คนเราเกิดมาทำไม ?


ลูกสาวเพื่อนผมถามพ่อเธอว่า "คนเราเกิดมาทำไม ?" เพื่อนผม เมื่อตอบลูกสาวไม่ได้ จึงถามผมมาทางไลน์ คงเพราะเขาเห็นว่า แม้ผมเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ (Molecular Biologist & Bioinformatician) แต่ผมก็เป็นนักปฏิบัติธรรม และเรียนปริยัติมาพอสมควร. ผมก็เลยตอบเพื่อนไปทางไลน์. ข้างล่างนี้เป็นคำตอบของผม ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นอยู่บ้าง ก็เลยมาแปะไว้ในบันทึกออนไลน์นี้. คำตอบของผมไม่ได้ลอกมาจากหนังสือเล่มไหน แต่เป็นการสังเคราะห์ของผมเอง มาจากความเข้าใจทั้ง สุตตัมยปัญญา การฟังธรรมมามาก(ฟังเทศน์มาหลายพันตอน จากครูบาอาจารย์พระสุปฏิปันโนนับสิบๆ รูป) การอ่านมามาก (น่าจะเป็นร้อยเล่ม) เรียนมามาก (เรียน อภิธรรม ๕ ปี) และความเข้าใจจากการปฏิบัติธรรมอีกหลายสิบปี จึงเชื่อว่าความเห็นผมไม่ได้ต่างไปจากแนวคำตอบของครูบาอาจารย์หลายที่ท่านสอนกันอยู่. 

(คิดว่าในอนาคต ผมคงจะเอาคำตอบนี้ไปไว้ในหนังสือ(งาน)ของผมด้วย.)

(ผู้อ่านคนใดที่มีอะไรจะเสริม ก็ให้ความเห็นไว้ได้ครับ)

คำตอบของผม :

คนเรา ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ กาย (physical body) และ จิต หรือ ใจ (mind)

ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ ก็มี ส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ ซึ่งอันนี้รวม เดต้า ด้วย

เครื่องคอมพิวเตอร์ เราอัพเดทซอฟต์แวร์ได้เรื่อยๆ หาเดต้ามาใส่ไปได้เรื่อยๆ จนวันไหนเครื่องมันล้าสมัย อัพเดทต่อไม่ได้ หรือเสื่อมสภาพ พัง ก็ต้องเปลี่ยนเครื่องเพื่ออัพเดทซอฟต์แวร์ต่อ และ ย้ายเดต้าไปเครื่องใหม่

ก็จะย้อนถามว่า แล้วทำไมเราต้องทำอย่างนั้นกับคอมพิวเตอร์ด้วย คือ เปลี่ยนคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก (ในรอบ ๓๐ ปีผมน่าจะเปลี่ยนเครื่องมา ไม่ต่ำกว่า ๗ เครื่องแล้ว)

ที่ต้องเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ ต้องย้ายเดต้า เพราะ เรายังต้องการใช้งานมันอยู่

ความต้องการ นั้นคือ ตัณหา หรือ โลภะ หรือ ราคะ แล้วแต่จะเรียกชื่อไหน 

ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า เราไม่ต้องการเดต้า ไม่ต้องการใช้เครื่องอีก ก็โยนคอมพิวเตอร์ทิ้งไป และเมื่อไม่สนใจเดต้าใหม่ๆ ก็ไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ ไม่ต้องอัพเดทซอฟต์แวร์

ร่างกายเราก็คล้ายกัน ตราบที่”เรา”ยังต้องการใช้มันอยู่ ก็ต้องอัพเดทปรับปรุงซอฟต์แวร์ ซึ่งก็คือระดับคุณธรรมของจิตให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ใช้งานจิต และร่างกาย ต่อไป แต่วันใดในอนาคตเกิดเบื่อ (เกิด นิพพิทาญาณ) ต้องการจะเลิกใช้งานจิตและกาย เพราะเห็นว่าเป็นภาระ วางเสีย เลิกมีตัณหา ราคะ โลภะ ไม่อยากเกิดอีกอย่างแท้จริง ก็จะไม่เกิดอีก

เมื่อตัณหาอันเป็นต้นเหตุดับลง นั่นก็คือนิโรธ คือ ความดับทุกข์ เมื่อกายนี้ตายลง จิตจะเปลี่ยนสภาพ แล้วออกไปจากสังสารวัฏฎ์ ไม่เวียนมาเกิดอีก

หมายเลขบันทึก: 676572เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2020 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2020 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท