เสียงจากคนค่าย : เปิดใจคนก้นครัว (สุพัตรา กาสีพูล)


ในช่วงของการลงมือทำกันจริงๆ ยอมรับว่าทุกอย่างไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แม้จะวางแผนไว้แล้ว แต่พอถึง "หน้างาน” อันเป็นสถานการณ์จริงก็ต้องปรับกันอีกรอบ แถมมีเรื่องให้เราต้องเรียนรู้ใหม่ๆ ฝึกการแก้ปัญหาใหม่ๆ อย่างฉับพลัน กล่าวคือ มื้อเย็นวันแรกของชาวค่าย ทีมครัวคำนวณปริมาณข้าวปลาอาหารผิดพลาด ทั้งจำนวนคนที่เราลืมไปว่ามีอาจารย์ที่ปรึกษา พนักงานขับรถ ชาวบ้านและคณะครู ซึ่งเรายังคิดว่ามีคนค่ายแค่ 30 คน

การไปค่าย “ต้านลมหนาวสานปัญญา : จิตอาสาเรียนรู้คู่บริการ”หนูมีเหตุสำคัญๆ เพียงไม่กี่ข้อหรอกนะคะ เช่น ตรงกับช่วงที่ว่างเรียนและงานพอดี และเคยประทับใจการไปค่าย “ต้านลมหนาว 2.1” มาก่อน เลยมีแรงจูงใจที่จะไปค่ายอาสาพัฒนากับศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคมอีกรอบ

หนูตัดสินใจลงชื่อสมัครไปค่ายในแบบที่ไม่มีเพื่อนสมัครไปด้วย แต่โชคดีเพราะจริงๆ แล้วมี “บิ๊ก” ที่เป็นเพื่อนสนิททำงานเป็นรองประธานศูนย์ประสานงานฯ อยู่แล้ว จึงรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาบ้าง พร้อมๆ กับการมองว่าการไม่มีเพื่อนไปค่ายเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่หนูจะได้ลองไขว่คว้าประสบการณ์ใหม่ๆ กับเพื่อนใหม่ๆ

งานที่หนูรับผิดชอบในครั้งนี้คือ “งานครัว”  เดิมไม่ได้คิดว่าจะเลือกสายงานนี้หรอกนะคะ  แต่พอได้ฟังว่าน้องๆ ในค่ายไม่มีใครมีประสบการณ์ด้านนี้มากนัก จึงอาสาที่จะเป็นหนึ่งในทีมงานในสายงานนี้ พอเข้ามาในทีมก็รู้ว่ามีทีมครัวจำนวน 6 คน แต่หนูรู้จักแค่คนเดียวคือ “นุ่น” ซึ่งเป็นน้องที่เคยมาค่ายด้วยกัน และน้องก็บอกว่ายังไม่รู้จะจัดเมนูอาหารอะไรดี ภายใต้งบอันจำกัด คือ 5,000 บาท ที่ครอบคลุมปากท้องคนค่าย 30 คน

กระบวนการทำงานค่าย  หนูเน้นให้น้องๆ คิดเองว่าจะทำเมนูอะไรดี (เอาน้องเป็นหลักเพื่อให้เค้าได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง)  ขณะที่หนูวางบทบาทตัวเองเป็น “ผู้ช่วย” หรือเรียกให้ดูดีหน่อยคือ “พี่เลี้ยง”

พอได้เมนูอาหารมาแล้ว ก็เริ่มเขียนแจกแจงวัตถุดิบว่าต้องใช้อะไรบ้าง แต่ละรายการใช้งบประมาณกี่บาท  รวมถึงการหารือนอกรอบกันว่าจะซื้ออาหารอย่างไร เพราะค่ายนี้ต่างจากค่ายที่หนูเคยไปมาที่ต้องซื้อข้าวของให้เบ็ดเสร็จ ขณะที่ค่ายๆ อื่นๆ จะซื้อรายวัน ประเมินสถานการณ์วันต่อวัน  ซึ่งก็เข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไกลจากตลาดสด อีกทั้งค่ายไม่หลายวันนัก การประมาณการแล้วซื้อไปครั้งเดียวจึงกลายเป็นโจทย์ หรือความท้าทายที่หนูกับน้องๆ ต้องลองเรียนรู้ร่วมกัน  โดยหนูจะพยายามสะกิดถามน้องๆ อยู่ตลอดเวลาว่า “ครบไหม ซื้อของ เตรียมของมาครบไหม”

เหตุที่ต้องถามถี่ๆ ก็ไม่มีอะไรมาก เนื่องจากได้รับรู้มาว่าค่ายครั้งก่อนมีหลงลืมข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะข้าวปลาอาหาร จนต้องแวะขอรับบริจาคเงินและวัตถุดิบทำครัวกันระหว่างทาง หนูจึงจำต้องตรวจสอบเป็นจังหวะๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำอีก

ในช่วงของการลงมือทำกันจริงๆ ยอมรับว่าทุกอย่างไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แม้จะวางแผนไว้แล้ว แต่พอถึง "หน้างาน” อันเป็นสถานการณ์จริงก็ต้องปรับกันอีกรอบ แถมมีเรื่องให้เราต้องเรียนรู้ใหม่ๆ ฝึกการแก้ปัญหาใหม่ๆ อย่างฉับพลัน กล่าวคือ มื้อเย็นวันแรกของชาวค่าย ทีมครัวคำนวณปริมาณข้าวปลาอาหารผิดพลาด ทั้งจำนวนคนที่เราลืมไปว่ามีอาจารย์ที่ปรึกษา พนักงานขับรถ ชาวบ้านและคณะครู ซึ่งเรายังคิดว่ามีคนค่ายแค่ 30 คน

ทั้งหนูและน้องๆ มองว่าข้าวและอาหารมื้อเที่ยงเหลือเป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เราทำขึ้นและชุมชนทำมาสมทบ ตอนนั้นมองว่า “น่าจะพอ”  เราจึงไม่หุงข้าวเพิ่มเติมไว้ แต่เอาเข้าจริงๆ ขนาดชุมชน คนขับรถ อาจารย์ที่ปรึกษาและคณะครูยังไม่มาร่วมทานก็รู้เลยว่า ทั้งข้าวและอาหารที่มีอยู่ไม่เยงพอต่อการให้บริการ

วินาทีนั้นตกใจมาก – พยายามรวบรวมสติ คิดแค่ว่า “ทำยังไงทุกคนถึงจะได้กินข้าวให้อิ่ม” พร้อมๆ กับย้ำกับทีมงานว่า “ให้ตั้งสติๆ”  และโชคดีมากที่ตอนนั้น “แสงระวี” (เรียกกันแบบนั้น) ที่เป็นประธานพรรคชาวดินเสนอขึ้นมาว่า “หุงข้าวเพิ่ม–เจียวไข่เพิ่ม”  นั่นคือทางออกที่เราค้นพบและเร่งระดมแรงช่วยกันอย่างไม่รีรอ

เหตุการณ์ครั้งนี้  สอนให้หนูได้บทเรียนว่า “ต้องไม่ชะล่าใจ” ต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี ต้องคำนึงถึงจำนวนคนและความจริงที่ว่า “มื้อไหนจะหนัก-มื้อไหนจะเบา” เนื่องจากทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ตกเย็นจึงไม่แปลกที่ทุกคนจะรับประทานกันแบบเต็มที่ เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง (ฮ่าๆ)

สำหรับค่ายนี้เป็นค่ายที่มีข้อจำกัดเรื่อง “โควิด-19”  แต่มุมมองของหนูในฐานะ “คนนอก” ที่ไม่ใช่คณะกรรมการศูนย์ประสานงานฯ กลับมองว่ามีจุดแข็งอยู่หลายข้อ เช่น  มีการปูพื้นฐานผ่านการปฐมนิเทศก่อนลงพื้นที่ให้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องทำลักษณะไหน ถึงแม้จะไม่ชัดเจนมาก แต่ก็พอมองออกบ้างว่าค่ายจะเป็นลักษณะไหน เหมือนๆ การสอนให้นิสิตชาวค่ายได้คิดเอง ออกแบบกิจกรรมร่วมกันด้วยตนเอง 

อีกทั้งส่วนใหญ่นิสิตจะรู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว ไม่มีใครมาคนเดียว ทำให้สนิทกันง่าย คุยกันได้ แนะนำกันได้ อีกทั้งคนน้อยทำให้ได้คุยกับทุกคน ส่งผลให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเราทำด้วยความเข้าใจ ถึงจะผิดพลาดบ้าง ก็เป็นปกติของการทำงานที่จะต้องพบเจอปัญหาเพื่อนำไปสู่ปัญญา หรือที่ “พี่พนัส” พูดย้ำบ่อยๆ ว่า “ปัญญาปฏิบัติ” คือ “ปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำ”

จุดแข็งอีกข้อที่โดดเด่นมากก็คือ “พลังชุมชน” เป็นค่ายที่หนูเห็นแกนนำชุมชนทุกหมู่บ้าน (4 หมู่บ้าน) มาร่วมทำงานกับนิสิต มาเป็น “แกนนำ” พานิสิตเทพื้นสร้างลานอเนกประสงค์ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ซึ่งหาได้ยากมากที่จะเป็นแบบนี้ ค่ายๆ นี้มีทั้งกำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการ คณะครูที่ปักหลักทำค่ายกับพวกเราอย่างแข็งขัน แถมยังมีงบมาลงขัน มีอาหารมาสมทบ มีอุปกรณ์ด้านช่างมาสนับสนุน รวมถึงพานิสิตไปเที่ยวชมเรียนรู้ชุมชนอย่างไม่อิดออด

ส่วนจุดอ่อนของค่ายนี้  หนูมองว่า ปัญหาเรื่อง “น้ำ” เพราะเป็นช่วงที่ชุมชนกำลังขาดแคลนน้ำใช้ แม่น้ำโขงตื้นเขิน ส่งผลให้ประปาชุมชนมีปัญหา ชาวบ้านมีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ถังกักเก็บน้ำสำรองในโรงเรียนไม่เพียงพอ จะใช้น้ำก็ลำบาก ดีหน่อยที่ชุดเตรียมค่ายสำรองน้ำไว้ให้ได้เยอะพอสมควร แต่พอประเมินสถานการณ์กลัวน้ำไม่พอใช้ในช่วงเช้า ก็ปรับแผนไปอาบน้ำกันที่วัดป่าบ้านโนนสว่าง

ปัญหาน้ำเป็นปัญหาใหญ่ของค่ายๆ นี้  ถ้าจะเปิดน้ำเข้ามาใช้ในโรงเรียน ชาวบ้านต้องปิดวาล์วน้ำของหมู่บ้านไว้ก่อน ถึงจะสามารถปล่อยน้ำเข้ามาในโรงเรียนได้ นั่นคือวิกฤตเรื่องน้ำที่ชี้ชัดว่าปีนี้ภัยแล้งจะมาเยือนชุมชนอย่างหนักหน่วงกว่าทุกปี แต่ในวิกฤตนั้นก็ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของน้ำ ทั้งที่มีต่อเราและชุมชนไปโดยปริยาย

อีกเรื่องที่มองว่าน่าเสียดายมากที่เราไม่สามารถจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวค่ายกับชาวค่ายและชาวค่ายกับชุมชนได้ แต่พอจะรู้มาบ้างว่าจริงๆ แล้วพยายามเตรียมกระบวนการอื่นๆ หนุนเสริมมาก่อน เช่น สมุดกระจก จดหมายน้อย หรือแม้แต่การกระบวนการเรียนรู้ที่ที่ปรึกษาโครงการเคยแนะนำแกนนำค่ายในชื่อ “ถอดรหัสตัวเอง” ออกมาเป็นรูปภาพ หรือถอดออกมาเป็นข้อความ  เพื่อให้นิสิตได้จับเป็นสลากและตามหาตัวจริงกันในค่าย ซึ่งตระเตรียมกันไว้บ้างแล้ว แต่ไม่ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้มีการนำมาแจกมาอ่านสร้างบรรยากาศร่วมกัน  ซึ่งหนูคิดว่ากระบวนการเหล่านี้สำคัญมาก สามารถพัฒนาศักยภาพคนค่ายในมิติต่างๆ ได้และช่วยสานความสัมพันธ์ของคนค่ายได้เป็นอย่างดี

นี่คือสิ่งที่หนูอยากจะบันทึกไว้เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของค่ายครั้งนี้ ค่ายที่สอนให้หนูทำงานและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา ค่ายที่หนูขลุกอยู่แต่ในครัว แต่ก็ยังได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญของชุมชนได้หลากหลาย และมองเห็นพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างน่าประทับใจ หรือแม้แต่การทำงานภายใต้ข้อจำกัดอันมากมาย แต่ทุกคนก็ยืดหยุ่นและช่วยกันจนงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี


ภาพ : พนัส ปรีาสนา
เสียงจากคนค่าย/ต้นเรื่อง/คนเขียนเรื่อง : นางสาวสุพัตรา กาสีพูล
ชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการ
คณะการบัญชีและการจัดการ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 676365เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2020 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2020 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท