๑,๑๒๘ ฮาวทู..ใบมะขามเทศ


"กิจกรรมที่ทำเมื่ออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ อาจนำไปสู่ความพอเพียง..ที่มีเหลือพอแบ่งปัน เพื่อช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่าย เลิกใช้สารเคมี ดูแลวิถีแห่งการดำรงตนแนวใหม่..สร้างเครือข่ายในแหล่งเรียนรู้..ดูแลและบำรุงรักษาดินและน้ำ..ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่..ให้สดใสกว่าเดิม"

         ผมเริ่มจะคุ้นชินกับกระบวนการทำปุ๋ยหมักใบไม้จากใบ “ลำไย”ซึ่งร่วงหล่นอยู่มากมายในสวนหลังบ้าน มันแห้งกรอบเก็บกวาดเอามากองรวมกันได้อย่างง่ายดาย

    วันนี้..เพิ่มเติมด้วยการคลุมผ้าให้เกิดความร้อนชื้น..เพื่อให้ใบไม้ทำปฏิกิริยากับสารที่เป็นส่วนผสม เกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น..

    เสร็จแล้ว..ผมก็นึกขึ้นได้เมื่อเหลือบไปเห็นต้นมะขามหวานกับมะขามเทศ ที่ไม่ค่อยจะมีใบมากนัก เพราะหน้าแล้งใบจึงร่วงเกือบหมดแล้ว

        รอบๆโคนต้นมะขาม..ใบเล็กๆของมะขามทับถมกันจนหนา คลุมเต็มหน้าดินจนมองไม่เห็นผิวดิน..ผมยืนมองใบมะขามแล้วก็นึกถึงเพื่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร

        เพื่อนเคยบอกผมว่า..ใบมะขามเทศ..ทำปุ๋ยหมักได้ ให้ประโยชน์ใกล้เคียงกับใบก้ามปูหรือจามจุรี..และปุ๋ยหมักใบมะขามเทศใช้ได้ดีกับพืชทุกชนิด

        ผมรีบไปเปิดหาในอินเตอร์เน็ต เพื่อศึกษาเพิ่มเติม ก็พบวิธีการนำใบมะขามเทศมาใช้ทำปุ๋ยหมัก ขั้นตอนและกระบวนวิธีการทำไม่ได้ยากอะไรเลย

        ที่สำคัญอย่างยิ่ง..ที่ช่วยเร่งเร้าให้ผมอยากทำปุ๋ยหมักก็คือ ใบมะขามเทศเป็นพืชตระกูลถั่ว ย่อมจะให้ธาตุอาหารไนโตรเจนที่พืชส่วนใหญ่ต้องการเพื่อเร่งการเจริญเติบโต

        ผมมีความจำเป็นต้องละทิ้งใบมะขามหวานไปก่อน ยังต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปว่าเป็น “กรด”หรือไม่..เหมาะสมกับการทำปุ๋ยหมักมากน้อยแค่ไหน..?

        ผมทำแปลงขนาดย่อมๆ ที่โคนต้นมะขามเทศ คลุกเคล้าดินให้เข้ากัน..จากนั้นก็นำใบมะขามเทศโรยหน้าบางๆ แล้วหว่านมูลวัวลงไป จากนั้นก็ราดรดด้วยน้ำหมักชีวภาพ

        ผมไม่ได้ใช้ใบมะขามเทศล้วนๆ เพราะมันจะสิ้นเปลืองเกินไปและอาจย่อยสลายได้ยาก เมื่อผสมลงไปในแปลงดินแบบนี้..จะช่วยคลุกเคล้ากับดินและน้ำซึมผ่านได้ง่ายกว่า

        วันนี้ผมทำ ๒ ชั้น ด้วยวิธีการและส่วนผสมอย่างเดียวกัน เสร็จแล้วก็นำผ้าคลุม ตั้งใจไว้ว่าอีก ๓ วัน จะพลิกกลับกองและรดน้ำหมักชีวภาพลงไปอีก แล้วจึงค่อยเริ่มทำกองใหม่เพิ่มเติมต่อไป..

        ช่วงนี้..เป็นช่วงลี้ภัยโควิด ๑๙ โรงเรียนก็ยังปิดอยู่ แต่ในสวนหลังบ้านยังเปิดกว้าง เพื่อใช้โอกาสผลิตปุ๋ยอินทรีย์..ตามประสบการณ์ ความรู้ความสามารถที่พอจะมีอยู่บ้าง

        เชื่อว่า..เมื่อโควิดสร่างซาไป กิจกรรมการปลูกผักในครัวเรือนและสถานศึกษาต่างๆ ก็คงต้องเร่งดำเนินการเพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัย ต้องใช้ทั้งปุ๋ยและดินที่มีประสิทธิภาพ

        ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติที่ไม่ต้องหาซื้อ ด้วยสองมือของครูและนักเรียน..จะมีโอกาสมากมายได้ผลิตผักปลอดสารพิษ เพื่อดูแลชีวิตให้ยืนยาว..

        กิจกรรมที่ทำเมื่ออยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ อาจนำไปสู่ความพอเพียง..ที่มีเหลือพอแบ่งปัน เพื่อช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่าย เลิกใช้สารเคมี ดูแลวิถีแห่งการดำรงตนแนวใหม่..สร้างเครือข่ายในแหล่งเรียนรู้..ดูแลและบำรุงรักษาดินและน้ำ..ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่..ให้สดใสกว่าเดิม

        เมื่อถึงวันนั้น..อย่าลืม..ฉลองวันแห่งชัยชนะ..ที่ผ่านโควิด ๑๙..มาได้อย่างสวยงาม

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๑  เมษายน ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 676879เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2020 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2020 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท