โควิด ๑๙ สอนทฤษฎีการศึกษา : 2. จิตสาธารณะ และความไว้วางใจต่อกันและกัน



ผมจะค่อยๆ ตกผลึกจากการใคร่ครวญสะท้อนคิด    ว่าเหตุวิกฤตจากโควิด ๑๙ ระบาดมันสอนอะไรบ้างในด้านทฤษฎีการศึกษา  หรือการเรียนรู้   ท่านผู้อ่านพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)   หรือพึงปฏิบัติตามกาลามสูตร   เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา

พฤติกรรมของคนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ social distancing และมาตรการอื่นๆ ที่ทางการกำหนด    ยังไปชุมนุมมั่วสุมดื่มเหล้าหรือเสพยา    มีอยู่ในรายงานข่าว    แต่ที่รุนแรงคือข่าวจากฟิลิปปินส์ ที่รัฐบาลออกคำสั่งให้ตำรวจยิงประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ ได้    เมื่อได้ยินข่าว ผมเข้าใจว่ายิงด้วยกระสุนยาง    แต่ข่าวย้ำว่ายิงด้วยกระสุนจริง   

สำหรับผม ข่าวในทั้งสองประเทศ สะท้อนความอ่อนแอของการศึกษา เราจะไม่ได้ยินข่าวแบบนี้จากญี่ปุ่น หรือฟินแลนด์ ที่การศึกษาของเขาคุณภาพสูง    และผู้คนมีความเชื่อมั่น หรือความไว้วางใจ (trust) ระหว่างกัน    รวมทั้งเชื่อมั่น ต่อทางการของประเทศ

เรื่องจิตสาธารณะนี้ สถานการณ์โควิด ๑๙ บอกเราว่า ในสถานการณ์นี้ เห็นชัดว่าคนไทยในภาพรวมมีจิตสาธารณะสูง    ร่วมมือร่วมใจกันได้ดีในสถานการณ์วิกฤติ    แถมยังมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ที่ยากลำบาก ดังการคิดกิจกรรม แบ่งปันความอิ่ม    และโครงการโรงทานเป็นต้น    

ความร่วมมือร่วมใจหมายถึง ร่วมกันกักตัวเองอยู่ในบ้าน เพื่อไม่ออกไปรับเชื้อโควิด ๑๙    แล้วกลายเป็นตัวการแพร่เชื้อ    คนที่บังคับใจตัวเองได้    ไม่กระวนกระวายเมื่อต้องจำเจอยู่ในบ้าน    เป็นคนที่มีความสามารถบังคับใจตนเองได้ดี    เรียกว่ามี EF (Executive Functions) สูง     เป็นผลของการฝึกฝนตั้งแต่เด็ก    ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน        

เมื่อต้องกักตัวอยู่กับบ้าน    อันตรายอย่างหนึ่งที่เสี่ยงคือเครียดจากการเสพสื่อมากเกินไป    ที่ media literacy ช่วยได้    คือต้องรู้จักเสพแต่พอประมาณ หรือพอดี    และรู้จักเลือกเสพเฉพาะสื่อที่เชื่อถือได้    และเมื่อได้รับรู้เรื่องราวก็มีวิจารณญาณ   ไม่เชื่อไปเสียทั้งหมด    คุณสมบัติเหล่านี้ต้องการการฝึกฝนเรียนรู้     และควรให้เด็กได้ฝึกด้วย   

เรื่องความเชื่อถือไว้วางใจกัน (trust)    เป็นเรื่องจิตวิทยาสังคม    ที่สังคมใดคนมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกันสูง    ผู้คนเป็นคนน่าเชื่อถือ    คนที่ปลิ้นปล้อนโกหกหลอกลวงมีน้อย สังคมนั้นก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข     ในยามวิกฤติ คนเราต้องการที่พึ่งทางใจ  ต้องการมีคนที่ตนไว้วางใจไว้เป็นที่พึ่ง     ในยามวิกฤติโควิด ๑๙ ของไทย เราโชคดีที่วงการแพทย์หรือวงการสาธารณสุข เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของผู้คน    และโชคดีที่ทางรัฐบาลเลือก นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษกของ สบค.    เพราะท่านมีบุคลิกและวาจาที่เป็นที่น่าเชื่อถือ    ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย ในการฝ่าวิกฤติโควิด ๑๙ จึงน่าจะมาจากหลากหลายปัจจัยที่สร้างความไว้วางใจต่อทางการ    

วิจารณ์ พานิช

๒๖ เม.ย. ๖๓

   

  

หมายเลขบันทึก: 677332เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2020 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2020 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท