ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ๑. บทนำ



  บันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่การเรียนรู้เชื่อมโยง ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 : Implementing the Practices That Work Best to Accelerate Student Learning (2016)    เขียนโดย Douglas Fisher, Nancy Frey, และ John Hattie    ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเอาหลักการ Visible Learning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย John Hattie ในช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปี สู่ภาคปฏิบัติ     โดยที่ Visible Learning พุ่งเป้าไปที่ผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน    บันทึกชุดนี้จึงเป็นบันทึกเพื่อสื่อสารต่อ “ครูเพื่อศิษย์”

สาระในบันทึกชุดนี้ สื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม    คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย  ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน    และมุมของครู ที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน  และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน    เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา   

หนังสือเล่มนี้เดินเรื่องด้วยการ “เรียนหนังสือ” (literacy) คือการพัฒนาด้านการอ่าน เขียน ฟัง พูด เท่านั้น    ไม่ได้แตะวิชาความรู้ด้านอื่นๆ    แต่กระบวนการเรียนการสอนตามขั้นตอนไปสู่การเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง (transfer) ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นการ “สอนคิด” ทั้งเล่ม   นอกจากนั้นยังเกิดการพัฒนาคุณลักษณะ (character)  และสมรรถนะ (competency) สำคัญแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไปในตัว  

เมื่ออ่านและใคร่ครวญหาคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ในบริบทของระบบการศึกษาไทย    ผมตีความว่า คุณค่าหลักน่าจะอยู่ที่ชื่อที่ผมตั้งให้ใหม่ คือ “สอนสู่การเรียนรู้เชื่อมโยง”    คือการเรียนรู้ดำเนินจากระดับผิว (surface)  สู่ระดับลึก (deep)  และระดับตีความนำไปใช้ในสถานการณ์อื่น (transfer) ที่ผมเรียกว่า ระดับเรียนรู้เชื่อมโยง หากหนังสือเล่มนี้สามารถทำหน้าที่ปลุกให้ครูและนักการศึกษาไทย มีความชัดเจนในเป้าหมายของการเรียนรู้    ว่าต้องนำพานักเรียนทุกคนสู่การเรียนรู้ในระดับ transfer    ผมก็จะมีความสุขอย่างยิ่ง   

เพื่อบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ระดับ transfer ต้องมีการปูพื้นฐานการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน    หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเทคนิควิธีการที่เสนอให้ครูใช้ ในการนำพานักเรียนสู่การบรรลุเป้าหมาย

ผมตีความจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ว่า    การเรียนรู้ประกอบด้วยสองกระบวนการ ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน  และเสริมส่งซึ่งกันและกัน     คือการสั่งสมความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และบุคลิก    กับการเพิ่มความฉลาด หรือปัญญา (intelligence)          

กระบวนการแรกเปรียบได้กับการสร้าง “คลังข้อมูล” (database)    กระบวนการหลังเปรียบเสมือนการฝึก operating system ในสมอง ให้มีปัญญา (intelligence) เพิ่มขึ้น    ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการนำข้อมูลจากคลังข้อมูลไปใช้    แล้วเก็บข้อมูลเพิ่ม นำมาตกผลึก (reflect) เกิดเป็นปัญญาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ   

ครูจะต้องฝึกทักษะความสามารถให้ “มองเห็น” พัฒนาการทั้งสองด้านนั้นในตัวศิษย์     รวมทั้งให้มีวิธีการวัดผลกระทบของวิธีการที่ตนใช้ในการจัดการเรียนการสอน    ที่เรียกว่า การวัด Effect Size (ES)    เพราะมีหลักฐานมากมายว่า วิธีการที่มีผู้อ้างว่าได้ผลดีนั้น    เมื่อตรวจสอบด้วยวิธีการทางสถิติเชิงลึกจากผลงานวิจัยจำนวนมาก (meta-analysis) แล้ว    วิธีการนั้นได้ผลน้อยต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่คุ้มค่า           

ในสมัยนี้ หนังสือได้พัฒนาขึ้นเป็น “สื่อผสม” (multimedia)     ดังตัวอย่างหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 เล่มนี้    มีวิดีทัศน์ประกอบคำอธิบายในหนังสือเป็นช่วงๆ   เข้าถึงได้โดยการสแกน คิว อาร์ โค้ดที่ให้ไว้     ซึ่งเมื่อเข้าไปดู จะเข้าใจและได้วิธีปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นมาก      

 

หลักการหรือแนวทางตามในหนังสือเล่มนี้ เมื่อนำไปใช้จะต้องปรับให้เหมาะสมต่อบริบทสังคมวิฒนธรรมไทย  และสภาพในแต่ละท้องถิ่น    การใช้ให้ได้ผลดีจึงต้องการทักษะและประสบการณ์ของครู ในการปรับใช้ให้เหมาะสม    ในบทสุดท้าย คือบทที่ ๙ ผมจึงได้เสนอแนะวิธีการจัดการส่งเสริมระดับประเทศ    ในการใช้หนังสือเล่มนี้พัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ให้เด็กไทยเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงอย่างเป็นเรื่องธรรมดาๆ    ซึ่งจะส่งผลต่อการสอบ PISA 2021 โดยไม่ต้องติว    

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 675138เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2020 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท