กันล้มด้วยการพัฒนาการรับรู้


อายุร่างกายอาจแก่กว่าอายุจริงได้หลายปีเพราะโรคขยับตัวน้อย (Hypokinesis)

อยากเล่าเรื่องของอายุ ว่าไม่ได้มีเฉพาะอายุที่เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่มีเครื่องวัดอยู่ 4 ด้านและแต่ละด้านเป็นเครื่องวัด "ความแก่" ของเราๆอีกทีหนึ่ง

-Chronological Age

อายุของการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ คืออายุจริงนับจากวันที่เกิดถึงเลขปฏิทินปัจจุบัน

ความแก่ตามอายุนี้มักถูกกำหนดโดยตัวเลข เช่นในแง่สังคมก็มักเรียกคนที่อายุเกิน 60 ให้เพราะขึ้นว่าเป็นผู้สูงวัย แต่ในทางแง่ฟิตเนส อายุเกิน 55 ก็จัดเป็นผู้สูงวัยแล้ว

-Biological Age อายุของร่างกายในปัจจุบัน หรืออายุฟิต เมื่ออายุร่างกายของเราที่เทียบกับสภาพร่างกายของคนปกติในระดับอายุต่างๆ

อายุนี้อาจไม่เท่ากับอายุจริง คนที่ดูแลร่างกายดี อายุร่างกายสามารถน้อยกว่าอายุจริงได้สูงสุดถึง 25 ปี

คนที่อายุร่างกายน้อยกว่าอายุจริงมากๆ มักไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ เพราะมักทำอะไรได้ดีกว่าคนที่อายุปฏิทินเท่ากันแต่อายุร่างกายเท่าหรือมากกว่าอายุปฏิทิน

-Psychological Age อายุระดับความคิด ความตระหนัก ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกการใช้การคิดตามกระบวนการต่างๆ เช่น คิดเชิงวิเคราะห์ คิดเชิงบูรณาการ คิดแบบโยนิโสมนสิการ ฯลฯ

ความแก่ในแง่นี้น่าจะเป็นความแก่ที่เราๆเราๆมักอยากได้นะคะ

-Social Age อายุระดับพฤติกรรมและวิถีชีวิต ซึ่งอิงพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่รับรู้หรือยอมรับ เคยได้ยินไหมคะ ที่บางทีเรานึกสนุกอยากเล่น แต่มีคนบอกว่าเล่นอะไรเป็นเด็กๆ อย่างนี้เป็นต้น

สว.บางท่านใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่น เดินทางคนเดียว สะพายเป้ ขึ้นรถไฟฟ้าคนเดียว เดินอย่างกระฉับกระเฉง ดูแล้วไม่เหมือน สว.ที่มักเคลื่อนไหวเชื่องช้า มีคนคอยประกบ มีคนคอยระวังไม่ให้ล้ม

ที่เล่าทั้งหมดมาก็มาสู่ประโยคสุดท้ายของย่อหน้าที่ผ่านมานี่แหละค่ะ คือถ้าเราดูแลร่างกายดี หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายหมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนไหว เราก็จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ไม่ต้องพึ่งพิงใครหรืออะไร

ถ้าวันนี้เราไม่ใคร่ขยับตัวจนเกิดโรคขยับตัวน้อยขึ้น ก็จะเกิดการขาดสมดุลของกล้ามเนื้อ ข้อต่อติดขัด การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ส่งผลให้เกิดการปวด ชา ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เคลื่อนไหวไม่สะดวก ขาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก ฯลฯ

และโรคกลุ่ม NCDs อันประกอบด้วยโรคความดันโลหิตสูง,โรคถุงลมโป่งพอง,โรคหัวใจหลอดเลือดและสมอง,โรคเบาหวาน,โรคอ้วนลงพุง และโรคมะเร็ง ก็กวักมือเรียกเราเข้าไปหา

ถ้าเราไม่มีเวลาออกกำลังกายเลยนะคะ อย่างน้อยเมื่อนั่งทำงานสักชั่วโมงก็ควรลุกเดินสัก 5 นาที และควรมีการยืดเหยียดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 15 - 60 นาที

ทำเป็นอย่างน้อย ยังดีกว่าไม่ทำเลยค่ะ แถมยังดีสำหรับ สว.ในแง่เป็นการกันล้มด้วย แต่ก็ต้องเลือกการฝึกที่เหมาะสมด้วยนะคะ

เริ่มฝึกใหม่ๆ ควรฝึกความมั่นคงที่แกนกลางลำตัวก่อน อาจจะประกอบกับการฝึกพัฒนาการรับรู้ที่มือและเท้าร่วมด้วยก็ได้ค่ะ ท่าคลานดูจะเหมาะมาก เพราะจุดศูนย์ถ่วงต่ำ โอกาสล้มจึงยาก

ที่ว่าควรฝึกในท่าคลาน เพราะมือและเท้าเรามีตัวรับการรับรู้การเคลื่อนไหว การรับรู้ตำแหน่งข้อต่อที่อยู่ในอากาศ เป็นจำนวนมาก อันช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ไม่ล้มง่าย ทรงตัวได้ดี ซึ่งตัวรับและประสิทธิภาพในการรับรู้เหล่านี้จะลดน้อยลงเพราะอายุที่มากขึ้นและเพราะการขาดฝึกฝนหรือการที่เท้าไม่ใคร่ได้สัมผัสหลายพื้นผิว (เพราะส่วนใหญ่เรามักใส่รองเท้ากัน)

จะชวนคลานหนอนค่ะ Inchwarm เป็นอีกการฝึกที่ดีเพราะสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายส่วนหน้าทั้งหมด สร้างความยืดหยุ่นและแข็งแรงให้ร่างกายส่วนหลัง และได้แกนกลางลำตัวที่แข็งแรงขึ้น

วิธีฝึกคือยืนตรงแล้วม้วนกระดูกหางเข้า ขมิบทวาร แขม่วท้องก่อน แล้วพับตัวที่ข้อสะโพก (ย่อเข่าได้) เอามือวางกับพื้น ไต่มือไปตามพื้นจนอยู่ในท่า High Plank วิดพื้นตามความเหมาะสมของร่างกาย แล้วไต่เท้ามาหามือ

อ้อ ก่อนฝึก ควรเดินด้วยความเร็วปานกลางสัก 10-15 นาทีก่อนนะคะ ให้ตัวอุ่นๆก่อน จะได้ลดโอกาสบาดเจ็บ และหลังฝึกก็ควรเดินช้าๆเป็นการ Cool Down ด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 677257เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2020 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2020 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท