ในบ้านเมืองเรามีคนเคนแก่รุ่นอายุประมาณ 50-70 ปี
หลายคนที่รู้จักคุ้นเคยกับชื่อ "ปรีชา พิมพ์พันธุ์"
ส่วนเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้แทบไม่รู้จักเลยก็ว่าได้
เช้าวันหนึ่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504
อาจารย์หนุ่มคนหนึ่งแห่งวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร
ได้อำลาเพื่อนฝูงที่มาส่งเขาที่หน้าวิทยาลัย
แล้วก็จับจักรยานคู่ชีพขึ้นขี่
จุดมุ่งหมายของเขาคือสหรัฐอเมริกาเป็นระยะทางห่างไกลประเทศไทยร่วมหมื่นไมล์ เขาจะพาจักรยานคู่ชีพไปตามเส้นทางสายกรุงเทพฯ-ลพบุรี-ปากน้ำโพ-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด-พม่า-อินเดีย-ปากีสถาน-เปอร์เซีย์-ตุรกี-กรีก-อิตาลี-สวิสเซอร์แลนด์-ฝรั่งเศส-อังกฤษ
จากอังกฤษ จะลงเรือโดยสารไปขึ้นฝั่งที่ New Orleans
แล้วขี่จักรยานมุ่งหน้าไปทำปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอลาบามา (Alabama)
สหรัฐอเมริกา ตามแผนการเดินทางของเขานั้นต้องผ่านแดนทุรกันดารหลายแห่ง
โดยเฉพาะทะเลทรายชายแดนอินเดียที่จะไปสู่ตุรกี
เพื่อนฝูงเขาเป็นห่วงมากและผู้ใหญ่หลายคนก็ได้ห้ามเขาด้วยความหวังดี
ยังไม่มีคนไทยคนใดได้เคยลองทำเช่นนี้ในขณะนั้น
แต่ "ปรีชา พิมพ์พันธุ์" ได้ตั้งใจแน่วแน่
เมื่อชาวต่างประเทศเดินทางด้วยเท้าหรือขี่จักรยานรอบโลกมาถึงเมืองไทยได้
ทำไม่เขาจะทำไม่ได้
แผนการที่เขาจะขี่จักรยานข้ามสามทวีปครั้งนี้เขาได้วางไว้อย่างรอบคอบ
และด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง
บัดนี้เขาได้ไปถึงจุดหมายคือสหรัฐอเมริกาและได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
จากมหาวิทยาลัยอลาบามา กลับมาสอนหนังสือและเป็นผู้จัดการโรงเรียนเอกชน
ชื่อ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การกระทำดังนี้ ดูเผินๆก็เห็นว่าไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างไร แก่ใคร
แต่ว่าโลกก็นิยมกันอยู่มาก แบบเดียวกับผู้พิชิตยอดเขาหิมาลัย
ซึ่งเป็นการสำแดงอำนาจอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่จะเอาชนะสิ่งที่ท้าทายเขาอยู่
และเมือเขาทำสำเร็จโลกก็ปรบมือให้เขา "ปรีชา"
ก็เช่นกัน
เขาผ่านไปที่ใดก็พบการต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดีและเขาก็ช่วยทำให้ชื่อ
"ประเทศไทย" โด่งดังขึ้นไม่ใช่น้อย
ปัจจุบัน อาจารย์ปรีชา พิมพ์พันธุ์ แม้วัยละล่วงเลยมาถึง 70 ปีเศษแล้ว
ยังรักการออกกำลังกาย ออกรอบตีกอล์ฟ และปั่นจักรยาน เป็นประจำ
ทำให้สุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง แลดูอ่อนกว่าวัย
ท่านที่สนใจเรื่องราวการเดินทางรอบโลกของอาจารย์ปรีชา พิมพ์พันธุ์
โปรดติดตามได้ตอนต่อไปครับ