ประวัติการศึกษาไทย : การศึกษาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์(1)


   “หยุดเก็บกักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม

“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์ ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512 ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยขอเริ่มนำเสนอตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯเป็นต้นมา และเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ โดยแบ่ง เป็นตอนๆไปครับ”

                 -------------------------

     ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกอบกู้เอกราชขึ้นแล้ว กรุงศรีอยุธยาได้เจริญรุ่งโรจน์ขึ้นอีก ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งเป็นสมัยที่ไทยมีสัมพันธไมตรีอย่างใกล้ชิดกับฝรั่งเศส และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับฝรั่งชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงทราบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่กีดกันศาสนาอื่น และนอกจากจะไม่กีดกันแล้ว กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายังอุปถัมภ์ค้ำชูพวกสอนศาสนาต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์ จัดที่ให้ชาวต่างประเทศได้อยู่อาศัยทำมาหากินและประกอบศาสนกิจตามลัทธิของตนได้อย่างสะดวกสบายทุกประการ พระองค์จึงส่งคณะสอนศาสนานำพระราชสาส์นมาเจริญทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์ทูลขอฝากคนฝรั่งเศสให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในตอนนั้น นอกจากจะเป็นพวกสอนศาสนาแล้วยังมีพวกช่าง พวกสถาปนิกและพวกพ่อค้าอีกด้วย เพราะฝรั่งเศสเหล่านี้ทราบดีว่าในขณะนั้น ฮอลันดากำลังเป็นศัตรูของไทย เป็นโอกาสอันดีที่จะทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ไทยได้จึงเสนอตัวเข้าช่วยเหลือไทยด้วยประการต่าง ๆ เช่น ช่วยสร้างป้อมปราการที่ทันสมัยให้ตามจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่นที่ธนบุรี นนทบุรี นครศรีธรรมราชนครราชสีมา และที่เพชรบุรี เป็นต้น ช่วยวางผังเมืองลพบุรีที่สร้างขึ้นใหม่ ช่วยทำน้ำประปาขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาและที่ลพบุรีแล้วต่อท่อเข้าสู่พระราชวัง ช่วยสร้างหอดูดาวขึ้นในพระราชวังจันทร์เกษม สำหรับเป็นที่ศึกษาดาราศาสตร์และตรวจดูภูมิประเทศไปในตัว

     แต่เดิมมาสถานศึกษาของไทยได้แก่ราชสำนัก สำนักปราชญ์ราชบัณฑิต วัด และบ้าน พอมาถึงสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาติดต่ออย่างใกล้ชิด ฝรั่งเศสได้ตั้งสำนักสอนศาสนาขึ้นอีกสถาบันหนึ่ง รับสอนเด็กไทยเพื่ออบรมเป็นสามเณรในคริสต์ศาสนาในขณะเดียวกันก็มีสอนวิชาการอื่น ๆ นอกจากเรื่องศาสนา ด้วยเป็นวิชาการแบบยุโรป เช่น ดาราศาสตร์ ภาษาฝรั่งเศส การต่อเรือ การก่อสร้าง สำนักสอนศาสนานี้บางทีก็เรียกกันว่าโรงเรียนสามเณร ถ้าจะเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็เท่ากับโรงเรียนมิชชันนารีนั่นเอง โรงเรียนสามเณรนี้มีผู้นิยมเข้าศึกษาเล่าเรียนกันมาก แม้แต่สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงส่งมหาดเล็กของพระองค์ให้มาเข้าเรียนศึกษาเล่าเรียนวิชาการใหม่ ๆ นอกจากนั้นพวกลูกขุนนางและสามัญชนก็พลอยมาเข้าศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 676653เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2020 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2020 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท