บ้านวังสุวรรณ ปลูกสมุนไพรกู้ชุมชน


             บ้านวังสุวรรณ ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ ๆ กับอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง มีความเป็นธรรมชาติของสายน้ำ และ ต้นไม้ให้พอได้ชื่นชม คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีสวนลำไย เก็บผลผลิตขาย มีรายได้งาม แต่สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชน เสี่ยงต่อการเป็น 5 โรค โดยเฉพะโรคเบาหวาน และ ความดัน เป็นกันจำนวนมาก

             นอกจากนั้น ทุกครั้งที่มีการตรวจสุขภาพยังตรวจพบสารเคมีตกค้างในเลือด ซึ่งเป็นผลจากการใช้สารเคมีทำสวนลำไย ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน และคนรุ่นเก่าที่เข้าใจชีวิต เริ่มรวมตัวกันเพื่อหาทางออกให้กับกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพในหมู่บ้านที่นับวันยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นทุก จึงได้เกิด“โครงการสวนสมุนไพรบ้านวังสุวรรณ” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยการจัดการในพื้นที่สระแก้ว สำนัก 6 จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

             การขับเคลื่อนโครงการฯดังกล่าว จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาเก็บข้อมูลการตรวจสุขภาพรายเดือน จัดเก็บข้อมูลเข้ากูเกิ้ล ฟอร์ม มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดเพื่อให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ  ลดปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชนด้วยการทานสมุนไพร และ ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกสมุนไพรทุกครัวเรือน 

              โดยเริ่มจากการปลูกในบ้านตัวเองเพื่อใช้สมุนไพรรักษาโรค ลดการเดินทางไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็พยายามมส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ คือ ปลูกเพื่อส่งขายภายในอกหมู่บ้าน หรือ ส่งให้กับ รพ.อภัยภูเบศร เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เพิ่มช่องทางการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนมีรายได้นอกเหนือจากการทำสวนลำใยที่ทำให้ร่างกายได้รับแต่สารเคมีจนนำไปสู่การเป็นโรคต่าง ๆ

              สำหรับการส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรนั้น ทางโครงการฯได้ให้ความรู้ แนะนำให้รู้จักสมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันมีปลูกแล้วกว่า 20 ชนิด โดยให้แจกต้นสมุนไพรและล้อยางรถที่เอาไปปลูกให้แก่ชาวบ้าน เช่น ใครเป็นโรคไหนต้องรักษาด้วยสมุนไพรอะไรช่วยได้ ก็ให้นำสมุนไพรชนิดนั้นไปปลูกเพื่อทาน หลังจากนั้นทุกเดือนเมื่อตรวจสุขภาพก็ให้ทีมงานเก็บผลที่ได้ว่า โรคที่เป็นนั้นดีขึ้นไหมหลังจากที่ทานสมุนไพรไปแล้ว ซึ่งการเก็บข้อมูลเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นความแตกต่างและเกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่น ปลูกสมุนไพรไว้ทานเองที่บ้านเพิ่มมากขึ้น และ เริ่มอยากมีส่วนร่วมในปลูกสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจด้วย

             โดยทางกำนันตำบลวังทองได้จัดพื้นที่ 3 ไร่ ให้ปลูกสมุนไพรของชุมชน โดยมีคนรุ่นใหม่มาช่วยลงแรง รดน้ำ ดูแล ขณะที่คนรุ่นเก่ามาให้คำแนะนำถึงประโยชน์ สรรพคุณต่าง ๆ จึงเกิดการทำงานระหว่างคนสองรุ่นที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนโดยมีสมุนไพรเป็นตัวเชื่อม แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ลดปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชน และใช้สมุนไพรเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 676880เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท