ชีวิตที่พอเพียง 3694. ความฉลาดรวมหมู่ : ๓. หลักการจัดระบบ ๕ ประการ



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความจากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๓ นี้ ตีความจากบทที่ 5  The Organizing Principles of Collective Intelligence 

การเกิดความฉลาดรวมหมู่มี ๓ องค์ประกอบสำคัญ คือ (๑) ความสามารถในการทำกิจกรรม (functional capabilities)  (๒) โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructures)   และ (๓) การจัดระบบกิจกรรม (organizing) บทที่ ๓ นี้ ว่าด้วยการจัดระบบ    ซึ่งมีหลักการ ๕ ประการคือ

  1. 1. การแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลอย่างอิสระ (autonomous commons)      

                                       ความฉลาดรวมหมู่จะเกิดขึ้นได้สมาชิกต้องมีวัฒนธรรมของการและเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูล ความคิด ความเชื่อ สมาชิกสามารถแสดงข้อคิดเห็นของตนที่แตกต่างจากคนอื่นได้อย่างสบายใจ    เพื่อให้เกิดพื้นที่ของการสานเสวนาสู่ปัญญาที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น    สมาชิกเปิดใจให้ความเห็นและรับฟังกัน    ไม่มีคนยึดกุมอำนาจหรือทำตัวเด่นเพียงผู้เดียว   

  1. 2. การใช้ขีดความสามารถด้านความฉลาดอย่างสมดุลและเหมาะสม (balanced use of the capabilities of intelligence)

                                        สมดุลในที่นี้หมายถึงสมดุลระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๑๐ ที่กล่าวแล้วในตอนที่ ๑    แค่ไหนถือว่าสมดุลขึ้นอยู่กับบริบทของกิจกรรมนั้นๆ    ข้อนี้มีสุภาษิตไทยว่า “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”    เพราะไม่รู้จักกาลเทศะ   มีปัญญา (ความฉลาด) แต่ไม่มีสติกำกับ   

                                         องค์ประกอบของความฉลาดรวมหมู่ ๑๐ ประการนั้น    บางประการเป็นขั้วตรงกันข้ามกัน เช่น กลุ่มอาจมีความสามารถในการสังเกตและรับรู้สูง ทำให้มีข้อมูลมาก (องค์ประกอบข้อ ๒)    จนเกิดความสับสน นำไปสู่การตัดสินใจ (องค์ประกอบข้อ ๙) ผิดพลาด   

  1. 3. โฟกัสและกระจาย (focus and the right granularity)

                                        การใช้ความฉลาดรวมหมู่เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนั้น     ต้องโฟกัสหรือจับประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการ    แต่ก็ต้องไม่ละเลยประเด็นปลีกย่อยบางประเด็นที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง    ที่อาจทำให้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มหรือทีมอ่อนแอลงไป หรือเกิดความขัดแย้ง   

  1. 4. มีวงจรเรียนรู้ (reflexivity and learning)  

                                       กลุ่มต้องมีการใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลไม่ออกมาตามที่คาดหมาย    ต้องร่วมกันตั้งคำถามและหาคำตอบว่าสมมติฐานที่กลุ่มใช้อาจไม่ถูกต้อง    นำไปสู่การเรียนรู้ และการเปลี่ยนใจ   

  1. 5. บูรณาการสู่การปฏิบัติ (integration to action)  

                                       เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด และยากที่สุด    เพราะเป็นการบูรณาการความหลากหลายสู่ความเป็นหนึ่งเพื่อการตัดสินใจสู่การปฏิบัติ    เป็น “ปัญญา” (wisdom) ที่แท้จริง    เพราะเป็นขั้นตอนของการสร้างสิ่งสามัญ (simplicity) จากสิ่งซับซ้อน (complexity)    เป็นการเคลื่อนจาก “ความเข้าใจ” (understanding) สู่ “การปฏิบัติ” (action)    โดยที่เป็นการตัดสินใจเลือกในท่ามกลางตัวเลือกที่หลากหลายและซับซ้อน    ที่เขาเรียกว่า high-dimensional choices  

หลักการจัดระบบ (organize) กลุ่ม เพื่อให้เกิดความฉลาดรวมหมู่   ทั้ง ๕ ประการนี้    จะช่วยให้สมาชิกกลุ่มคิดร่วมกันได้ชัดเจนเกี่ยวกับ อดีต (ความจำร่วม),  ปัจจุบัน (สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น),  และอนาคต (การตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง)  

แต่พึงตระหนักว่า การจัดระบบเป็นการกระทำ (action)   ย่อมมีปฏิกิริยาต้าน (reaction) เป็นธรรมดา    ไม่มีการจัดระบบใดเกิดขึ้นในสุญญากาศ ไร้แรงต้าน     

ระบบที่เกิดขึ้นจากการจัดโดยใช้หลักการทั้ง ๕ นี้   มีธรรมชาติที่เปราะบาง  และอ่อนแอลงได้ง่าย    ในทำนองเดียวกันกับที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นก็ได้    แต่การสร้างระบบความฉลาดรวมหมู่จะไม่เหมือนการสร้างบ้าน    ที่เมื่อสร้างเสร็จก็อยู่ได้อย่างสบายไปอีก ๒๐ ปี หรือ ๕๐ ปี    โดยมีการบำรุงรักษาเพียงเล็กๆ น้อยๆ    ตรงกันข้าม ระบบความฉลาดรวมหมู่จะมีพลวัตเกิดขึ้นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา     และโดยธรรมชาติแล้ว จะไม่อยู่ยั้งยืนยง   

ดังเราจะเห็นว่าอาณาจักรโบราณรุ่งเรืองถึงขีดสุด ดำรงอยู่หลายร้อยปี แล้วมีความยุ่งยาก เสื่อมลง และสลายตัวไป    อาณาจักรแล้วอาณาจักรเล่า         

วิจารณ์ พานิช  

๙ เม.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677447เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2020 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2020 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท