"ความยุติธรรมคืออะไร?" (คำถามในใจ ไม่ใช่คำตอบไขความยุติธรรม)


บางที  ชีวิตก็ไม่ได้สวยงามอะไร มองดอกไม้ที่สวยก็อาจไม่ได้สวยเหมือนอย่างที่ใครๆมอง อยู่แต่กับตัวเองก็กลายเป็นตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด มีความสามารถในการควบคุมคนก็เข้าใจว่าสามารถควบคุมทุกอย่างได้ สามารถสรรหาสิ่งต่างๆมาอุดรูรั่วของชีวิตได้ตลอดก็เลยไม่รู้ว่าชีวิตมีความพร่องไม่สมบูรณ์ ภาษาในการเข้าใจที่ต่างกันจึงไม่อาจจะเข้าใจกันได้ โลกเปลี่ยนไปตามสังคม สังคมเปลี่ยนไปตามความต้องการ ความต้องการก็เปลี่ยนไปตามการเคลื่อนย้ายของเคมีของร่างกาย เคมีของร่างกายก็เคลื่อนย้ายไปตามปัจจัยที่ทำให้เคมีเคลื่อนย้าย สุดท้ายจึงเป็นเพียงภาพปรากฏ ภาพดังกล่าวก็นำไปสู่ภาพอื่นๆต่อเนื่องไม่สิ้นสุดทั้งทางที่จะถูกตีความว่าดีหรือร้าย

มกราคมที่ผ่านมา หลังการส่งท้ายปีเก่าฉลองต้นรับปีใหม่กันทั่วประเทศกันไม่นาน สื่อได้เสนอภาพผู้ก่อการร้ายซึ่งมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธปืนเข้าปล้นร้ายทอง พร้อมกับการใช้อาวุธฆ่าผู้อื่น ข่าวดังกล่าวกระตุ้นให้คนทั่วประเทศหันมาสนใจ ต่างช่องข่าวต่างระดมหาข่าว วิจารณ์ และแสดงทัศนะกระตุ้นยอดผู้ชม หลายคนไม่ได้หลับไม่ได้นอนเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทุกสถานการณ์ผ่านสื่อ "ใครอยู่ในชุดพราง"

ระหว่างที่ข่าวการฆ่าและปล้นร้านทองที่ลพบุรีเดินเรื่องผ่านการสื่อสารหน้าจอโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ข่าวอื่นก็ไม่ได้หายไปอย่างการฆ่าต่อเนื่องของฆาตกรวัย ๕๑ ปี และวัย ๔๐ ปี ผมลองตั้งคำถามว่า "ถ้าวันนี้ไม่มีสื่อเหล่านี้ ผมจะรู้เรื่องดังกล่าวหรือไม่" คำตอบคือ "อาจไม่รู้" แต่เพราะมีสื่อเราจึงได้รู้เรื่องราวที่สื่อนำเสนอ สื่อจึงเป็นเหมือนหน้าหนังสือที่เราอ่าน/รับรู้เข้ามาในหน่วยประมวลการรับรู้ของเรา การรับรู้ข่าวความรุนแรงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ มีความคิดที่ขัดแย้งกันหลักๆ ๒ ส่วนคือ ๑) เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เราได้ระมัดระวังตัวตลอดเวลา ๒) เป็นเรื่องไม่ดี เพราะเราจะซึมซับภาพ ข้อความ ตลอดถึงองค์ประกอบอื่นๆ สะสมไว้ในตัวเรา เมื่อรับรู้บ่อยเข้า สถานการณ์แบบนั้นจึงกลายเป็นเรื่องปกติ และมีความเป็นไปได้กับการที่ "ความเป็นปกติของความรุนแรง" จะซ่อนซับในตัวตนของผู้นั้น เหมือนอย่างที่ฆาตกรต่อเนื่องอาจมองว่า "การฆ่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ ดังนั้น จึงฆ่าได้" 

ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มาฆฤกษ์ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓ ชาวไทยพุทธทั่วประเทศตั้งแต่ภาคใต้ตอนบนขึ้นไป โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงรักษาประเพณีอันหนึ่งไว้นั้นคือ การเข้าวัดทำบุญในช่วงเช้า-เพล ส่วนในช่วงเย็น บางคนที่รักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดต่างรอคอยช่วงเวลาการสวดมนต์และเวียนเทียน ช่วงเย็นนี้เอง สื่อโดยเฉพาะสื่อภาคประชาชนออนไลน์เริ่มส่งข่าวหากันในประเด็น ฆาตกรรมต่อเนื่องที่โคราช ต่างคนต่างแชร์ภาพจากผลของความรุนแรง ขณะที่สื่อกระแสหลักเริ่มเกาะติดสถานการณ์ทั้งรายงานสด การลำดับเหตุการณ์ และการสัมภาษณ์ คืนแห่งความตระหนกเข้ามาสู่ชีวิตของผู้สนใจอีกครั้ง หลายคนไม่ได้หลับเพราะต้องคอยติดตามทุกๆวินาทีหน้าจอจากผู้สื่อข่าว ร่วมเวลา ๑๗ ชั่วโมงที่แสนจะยาวนานอย่างไม่เท่ากันของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ติดตามเหตุการณ์ และผู้เกี่ยวข้อง ระหว่างนั้น ความเห็นต่างๆถูกพิมพ์ส่งเข้าสู่โลกออนไลน์ "วิสามัญซะ" "คนบาปมาก ..เกินมนุษย์" "สงสารจัง" "เศร้าใจมาก" "ขอแสดงความเสียใจ" ฯลฯ เมื่อข่าวว่าผู้ก่อการร้ายโดนปิดล้อมและเสียชีวิตลง ข้อความที่ดูจะขยายวงกว้างระหว่างผู้เฝ้ามองคือ "อะไรคือเหตุจูงใจให้ผู้ก่อการร้ายฆ่าคนโดยไม่แยกแยะ" ส่วนผู้ได้รับผลกระทบ ยังคงเจ็บปวดและโศกเศร้าอย่างสาหัส คำพูดของผู้ให้การสัมภาษณ์บางท่านบ่งชี้ถึง "หลอน" กับ "การรอตายที่ใกล้เพียงนิดเดียว"

เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีท่าทีต่อเหตุการณ์จะพบ ๓ กลุ่มหลักๆคือ (๑) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่มีความเจ็บปวดอย่างรุนแรงทางความรู้สึก ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต (๒) กลุ่มนักปฏิบัติและผู้มีส่วนร่วมในการจัดการที่ประสบความสำเร็จในการวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อการร้าย (๓) กลุ่มผู้ถามหามูลเหตุจูงใจของผู้ก่อการร้ายที่ฆ่าคนโดยไม่เลือก

(ข้อความต่อไปนี้ เป็นข้อความสมมติ ไม่ใช่สถานการณ์จริง)

เราไม่อาจจะรับรู้ระดับความเจ็บปวดของแต่ละคนได้ เพราะแรงต้านทานต่อสถานการณ์แตกต่างกัน คนสองคนอาจอยู่ในห้องเดียวกันและประสบเหตุการณ์เดียวกันในเวลาและพื้นที่เดียวกัน คนสองคนอาจมีความเจ็บปวดต่างกันเพียงเพราะแรงต้านทานภายในต่างกัน อย่างไรก็ตาม วิธีการหนึ่งที่พยายามจะเข้าใจความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์คือการจำลองอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น (แต่ไม่อาจจะเข้าใจได้ทั้งหมดหากไม่เจอสถานการณ์จริง และแม้เจอก็ไม่สามารถบรรยายระดับความรู้สึกให้รับรู้ที่สอดคล้องกันได้ระหว่างสิ่งที่สื่อสารและการทำความเข้าใจสิ่งที่สื่อสาร) ในสถานการณ์ที่ขับขันอย่างนั้น กลุ่มแรก เฉพาะผู้ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาได้ ชีวิตที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะโดนกระสุนปืนเวลาไหน บางคนที่มีแรงต้านมาก อาจมีความคิดว่า หากต้องประชันหน้าและจะต้องตายก็ขอลุยเข้าไปปะทะ บางคนที่แรงต้านน้อยคงได้เพียงหลับตา ไม่อยากเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และอาจร้องขอชีวิตเพื่อเป็นการประโลมใจ อย่างน้อยอาจได้ตามที่ร้องขอ อากาศที่หนาวเย็นเพียงใดก็อาจจะเหงื่อไหลเพราะแรงขับที่เราสร้างภาพเสมือนจริงขึ้นภายในสมองอันเกิดจากความกลัว เราในสถานการณ์แบบนั้นอาจไม่รู้อะไรเลยแต่ไม่ใช่ว่างความคิด หากแต่ความคิดตีกันซับซ้อนวุ่นวิ่งจับไม่ได้ ผู้มีสติอาจกำลังหาลู่ทางเพื่อการเอาตัวรอด เช่น เราควรอยู่ที่ใดเพื่อให้ปลอดภัยจากเหตุร้ายให้มากที่สุด ฯลฯ กลุ่มที่สอง ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการจริงและมีหน้าที่โดยตรงต่อการต้องหยุดความหายนะที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าให้เร็วที่สุด ส่วนนี้ได้รับการฝึกฝนมีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ อีกส่วนหนึ่งอยู่หน้าจอที่คอยร่วมอยู่ในสถานการณ์ผ่านสื่อ จำนวนหนึ่งแค้นในใจ และเกลียดชังผู้ก่อการร้ายที่ทำลายคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ควรโดนกระทำจากผู้ก่อการร้าย บางคลิบและบางความเห็น มีการยั่วยุผู้ก่อการร้าย เพื่อให้ผู้ก่อการร้ายฮึกเหิมและลนลาน บางความเห็นเป็นการสาปแช่งผู้ก่อการร้าย ซึ่งเอามิติของความเชือเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนกลุ่มที่สาม ผู้เฝ้ามองและตั้งข้อสังเกต ตลอดถึงการหาข้อมูลที่มากกว่าสิ่งที่ปรากฏ อะไรคือที่มาของการที่คนๆหนึ่งตัดสินใจทำในสิ่งที่สังคมมองว่าเลวร้าย เมื่อฟังบริบทจากสิ่งรอบข้าง ที่ผ่านมาผู้ก่อการร้ายไม่มีท่าทีจะเลวร้าย ทุกอย่างผลิดอกออกผลเป็นความเลวร้ายได้อย่างไร เมื่อค้นหาคำตอบมีข้อมูลสืบเนื่องบางอย่างก่อนการลั่นกระสุนหน่วยที่หนึ่ง และเลยเถิดเกินกว่าใครๆหยุดยั้ง

มีความคิดว่า ถ้ากลุ่ม ๑ สลับไปอยู่กลุ่ม ๒ และกลุ่ม ๒ สลับไปอยู่กลุ่ม ๓ หรือกลุ่ม ๒ สลับไปอยู่กลุ่ม ๑ และกลุ่ม ๑ สลับไปอยู่กลุ่ม ๓ แต่ละกลุ่มจะมีท่าทีแบบใด สุดท้ายอาจอยู่ในกรอบท่าทีต้น หมายถึง เมื่อ ๒ มาเป็นหนึ่ง ก็ต้องมีท่าทีแบบ ๑  แล้วถ้าทั้ง ๓ กลุ่มไม่ได้สลับเวียนใน ๓ กลุ่ม หากแต่สลับไปอยู่เป็น "ผู้ก่อการร้าย" เขาจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่เป็น ขอละวางเรื่องนี้ไว้ตรงนี้

สิ่งที่คิด ๑) ไม่มีใครไม่เสียใจจากการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก และไม่มีใครไม่เคียดแค้นคนที่กระทำเราโดยที่เราไม่ได้เป็นผู้กระทำก่อน / ถ้าผู้สูญเสียไม่เกี่ยวข้องอะไร ก็อาจรู้สึกเฉยๆ หรืออาจรู้สึกเศร้าใจ/สลดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ด้วยกันเอง  ๒) เบื้องลึกของการยั่วยุ การทำลาย การยินยอมให้มีการฆ่า การเห็นด้วยกับการฆ่า มีธาตุของผู้ฆ่า/ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอยู่หรือไม่ การฆ่าด้วยความกรุณามีอยู่จริงหรือไม่ ๓) เข้าใจว่า การที่คนเราตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยทำซึ่งเป็นความโหดร้ายทารุณ จะต้องมีที่มาไม่ใช่อย่างเดียว ๔) กรณีดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องเงิน หากแต่การเรียกร้องหาความยุติธรรม อาจเป็นไปได้ "เมื่อเป็นคนดีไม่ได้ก็อย่าเป็นมันเลย" ๕) ถ้าเรียกร้องหาความยุติธรรม ยุติธรรมคืออะไร? ยุติ ในภาษาไทย น่าจะคือ หยุด /จบลง ส่วน ธรรม น่าจะคือ ความดีงาม อะไรคือความดีงาม ๖) เป็นไปได้ไหม กับการที่เราได้รับน้ำสองแก้วอย่างไม่เท่ากัน โดยที่เราและเขาก็ยินดีที่จะไม่เท่ากัน ๗) มีเท่าที่มี จะมีเพิ่มก็อย่าให้ใครต้องเดือดร้อน (วัฒนธรรมกตัญญูกับการให้ต่างตอบแทนเพื่อการยอมรับทางสังคม)


หมายเหตุ สิ่งที่บันทึกนี้เป็นความคิดจากการได้รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านสื่อ/ไม่ใช่ข้อเท็จจริง/ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริง  ดังนั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้อย่างละเอียด

หมายเลขบันทึก: 675521เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2020 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2020 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท