การเรียนการสอนออนไลน์ตามสไตล์ของฉัน


การเรียนการสอนออนไลน์ตามสไตล์ของฉัน

เกี่ยวกับผู้เขียน

                         เป็นคนเกิดยุค  “baby boomer”  เคยเป็นครูและเกษียณอายุราชการแล้ว  แต่จิตวิญญาณของความเป็นครูยังฝังแน่นติดตัวอยู่  ทุกๆ วันจะติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและคนในวงการครูด้วยความสนใจและใส่ใจเสมอมา  ไม่เว้นแม้แต่แว่วข่าวการแจกแท็บเล็ตเพื่อใช้สอนออนไลน์   จนเกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลงกระทรวงศึกษาธิการที่ดังกระหึ่มไปทั่ว  แต่ในช่วงเวลานี้มีเรื่องที่ผู้เขียนมีความสนใจมากกว่า  คือ การเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนเป็นวันที่  ๑  กรกฎาคม  และการเตรียมความพร้อมว่าจะจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไร

                             ด้วยความที่เกิดเร็ว  ก่อนคนยุค  Gen X  Gen Y  Gen Z  และคนยุค Gen Millennial  ทำให้ผู้เขียนมีความอ่อนด้อยในการใช้เทคโนโลยี อันเนื่องมาจากความกลัว  ความไม่คุ้นชิน  จึงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้ช้า   จำได้ว่ารู้จักคำว่า  “คอมพิวเตอร์”  หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า  “สมองกล”  ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕  (ปีฉลองกรุงเทพฯ ครบ ๒๐๐ ปี)  ขณะเรียนปริญญาโทและได้ทันใช้บัตรเจาะรูเป็นสื่อนำเข้าเพื่อประมวลผลงานวิทยานิพนธ์  ปัจจุบันผู้เขียนสามารถใช้เทคโนโลยีพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนได้  เช่น  ส่งรูปและข้อความ “พรุ่งนี้วันพระ” ในไลน์ให้พื่อน  เป็นต้น  นอกจากนั้น  ในชีวิตประจำวันผู้เขียนยังสามารถใช้โน้ตบุ๊คและอินเทอร์เน็ตค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องที่ตนเองสนใจหรืออยากรู้  และอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ได้  มีอีก     สิ่งหนึ่งที่อยากจะอวด  คือ  ใช้โทรศัพท์ที่มีคอมพิวเตอร์  มีอินเทอร์เน็ต  และมีกล้องถ่ายรูปอยู่ในเครื่องเดียวกันด้วย  (โทรศัพท์มือถือ)

การเรียนการสอนออนไลน์

                             ได้ติดตามข่าวการเรียนการสอนออนไลน์อย่างต่อเนื่อง สรุปว่าท่าน รมว.ศธ. ไม่ซื้อแท็บเล็ตแจกแล้ว  กำลังหามาตรการและวิธีการรับมือกับการจัดการศึกษารูปแบบออนไลน์อยู่   เดินหน้าเลยครับท่าน วิกฤตโควิด-19  จะเป็นโอกาสของการปฏิรูปการศึกษาไทย  ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมาตรา ๒๔ (๖)  “จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่  มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา  ผู้ปกครอง  และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย  เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ”  ซึ่งจากบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  และความจำเป็นขณะนี้  โรงเรียนต้องปิด  โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียน นักเรียนต้องอยู่บ้าน  ครูต้องอยู่บ้าน  ตามนโยบาย  “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  และยังไม่มีใครฟันธงหรือมีคำตอบสุดท้ายว่าโรงเรียนจะสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติเมื่อใด  (น่าจะเป็นวันที่  ๑  กรกฎาคม)  จึงเป็นสภาวะที่ทุกฝ่ายต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่สุดเพื่อการนี้ต่อไป

                             มีข้อมูลที่ได้จากนายแพทย์วรงค์  เดชกิจวิกรม  ที่กล่าวถึงการเรียนการสอนออนไลน์ของสิงคโปร์ในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ว่า  “ให้เด็กสิงคโปร์เรียนออนไลน์ที่บ้าน  ตั้งแต่ วันที่  ๘  เมษายน   หลังประกาศนโยบาย  ๕  วัน”  “เขาช่วยเหลืออุปกรณ์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นรายๆ ไป  และให้ใช้แอพพลิเคชั่นฟรีด้วย”  (ไทยโพสต์ ออนไลน์ วันที่  ๑๒  เมษายน  ๒๕๖๒)  จากข่าวนี้ยิ่งกระตุ้นให้ผู้เขียน สนใจการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้น ได้แสวงหาเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ในต่างประเทศ พบว่ากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น  โดยพัฒนาคู่ขนานไปกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสารสนเทศของโลก  การเรียนการสอนออนไลน์ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก  ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด นวัตกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นความสำคัญในลำดับแรกๆ  และทดลองจัดการเรียนการสอนกันไปตามสภาพความพร้อมและความถนัด  บรรยากาศการเรียนการสอนออนไลน์ในระดับอุดมศึกษาช่วงเริ่มต้นนี้   มีทั้งสนุกจากความแปลกใหม่  และความทุกข์จากศึกชิงสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ค่อยเสถียรและช้าอืดอาด   ขณะที่อาจารย์อาวุโสจะมีปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกัน  เป็นต้น  (ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน website)  สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เท่าที่ปรากฏจะมีความชัดเจนและมีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งอยู่ที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย  จังหวัดเชียงใหม่  ดูจากร่องรอยหลักฐานพบว่ามีการเตรียมความพร้อมมาก่อนหน้านี้ และเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ตั้งแต่ภาคฤดูร้อนของปีนี้แล้ว  จากกรณีศึกษาการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย  สรุปได้ว่า  ในแต่ละโรงเรียน  ครูแต่ละคนสามารถจัดการเรียน การสอนออนไลน์ได้ตามบริบทของโรงเรียน  นักเรียน  ท้องถิ่น  และตามศักยภาพของครูหรือตามลีลา (style) ความถนัดของครูแต่ละคนเป็นสำคัญ

สังคมไทยทันสมัย

                             มีข้อมูลสนับสนุนเชิงประจักษ์ว่า  ประเทศไทยมีความทันสมัยและเป็นสังคมออนไลน์แล้ว จากกรณีศึกษา โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ  “ชิมช้อบใช้”  ของรัฐบาล  มีคนไทยแย่งกันเข้าไปลงทะเบียนทางออนไลน์ได้วันละเป็นล้านๆ คน  จนทำให้เว็บนี้ล่มแล้วล่มอีก  และอีกกรณีหนึ่งที่บ่งชี้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง คือ โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” มีคนไทยเข้าไปลงทะเบียนเพื่อร่วมโครงการเกือบ  ๓๐ ล้านคน ในระยะเวลาไม่กี่วัน  จำนวน เหล่านี้มีความสอดคล้องกับข้อมูลผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑  ที่พบว่า  ประชากรไทยอายุ  ๖  ปี ขึ้นไป  ใช้โทรศัพท์มือถือถึง  ร้อยละ ๘๙.๖  และข้อมูลจากหน่วยงาน  We Are Social  และ  Hootsuite  (มกราคม ๒๕๖๓)  ได้เผยแพร่สถิติการใช้ดิจิทัลของคนไทยที่พบว่า  จากจำนวนประชากรไทย  ๗๐  ล้านคน  มีโทรศัพท์มือถือ   ๙๓  ล้านเลขหมาย  ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือถึงร้อยละ  ๙๗  และมีแนวโน้มจะใช้งานเพิ่มขึ้น   ขณะที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย ๙ ชั่วโมง   ต่อวันด้วย

                             จากข้อมูลดังกล่าวพออนุมานได้ว่า  คนไทยมีเครื่องมือและทักษะพื้นฐานในการทำกิจกรรมออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   ประเด็นที่สำคัญคือ  จะทำอย่างไรให้คนไทยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เป็นช่องทางเพื่อการเรียนรู้มากกว่าเป็นช่องทางเพื่อความบันเทิงดังที่เป็นอยู่   และน่าจะได้เริ่มต้นในตอนนี้  ใช้ช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19  เป็นโอกาส ให้ทั้งครู  นักเรียน  และผู้ปกครองเห็นความจำเป็นในสภาพที่การเรียนรู้ไม่สามารถเกิดได้ในห้องเรียนปกติ อันจะเป็นเงื่อนไขภาคบังคับที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน  นั่นคือ  ถึงเวลาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เป็นรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหานี้    การเรียนการสอนออนไลน์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ท้าทาย

เพียงครูไทยลงมือทำ

                             มีคำถามว่า  ถ้าจะให้ผู้เขียนลงมือจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในวันนี้   จะทำได้หรือไม่ อย่างไร  คำตอบ คือ คิดว่าน่าจะ  “ทำได้”  และสามารถทำได้ด้วยตนเองด้วย   ทำไมถึงมั่นใจ  ขอขยายความง่ายๆ และเป็นรูปธรรม  จากการเทียบเคียงกับแม่ค้าที่สามารถขายของออนไลน์อยู่ที่บ้านได้โดยไม่ต้องมีร้านค้าเป็นของตนเอง หรืออย่างคนสมัยนี้ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะกิน จะเดินก็สามารถซื้อ-ขาย ของออนไลน์ได้ในทุกเวลาและทุกสถานที่   แล้วทำไมครูจะสอนออนไลน์ไม่ได้  หรือทำไมนักเรียนจะนั่งหรือนอนเรียนออนไลน์ที่บ้านไม่ได้  ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้เขาสามารถเล่นเกมออนไลน์ได้ตั้งนานแล้ว

                             ต่อไปนี้  เป็นแนวคิด  หลักการ  และวิธีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตามสไตล์ของผู้เขียน

                             ๑.  นิยาม  “จัดการเรียนการสอนอนออนไลน์”   หมายถึง  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ ผู้สอนและผู้เรียนใช้เทคโนโลยี ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  เพื่อการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  ได้ทุกเวลา  และทุกสถานที่ โดยมีผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะ  ให้คำปรึกษา   และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้

                             ๒.  หลักการในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์จะใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  ๒๕๕๑   เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน

                             ๓.  เครื่องมือและเทคโนโลยี ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ จะใช้โทรศัพท์มือถือ และแอพพลิเคชั่น LINE เป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในทุกครัวเรือนและมีใช้กันเกือบทุกคนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  LINE  จะมีระบบการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม  และสามารถใช้งานได้หลายอย่าง  เช่น  ส่งข้อความ  โทรคุยกัน  โทรคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตา และเห็นความเคลื่อนไหว  ถ่ายภาพได้  ส่งภาพและเสียงได้   ส่งคลิปได้  ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มได้  ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มแบบเห็นหน้าเห็นตาได้   ฯลฯและที่สำคํญคือสามารถตรวจสอบขณะปฏิบัติงานได้ด้วย

                             ๔.  เตรียมความพร้อมก่อนจัดกิจกรรมการเรียน การสอนออนไลน์

                                   ๔.๑  จัดตั้งกลุ่ม LINE โดยผู้สอน  ผู้เรียน   และผู้ปกครอง ร่วมเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งกันและกัน  (กรณีผู้เรียนหรือผู้ปกครองบางคนมีข้อจำกัดในการเข้ากลุ่มไลน์  เช่น ไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  จะต้องแสวงหาช่องทางใดช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน)

                                   ๔.๒  ผู้สอนชี้แจงบทบาทและหน้าที่ของผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์

                                     ๔.๒.๑   ผู้สอน มีบทาทหน้าที่  ดังต่อไปนี้

                                      -  กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้ผู้เรียนปฏิบัติ

                                      -  กำหนดชิ้นงานหรือภาระงานที่จะใช้ในการวัดและประเมินผล

                                      -  กำหนดช่วงเวลาผู้เรียนพบผู้สอน  (ส่งข้อความ โทรพูดคุย  ซักถาม  รายงาน

                                        ความก้าวหน้า หรืออื่นๆ แบบเห็นหน้า หรือเห็นการปฏิบัติกิจกรรม หรือ video call)

                                      -  กำหนดระยะเวลาและช่องทางการส่งผลงานเพื่อการวัดและประเมินผล

                                      -  กำหนดช่องทางการรายงานผลการเรียนรู้ให้ผู้เรียนและผู้ปกครอง

                                     ๔.๒.๒   ผู้เรียน  มีบทบาทหน้าที่  ดังต่อไปนี้

                                      -  ปฏิบัติกิจกรรมตามที่ผู้สอนกำหนด

                                      -  จัดทำชิ้นงานหรือภาระงานตามที่ผู้สอนกำหนด

                                      -  ส่งข้อความ โทรพูดคุย  ซักถาม  รายงานความก้าวหน้า หรืออื่นๆ แบบเห็นหน้า หรือ

                                        เห็นการปฏิบัติกิจกรรม  (video call)  ในเวลาที่ผู้สอนกำหนด

                                      -  ส่งผลงานเพื่อการวัดและประเมินผลตามระยะเวลาและช่องทางที่ผู้สอนกำหนด

                                     ๔.๒.๓   ผู้ปกครอง  มีบทบาทหน้าที่   ดังต่อไปนี้

                                      -  รับรู้กิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติทั้งหมด

                                      -  ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยติดตามให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมตามที่ผู้สอนกำหนด

                                      -  ส่งข้อความ  พูดคุยหรือสื่อสารกับผู้สอนเป็นครั้งคราว

                             ๔.๓  ผู้สอนวางแผนจัดการเรียนการสอนออนไลน์

                                     ๔.๓.๑  กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดการเรียนรู้ในหลักสูตรที่จะนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้

                                     ๔.๓.๒  วิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้   เพื่อค้นหาว่าหลักสูตรต้องการให้ผู้เรียนรู้อะไร และปฏิบัติอะไรได้บ้าง

                                     ๔.๓.๓  กำหนดชิ้นงานหรือภาระงานสำคัญ  ที่เป็นร่องรอยหลักฐานว่าผู้เรียนรู้และปฏิบัติได้   พร้อมแนวการวัดและประเมินผล  (rubric scores)

                                     ๔.๓.๔  กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติ เพื่อการบรรลุตามมาตรฐานและตัวชี้วัด  และมีผลงานปรากฏเป็นร่องรอยหลักฐาน โดยจะให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้     ลงมือปฏิบัติจริง  ต่อไปนี้

                                      -  กระบวนการคิด  โดยการใช้คำถามที่มีคุณภาพให้ผู้เรียนสงสัย  สนใจ  และอยากรู้

                                      -  กระบวนการสืบค้นแสวงหาความรู้  โดยมอบหมายให้ผู้เรียนใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่มีอยู่ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง  จาก website  จาก you tube หรือ สื่อ online ต่างๆ

                                      -  กระบวนสรุป และสร้างความรู้ด้วยตนเอง  โดยมอบหมายให้ผู้เรียนนำเสนอความรู้ผ่านการเขียน  การรายงานปากเปล่า  การวาดภาพ  หรือจัดทำชิ้นงานหรือภาระงานต่างๆ ตามความเหมาะสม

                                      -  กระบวนการประยุกต์ใช้  โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้เรียนต้องระบุว่าในทุกๆ เรื่องที่ได้ค้นพบ  ได้เรียนรู้  หรือได้ลงมือปฏิบัติ  จะสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเอง  ครอบครัว  หรือชุมชนได้อย่างไรบ้าง

                             ๕.  ทดลองจัดการเรียน การสอนออนไลน์

                             ในสัปดาห์ที่  ๑-๒  ของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ จะเป็นช่วงของการทดลอง เพื่อตรวจสอบ  และประเมินความพร้อมทางเทคโนโลยี ของผู้สอน  ผู้เรียน  และผู้ปกครอง  ว่าสามารถดำเนินได้ตามกิจกรรมที่กำหนดไว้หรือไม่  อย่างไร  มีอะไรที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรค  มีอะไรเป็นข้อเสนอแนะที่ต้องแก้ไขบ้าง  ข้อค้นพบช่วงการทดลอง จะนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้ดีขึ้นเป็นลำดับต่อไป

                             ก่อนปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนออนไลน์   ผู้สอนต้องกำหนดข้อตกลงเบื้องต้น               ใน  ๒  ประการ  ต่อไปนี้

                             ๑.  กำหนดเวลาผู้เรียนพบผู้สอน  ในวันจันทร์-วันศุกร์  มี ๓ ช่วงเวลา  คือ  ๙.๐๐-๑๑.๐๐ น. ๑๑.๓๐-๑๒.๓๐ น.  และ  ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. (ส่งข้อความ โทรพูดคุย  ซักถาม  รายความก้าวหน้า  หรือเห็นการปฏิบัติกิจกรรม  หรือ video call)  โดยแจ้งให้ผู้เรียนและผู้ปกครองรับรู้ล่วงหน้าก่อน  ๑  สัปดาห์  และตรวจสอบความพร้อมของผู้เรียนก่อนเรียน  ๓  วัน

                             ๒.  กำหนดเวลาการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ ในวันจันทร์-วันศุกร์  ให้เป็นตามข้อกำหนดของกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

             กิจกรรมการเรียนรู้ สัปดาห์ที่  ๑

                             ต่อไปนี้  เป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ ช่วงทดลอง ในระดับชั้น ม. ๓        หน่วยการเรียนรู้ที่  ๑  เรื่อง  “เรียนที่บ้าน ช่วยต้านโควิด”  (อาจจะใช้ได้หลายกลุ่มสาระการเรียนรู้)

              กิจกรรมที่  ๑  :   ผู้เรียนติดตามข้อมูลข่าวสาร  การแถลงข่าวของ  “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

(ศบค.)  จากสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑  (NBT)  ในช่วงเวลา  ๑๑.๓๐-๑๒.๓๐ น. (บางวันอาจจะเป็นช่วงเวลา ๑๒.๓๐-๑๓.๓๐ น.)  ทั้งภาคภาษาไทย  และภาคภาษาอังกฤษ  ในทุกวัน และทำกิจกรรมต่อไปนี้

                             ๑.๑  ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิด-19   อย่างน้อย  ๑๐  คำถาม  ตัวอย่างเช่น  “ทำไม โควิด-19 จึงแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ? ”

                                 -  คำถามที่มีคำว่า  “ทำไม”   “เพราะอะไร”  หรือ  “อย่างไร”  จะมีค่าน้ำหนักคะแนนมากกว่า

(ผลงานข้อ ๑.๑ เขียนหรือ พิมพ์ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE ภายใน  ๑๖.๐๐ น. ของวันจันทร์)

๑.๒  จากคำถามของผู้เรียนในข้อ  ๑.๑  ให้เลือกมา  ๑  คำถาม ที่คิดว่าสำคัญที่สุด แล้ว

ดำเนินการศึกษาค้นคว้า  หาคำตอบ  และเขียนบรรยาย ในหัวข้อต่อนี้

    -  คำถามที่สำคัญที่สุด คืออะไร  (ระบุคำถาม)

                               -  เพราะอะไรจึงมีความสำคัญ  (บอกเหตุผล)

                               -  จากคำถามนี้ควรมีคำตอบในเรื่องอะไรบ้าง  (อธิบาย)

                               -  จากคำถามและคำตอบ มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับตนเอง  ครอบครัว  หรือชุมชนบ้าง

                               -  ระบุแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า  (ระบุ website  ชื่อเอกสาร หรือบุคคลอ้างอิง)

                              (ผลงานข้อ ๑.๒  เขียน หรือพิมพ์ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE  ภายใน  ๑๖.๐๐ น. ของวันพฤหัสบดี และให้ส่งผลงานนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนคนอื่นๆ ทาง LINE ด้วย จำนวน ๕ คน)

                           ๑.๓  ผู้เรียนบันทึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ได้รับฟังจากการแถลงข่าวของ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19  (ศคบ.)  เป็นรายวันๆ ละ ๕ คำ  พร้อมความหมาย หรือคำแปล  เช่น  social distancing แปลว่า  การเว้นระยะห่างทางสังคม  หรือ  state quarantine  แปลว่า  การกักตัวที่ศูนย์ควบคุมของรัฐ  เป็นต้นกรณีฟังไม่ทันอาจจะค้นคว้าหาคำเหล่านี้ได้จาก  website โดยพิมพ์ข้อความ “ข้อมูลโควิด- 19 เป็นภาษาอังกฤษ” ใน Google

                             (ผลงานข้อ  ๑.๓  เขียนหรือพิมพ์ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE ภายใน ๑๖.๐๐ น. ของทุกวัน)

                             ๑.๔ ผู้เรียนนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่สะสมไว้ในข้อ  ๑.๓  มาแต่งเป็นประโยค  ๕ ประโยค

                             (ผลงานข้อ  ๑.๔  เขียนหรือพิมพ์ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE ภายใน ๑๔.๐๐ น. ของวันศุกร์ และให้ส่งผลงานนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนรู้กับเพื่อนคนอื่นๆ ทาง LINE  ด้วย จำนวน ๕ คน)

              กิจกรรมที่  ๒  :  ผู้เรียนศึกษาตัวอย่าง และรูปแบบผังความคิด  ( Mind Mapping)  จาก website แล้ว จัดทำผังความคิด  (Mind Mapping) ในหัวเรื่อง  “โควิด-19”

                             (ผลงาน  ผังความคิด  (Mind Mapping)  ในกิจรรมที่  ๒   ส่งถึงผู้สอนทาง LINE ภายใน ๑๖.๐๐ น. ของวันศุกร์  และส่งผลงานนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนคนอื่นๆ ทาง LINE ด้วย จำนวน ๕ คน )

              กิจกรรมที่  ๓  :  ผู้เรียนวาดภาพและระบายสี สื่อความหมาย ในหัวข้อ  “เรียนที่บ้าน ช่วยต้านโควิด”

                             (ผลงานภาพเขียนในกิจกรรมที่  ๓  ส่งถึงผู้สอนทาง LINE ภายใน ๑๖.๐๐น. ของวันศุกร์)

                             ผู้สอนประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

                             ๑.  กระบวนการใช้เทคโนโลยีของผู้สอนและผู้เรียนมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร มีอะไรต้องแก้ไขหรือปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                             ๒.  ตรวจและประเมินผลงานของผู้เรียน และรายงานการประเมินผลให้ผู้เรียนและผู้ปกครองรับรู้ให้เร็วที่สุด

              กิจกรรมการเรียนรู้ สัปดาห์ที่ ๒

หน่วยการเรียนรู้ที่  ๒  ชื่อหน่วย  “หนังสือของพ่อช่วยต่อความรู้”  (เรียนรู้ได้โดยไม่ใช้แบบเรียน)

                             ผู้เรียนเข้า  Google ไปที่ website “สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ”  ให้ค้นหาส่วนที่เป็น      E-Book  จะพบรายชื่อสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีทั้งหมด ๔๑ เล่ม แต่ละเล่ม มี  ๘-๑๑  เรื่อง  รวม  ๓๙๑  เรื่อง   และทำกิจกรรมต่อไปนี้

                             ๑.  เปิด  E-Book สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ทีละเล่ม  แล้วพิจารณาหัวเรื่องที่มีอยู่ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ แต่ละเรื่อง  ตัวอย่างเช่น  ใน  E-Book สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ         เล่มที่  ๑  จะมี  ๙  เรื่อง  ได้แก่  ดวงอาทิตย์  อุปราคา  ท้องฟ้ากลางคืน  นก  ปลา  เครื่องจักรกล  พลังงาน    อากาศยาน   และดนตรีไทย   พิจารณาจนครบ  ๔๑  เล่ม  รวม   ๓๙๑  เรื่อง

                             (กิจกรรมที่  ๑ ให้ดำเนินการในวันจันทร์ โดยผู้เรียน และผู้สอนจะส่งข้อความ พูดคุย หรือซักถามแบบเห็นหน้า หรือเห็นการปฏิบัติการ)

                             ๒.  เลือก  E-Book  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทยฯ  เล่มใด เล่มหนึ่ง ให้เลือก  ๑  หัวเรื่องที่สนใจมากที่สุด   แล้วทำกิจกรรมต่อไปนี้

                                     ๒.๑  ระบุเล่ม และเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด

                                     ๒.๒  บอกเหตุผล เพราะอะไรตนเองจึงสนใจเรื่องนี้มากที่สุด

                             (ผลงานข้อ ๒.๑  และ ๒.๒  เขียนหรือพิมพ์ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE  ภายใน ๑๖.๐๐ น.                ของวันอังคาร)

                                     ๒.๓  อ่าน  ศึกษา  พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด

                             (กิจกรรมข้อ  ๒.๓  ให้ดำเนินการในวันพุธ โดยผู้เรียนและผู้สอนจะพูดคุย ซักถาม หรือรายงานความก้าวหน้าแบบเห็นการปฏิบัติการ)

                                     ๒.๔  ระบุประเด็นสำคัญของเรื่อง ที่ตนเองไม่เคยรู้มาก่อน

                                      ๒.๕  ระบุประเด็นสำคัญของเรื่องที่เพื่อนทั้งชั้นควรรู้

                                      ๒.๖  ระบุประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง  ครอบครัว     หรือชุมชน

                             (ผลงาน ข้อ ๒.๔  ข้อ ๒.๕  และ ๒.๖  เขียนหรือพิมพ์ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE ภายใน ๑๖.๐๐น. ของวันพฤหัสบดี)

                             ๓.  ผู้เรียนวาดภาพ   ๑  ภาพ   และเขียนข้อความรณรงค์ หรือเชิญชวน ให้คนไทยใช้หนังสือของพ่อหลวง  (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ)  เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

                             (ผลงานการวาดภาพ ส่งถึงผู้สอนทาง LINE  ภายใน ๑๖.๐๐ น. ของวันศุกร์)

                             (ผลงาน ข้อ ๒.๑   ข้อ ๒.๒  ข้อ ๒.๔  ข้อ ๒.๕  และข้อ  ๒.๖ ให้ส่งถึงเพื่อนทุกคน ทาง LINE เพื่อแลกเปลียนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ภายใน ๑๖.๐๐ น. ของวันศุกร์)

หมายเหตุ  :  ตรวจสอบ ทบทวนและประเมินความพร้อมการเรียนการสอนออนไลน์ อีกครั้ง  ก่อนดำเนิน     การเรียนการสอนจริง ต่อไป

                             ๖.  ดำเนินการจัดการเรียน การสอนออนไลน์

                             จากตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ในข้อ  ๕  (ทดลองจัดการเรียนการสอนออนไลน์)  จะเป็นแนวทางให้ผู้สอนสามารถวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ได้ต่อไป          (แบบไม่รู้จบ)

น้อมนำเป็นวิถีใหม่

                             ในช่วงวิกฤตโควิด-19  สังคมไทยได้รับรู้และเรียนรู้คำใหม่หลายคำ  คำๆ หนึ่งที่น่าจะอยู่ในกระแสและดำรงอยู่ต่อไป คือ คำว่า  “ชีวิตวิถีใหม่”  (new normal)  ซึ่งจะเป็นชุดพฤติกรรมใหม่ของคนไทย     นับจากนี้เป็นต้นไป  นอกจากจะเป็นพฤติกรรมด้านสาธารณสุขแล้ว  ยังมีพฤติกรรมใหม่ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม  การทำธุรกิจ  หรือการให้บริการต่างๆ จะมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีออนไลน์โดยสิ้นเชิง เพราะความเป็นออนไลน์  นอกจากจะมีความสะดวก  เกิดความรวดเร็ว   และมีประสิทธิภาพมากกว่าแล้ว   ยังเข้ากับกระแส  “การเว้นระยะห่างทางสังคม”  (social distancing) ด้วย

                             ในวงการศึกษาไทย  จะมี  “ชีวิตวิถีใหม่”  หรือ  new normal  เป็นของเราเองบ้างหรือไม่ อย่างไร  อย่างน้อยกระแสการเรียนการสอนออนไลน์  ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาต่อไปนี้   เพราะมีปรากฏการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง  บวกกับความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้สอน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยุค      Gen Y  และผู้เรียน  ที่เป็นคนในยุค  Gen Z  และ  Gen Millennial  เขาทั้งหมดเกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมและบรรยากาศทางเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น  พัฒนาขึ้น  ใช้สะดวก  มีความรวดเร็ว ทันใจ  และราคาถูกลงเป็นลำดับ  เขาเหล่านี้มีทั้งเครื่องมือ  มีทั้งทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นตัวช่วยให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ  ดังนั้น  กระทรวงศึกษาธิการจึงควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส   เริ่มต้นออกตัว     การเรียนการสอนออนไลน์  รูปแบบที่ระเบิดจากข้างใน  กระจายอำนาจให้โรงเรียน  ให้ครูแต่ละคนได้เริ่มต้นคิดเอง  พัฒนาเอง  แก้ปัญหาเอง  มีหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง  โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบสำเร็จรูปจากส่วนกลาง  ให้ยึดหลักการท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง  ที่ว่า  “จะเป็นแมวขาว หรือแมวดำไม่สำคัญ  ขอให้จับหนูได้เป็นพอ”

                             การเรียนการสอนออนไลน์  จึงไม่ควรเป็นกิจกรรมเฉพาะกิจของกระทรวงศึกษาธิการที่เกิดขึ้นมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว  ไม่มีความยั่งยืน  กิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ควรเป็นกิจกรรมที่พัฒนาต่อเนื่องให้เป็นไปตามกระแสโลก  เช่นเดียวกับ  “ทำงานจากบ้าน”  (work from home)  ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย      ลงมือทำวันนี้  จะมีความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า  ได้ยินพระรูปหนึ่งให้ข้อคิดทางโทรทัศน์  ความว่า  “มีวิกฤติ    ลงมือทำเป็นโอกาส   มีวิกฤติไม่ลงมือทำเป็นอากาศ”   และขอจบด้วยภาษิตที่ว่า  “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”  (Rome wasn’t built in a day.) ฉันใด  การพัฒนาการเรียน การสอนออนไลน์ ในสังคมไทยก็จะเป็นไปฉันนั้น

                             การเรียนการสอนออนไลน์ ที่คิดและฝันมาทั้งหมด  ล้วนเป็นความปรารถนาของผู้เขียนให้ฝันเหล่านั้นเป็นจริงได้ในสังคมไทย   และไม่อยากเห็นเป็นภาพฝันร้ายของทุกคน  เพราะเพียงเขา  (ผู้สอน ผู้เรียนและผู้ปกครอง) ไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

................................................................

จากอดีตครู  :  ชาติ แจ่มนุช   (๓๐  เมษายน  ๒๕๖๓)

    

      

                                                            

หมายเลขบันทึก: 677320เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2020 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2020 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท