เป้าหมายและแนวคิดการจัดการรายกรณี


เป้าหมาย

เป้าหมายหลักที่สำคัญของการจัดการรายกรณี คือ การช่วยเหลือให้ผู้ใช้บริการที่มีปัญหาซับซ้อนสามารถทำหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้ดีที่สุด โดยการให้บริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากที่สุด การจัดการรายกรณีก็เหมือนกับวิธีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ ที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอบรมทางวิชาชีพ การยึดถือค่านิยม ความรู้ ทฤษฎี และทักษะที่นำมาใช้ในการจัดบริการให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยความร่วมมือกับผู้ใช้บริการและครอบครัวของผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสมอาจกล่าวโดยสรุปเป้าหมายของการจัดการรายกรณีมีดังนี้• เพิ่มพูนทักษะการแก้ไขปัญหาและกลไกการจัดการปัญหาของผู้ใช้บริการ• เชื่อมโยงผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบการให้บริการ ทรัพยากร และโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร โดยการเสริมสร้างความสามารถในการใช้บริการสังคมและการสนับสนุนทางสังคมต่าง ๆ• พิทักษ์สิทธิ และสนับสนุนการจัดการระบบบริการที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดสรรทรัพยากรและบริการแก่ผู้ใช้บริการ• การปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของระบบการให้บริการ ตลอดจนการปรับนโยบายสังคม

แนวคิดการจัดบริการรายกรณี

  1. แนวคิดการจัดการเพื่อความครอบคลุมและมีคุณภาพ (Systematic of Care) การจัดการปัญหาซับซ้อนต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบให้ผู้ใช้บริการสามารถดูแลตนเองได้ มิฉะนั้นองค์กรที่ให้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็นหากบริการไม่ได้ผล หรือผู้ใช้บริการไม่มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นการคำนึงถึงคุณภาพของบริการ และต่อมามีแนวคิดการให้บริการอย่างต่อเนื่อง การให้บริการระยะยาวที่คำนึงความสัมพันธ์ของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เป้าหมายของทุกกิจกรรมต้องประเมินว่าผู้ใช้บริการสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของตนได้ ประสานเชื่อมโยงบริการและพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการ

  2. แนวคิดแบบคิดพหุมิติ (Multi-Dimension) หรือแนวคิดเชิงซ้อน เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้บริการที่มีสภาพปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงสู่ปัญหาอื่นเป็นลูกโซ่ มิใช่เส้นตรงหรือระนาบเดียวกัน แต่มีมิติต่างระดับของปัญหา การทำงานเพียงด้านใดด้านหนึ่งของปัญหาหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มีความชำนาญเฉพาะด้านไม่อาจมองปัญหาได้อย่างทะลุหรือชัดเจน ทั้งแนวกว้างและลึก ต้องใช้การมองหลากหลายด้านทั้งระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว กลุ่ม ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อพื้นถิ่น เศรษฐกิจ เป็นต้น ฉะนั้น การให้ความช่วยเหลือผู้ใช้บริการในแง่แนวคิดเชิงซ้อนก็มิใช่การมุ่งเป้าที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ อาจต้องช่วยเหลือบุคคลที่มีความเชื่อมโยงของปัญหานั้นร่วมกันในคราวเดียวกันหรือพร้อมกัน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ อีกทั้งต้องตระหนักว่าวิธีการช่วยเหลือก็มีหลากหลายวิธีตามความลึกและความซับซ้อนของปัญหาและสถานการณ์ของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องใช้วิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความลุ่มลึกและซับซ้อนของปัญหา ในการทำงานกับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงนั้น การใช้แนวคิดพหุมิติที่สำคัญ คือ ระบบโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศ หรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่หล่อหลอมให้คนในสังคมทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความเชื่อตามกรอบของเพศภาวะกระแสหลัก เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เป็นผู้หารายได้ แข็งแกร่ง ห้าวหาญ ทำงานนอกบ้าน ดื่มสุรา สูบบุหรี่ได้ มีประสบการณ์ทางเพศช่ำชองได้หรือเจ้าชู้ได้ เป็นเจ้าของชีวิตภรรยาและบุตร ส่วนผู้หญิงต้องเรียบร้อย อ่อนโยน เป็นผู้ตาม อ่อนแอ ทำอะไรเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาและเชื่อฟังพ่อแม่หรือสามี รับผิดชอบงานบ้านและดูแลสมาชิกครอบครัว รักนวลสงวนตัว ไม่เจ้าชู้ไม่เที่ยวกลางคืน ซึ่งผู้ทำหน้าที่ case manager ต้องเข้าใจแนวคิดนี้เพื่อสามารถวิเคราะห์ปัญหาระดับโครงสร้างสังคมที่ผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงประสบอยู่แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองเพราะติดอยู่ในกับดักความเชื่อที่ถูกปลูกฝังสั่งสอนมาเช่นนี้ ซึ่งเช่นเดียวกับสมาชิกในสังคมและหน่วยบริการทางสังคมต่าง ๆ ก็รับมายาคติการอบรมสั่งสอนเช่นเดียวกัน จึงมักจะถือว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่สามีหรือผู้นำครอบครัวเป็นคนที่จะจัดการเองมากกว่าคนนอก จึงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือให้บริการ

  3. แนวคิดแบบสหศาสตร์ (Multi-Disciplinary) สืบเนื่องจากปัญหาที่ซับซ้อนและมิได้มีปัญหาในระนาบเดียวแต่มีความลึกแตกต่างกันในแต่ละปัญหา และอาจมีความเชื่อมโยงเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน จึงไม่สามารถที่จะใช้ความรู้หรือศาสตร์ด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะในการวิเคราะห์ปัญหาและความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ การให้บริการแบบการจัดการบริการสังคมรายกรณีต้องมีความรู้ที่เป็นสหศาสตร์ของวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สุขภาพกายและสุขภาพจิต การศึกษา การประกอบอาชีพ ระบบประกันสังคมและสวัสดิการสังคม ฉะนั้น ทีมสหวิชาชีพมีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้บริการ ซึ่งทั้งทีมทำงานด้วยการคำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อมนุษย์ ด้วยเป้าหมายเดียวกัน โดยใช้ศาสตร์ของวิชาชีพตนเองร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ ช่วยเหลือหรือป้องกันการให้บริการที่ซ้ำซ้อนไม่จำเป็น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการ`

หมายเลขบันทึก: 676501เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2020 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2020 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท