพัฒนาครูคือการจัดสรรงบประมาณให้ครูเข้ารับการฝึกอบรม    นั่นคือความเข้าใจผิด เป็นมายา และมีรากฐานมาจากผลประโยชน์    การพัฒนาครูประจำการที่มีผลจริงจังต้องใช้ทฤษฎี 70 : 20 : 10    คือให้น้ำหนักร้ยละ ๗๐ แก่  PLC ในโรงเรียน    ร้อยละ ๒๐ แก่ PLC ข้ามโรงเรียน    และร้อยละ ๑๐ แก่การให้ครูเข้ารับการฝึกอบรม    

จะเห็นว่า PLC มีน้ำหนักถึงร้อยละ ๙๐ ต่อการพัฒนาครูประจำการ    ในขณะที่การฝึกอบรม มีน้ำหนักเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น    ตรงตามหลักการ lifelong learning ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน  

แต่ PLC ที่มีพลัง ต้องการเป้าหมายที่ชัดเจนของการเรียนรู้     ผมมีความเห็นว่า การเรียนรู้ของครูต้องโฟกัสที่วิธีการเอื้อให้ศิษย์เรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยง    บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้     ภายใต้อุดมการณ์ว่า วิธีการ “เอื้อ” (facilitate) ของครูนั้น พัฒนาได้ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด    เพราะการเรียนรู้ (ทั้งของศิษย์ และของครู) นั้น    มีความซับซ้อน และเป็นพลวัตตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง   

วิจารณ์ พานิช

๑๙ เม.ย. ๖๓   ปรับปรุง ๔ พ.ค. ๖๓        


หมายเลขบันทึก: 677518เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท