ประวัติการศึกษาไทย : ศิลาจารึกวัดพระเชตุพน(5)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
    --------------------------------
     รัชกาลที่ 3 ได้ทรงกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาที่นับว่าสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในสมัยนั้น  คือโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนขึ้น ทรงพระดำริว่า  การศึกษาวิชาหนังสือนั้นราษฎรทั่วไปก็ได้อาศัยวัดเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่แล้ว  แต่ส่วนวิชาชีพอื่น ๆ  ยังไม่มีที่จะศึกษาเล่าเรียนกันได้ ส่วนใหญ่สอนกันภายในครอบครัวและวงศ์สกุล  ไม่เป็นที่แพร่หลาย  และคนไทยมีนิสัยหวงวิชาความรู้ที่ตัวมีอยู่  ไม่ใคร่จะถ่ายทอดให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น  บางทีปล่อยให้วิชาความรู้สูญหายไปพร้อมกับชีวิตของตัวเอง  เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง  จึงโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต  ผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงต่าง ๆ  ขอให้ร่วมแรงร่วมใจกันกระทำวิทยาทาน โดยจารึกวิทยาการต่าง ๆ  ลงในแผ่นศิลา  ก่อนที่จะดำเนินการก็ให้ผู้ให้วิชาสาบานตนเสียก่อน   ว่าจะไม่ปกปิดหรือบิดเบือนวิชาความรู้ให้วิปลาสไป
    วิชาที่นำมาจารึกไว้ส่วนใหญ่เป็นวิชาชีพขั้นสูงซึ่งเป็นที่หวงแหนกันทั่วไป  บางทีก็มีรูปเขียนรูปปั้นประกอบคำอธิบายไว้ด้วย  ทำให้ผู้อ่านเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น  นอกจากนั้นยังเขียนภาพฝาผนังบรรยายวิชาการต่าง ๆ  มีวิชาดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์  คชศาสตร์  อัศวศาสตร์  เครื่องประกอบการราชพิธีต่าง ๆ  ขบวนพยุหยาตรา  ขนบประเพณี  แบบแผน  ตำแหน่งทำเนียบทางราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ  เรื่องราวอันเกี่ยวกับพุทธศาสนา  และทำเนียบสมณศักดิ์  เป็นต้น  บรรดาวิชาการที่จารึกลงในแผ่นศิลาและติดไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนเมื่อพ.ศ. 2379  นั้น  พอจะแบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ  ได้ดังนี้
1.หมวดอักษรศาสตร์  อธิบายถึงการแต่งบทร้อยกรองต่าง ๆ  เช่นโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน กลบทต่าง ๆ  พร้อมทั้งตัวอย่างที่ยึดถือเป็นแบบฉบับได้
2.หมวดแพทยศาสตร์  มีทั้งตำรายารักษาโรค  เครื่องสมุนไพรต่าง ๆ  มีต้นสมุนไพรปลูกไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย  ตำราหมอนวด  การจับเส้นต่าง ๆ  พร้อมทั้งรูปเขียนรูปปั้นประกอบ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
3. หมวดวิชาช่างฝีมือ  มีวิชา  ช่างเขียน  ช่างแกะสลัก  กลึง  ปั้น  ช่างประดับต่าง ๆ  อันเป็นแบบอย่างฝีมือที่หาได้ยากยิ่ง
     ฉะนั้นจึงถือว่าวัดพระเชตุพนเป็นตลาดวิชาที่สำคัญมากเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้  มีทั้งคณะอักษรศาสตร์  แพทยศาสตร์และศิลปศาสตร์  บรรดา
กวีคนสำคัญ ๆ  ต่างก็ได้มีโอกาสแสดงฝีปากติดไว้เป็นอันมาก
      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  ทรงเป็นกวีที่สำคัญพระองค์หนึ่ง  เคยดำรงตำแหน่งกวีที่ปรึกษาของสมเด็จพระราชบิดาเช่นเดียวกับสุนทรภู่  ในรัชสมัยของพระองค์มีกวีที่สำคัญหลายท่านด้วยกัน  เช่น  สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร เจ้าแห่งโคลงสุภาษิตโลกนิติ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  คุณพุ่ม  กวีสาวสวยผู้มีสมญาว่าบุษบาท่าเรือจ้างเพราะอยู่แพริมแม่น้ำ  เป็นท่าเรือจ้างข้ามฟาก  พระมหามนตรี (ทรัพย์)  เจ้าของระเด่นลันใด  และคุณสุวรรณ เจ้าของพระมะเหลเถไถ เป็นต้น   
       การแต่งกลอน สักวาิและเพลงยาวเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนี้ คล้ายกับความนิยมแต่งโคลงในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  พระราชนิพนธ์เสภาขุนช้างขุนแผนบางตอน เพลงยาวและบทละครเรื่องสังข์ศิลปชัย  เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 676801เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2020 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2020 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดตามต่อไปทุกวัน ทุกตอนนะครับ ถ้ายังไม่มีเวลาอ่านตอนนี้ก็ save เอาไว้ ว่างเมื่อไรก็ค่อยอ่าน หนังสือเล่มนี้เก่ามากคงหาอ่านได้ยาก อดีตผู้ใหญ่ในกระทรวงท่านหนึ่ง(อายุ 90 กว่าปีแล้ว)ท่านให้ผมมา ท่านหวังให้ผมเผยแพร่ต่อ กลัวจะสูญหายไป ผมอ่านแล้วก็เลยอยากแบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท