"หัวใจสี่ห้อง"ของการการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนพิการแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน : บทเรียนจากแม่ฮ่องสอน


หัวใจสี่ห้อง ของการการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนพิการแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน : บทเรียนจากแม่ฮ่องสอน

4 Rooms in the Heart of Community Based Rehabilitation (CBR) in Maehongson

การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนพิการแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน ซึ่งครอบคลุมหกมิติ (สาธารณสุข , การเลี้ยงชีพ , การศึกษา , สังคมวัฒนธรรม , การพัฒนาศักยภาพหรือเสริมพลัง) เป็นอีกการเรียนรู้ใหม่ที่ผมได้สัมผัสมาตลอดในช่วง 6 ปีมานี้


สำหรับงาน CBR คนพิการนี่ คำว่า “การมีส่วนร่วมโดยชุมชน” อาจจะต่างไปจากที่งานวิจัยและพัฒนาทั่วไปให้ภาพ เพราะ การมีส่วนร่วมโดยชุมชน ในกระแสหลักจะมอง UNIT ชุมชน ที่มี Key Persons คือผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ผู้นำตามจารีตประเพณี แต่สำหรับงาน CBR คนพิการแล้ว Key Persons ที่สำคัญสุด คือ ตัวคนพิการ และผู้ดูแล หรือบุคคลที่เป็นญาติพี่น้อง เราจะให้น้ำหนักตรงนี้มากที่สุด โดยมุ่งค้นหาความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆเข่าด้วยกันให้ครบองค์ประกอบทั้งหกด้าน หรือที่เราเรียกว่า CBR Matrix ดังกล่าว

หัวใจสำคัญห้องแรกคือ เราต้องมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อน ไม่ใช่ข้อมูลหยาบๆว่าใครพิการยังไง ต้องการสิ่งช่วยเหลืออะไร เพราะนั่นก็ไม่ต่างจากการพัฒนาแบบสงเคราะห์ที่ทำไปๆ ยังไงก็ไม่ยั่งยืน งาน CBR เรามุ่งเอาศักยภาพของคนพิการขึ้นมาวิเคราะห์มากกว่า หรืออย่างน้อยก็ทัดเทียมกับการวิเคราะห์ปัญหา

นี่เป็นงานงานทวนกระแส ซึ่งไม่ใช่ร่ายมนต์ ออกคำสั่งเอางบโยนลงไปแล้วจู่ๆจะทำได้

ความยากและท้าทายของงานนี้ สำหรับผมแล้ว คือการต้องผ่าด่านแรกให้ได้ นั่นคือ การเข้าถึงและเข้าใจคนพิการ ซึ่งไม่ใช่ด้วยการเอาข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆมาวางดูแล้วนั่งวิเคราะห์อย่างเดียว แต่ต้องเป็นการลงพื้นที่ไปรับฟังอย่างลึกซึ้ง ไปผูกจิตผูกใจ เป็นเพื่อนกับคนพิการและผู้ดูแล เราจึงจะเห็นความจริงที่ช่วยให้เราตีความข้อมูลได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งหมดนี้ หากไม่มีทีมงานที่มีทีมเวิร์คหนุนหลัง อย่างหมออ้อม จาก ม.สารคาม หมอติ๋ว พ่อหลวงอนันต์ จากเชียงใหม่ พยอม จากเชียงราย ก็ใช่ว่าจะเข้าใจและเห็นภาพกระบวนการทั้งหมด และขับเคลื่อนต่อไปได้ คนเหล่านี้คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงและนำเอา CBR ไปใช้จริงในหลากหลายพื้นที่ นี่คือหัวใจห้องที่สอง คือ มีคณะทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเฉพาะหน้างาน แต่เป็นคณะทำงานที่มีมิติด้านอื่นๆในชีวิตสัมพันธ์กัน เป็นกัลยาณมิตรที่ดูแลสุขทุกข์ ร้อนหนาว ถึงไหนถึงกัน

เท่านั้นไม่พอ สิ่งสำคัญมากของการทำงานทวนกระแสเช่นนี้ นั่นคือ การลงมือปฏิบัติ โดยไม่ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อม
เพราะความพร้อม หรือความสมบูรณ์แบบจริงๆไม่เคยมี แต่แน่นอนเราพิจารณาถี่ถ้วนแล้วจึงทำ

งาน CBR จึงเป็นงานที่ ถึงแม้เราจะให้ความสำคัญกับข้อมูลก็จริง ข้อมูลนี่เป็นปัญญาฐานหัว แต่ในทางปฏิบัติ เราก็ Balance กับปัญญาฐานอื่นๆอีกสองฐาน นั่นคือการใช้ปัญญาฐานใจ (ความรู้สึก สัญชาติญาณ ความเชื่อความศรัทธา) และปัญญาฐานกาย (การลงมือทำ) ไปด้วยกัน

นี่คือหัวใจห้องที่สาม นั่นคือ การใช้ปัญญาสามฐานอย่างสมดุลและสอดประสานสัมพันธ์กัน

และหัวใจห้องที่สี่ อันเป็นห้องสุดท้ายที่ผมจะกล่าวถึง ก็คือ ตัวเราเอง ที่ต้องหมั่นตรวจสอบ ประเมิน ตั้งแต่แนวคิด/วิธีคิดที่เราใช้ว่าเราทำบนฐานคิดอะไร Sympathy or Empathy? คือ อยากไปสงเคราะห์เพราะสงสาร หรืออยากไปช่วยเป็นหุ้นส่วนในการช่วยให้เขาพัฒนาตัวเองขึ้น สองวิธีคิดนี้ต่างกัน วิธีคิดต่าง ย่อมนำมาซึ้งการทำงานและผลที่แตกต่าง ใน CBR เราใช้แนวคิดอย่างหลัง ตรงนี้ต้องมั่นตรวจสอบตนเอง


นอกจากฐานคิดหรือ Mindset ของตัวเองแล้ว เราต้องหมั่นเช็คร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ หรือเรียกรวมๆว่า “สุขภาวะ” ของตนเองไปพร้อมกันกับการขับเคลื่อนงานด้วย เพราะตัวเรากับ CBR รวมทั้งกิจการงานไหนๆ แท้จริงแล้ว มันไม่ได้แยกจากกัน หากมันเป็นดั่งกันและกัน

ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เราอาจจะไม่ใช่คนที่สามารถไปปลุกปั้นโครงการพัฒนา CBR หรือโครงการอื่นใดในพื้นที่ได้มากมาย แต่ถ้าเราสามารถสร้างหลักสูตรนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการบนฐานคิด CBR ขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่เป็นพื้นที่กายภาพที่เป็นรูปธรรมร่วมกับพื้นที่ออนไลน์ที่เป็น open source ให้ทุกคนในโลกเข้าถึงได้ นั่นก็น่าจะช่วยคนพิการ ผู้ดูแล และสังคมได้อย่างเท่าเทียม และเท่าทันกันเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

ผมฝันอย่างนั้น และอยากหาคนฝันร่วมกันอย่างนี้มากๆครับ

#CBR-Maehongson
#นสส.
#นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการแบบมีส่วนร่วม

หมายเลขบันทึก: 676567เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2020 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2020 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท