เรียนรู้จากการเยี่ยมชื่นชม ๕ หน่วยงาน


          วันที่ ๑๒ ธ.ค. ๔๙   สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชม ๕ หน่วยงาน   ได้แก่   คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์   คณะศิลปศาสตร์   คณะสัตวแพทยศาสตร์   สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ   และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม

          คณะสังคมฯ   ประกอบด้วย ๓ ศาสตร์  คือ  สังคมศาสตร์   มนุษยศาสตร์   และศึกษาศาสตร์   ตั้งเป็นคณะมาตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๑๑   ให้มีลักษณะจำเพาะ คือ เป็นศาสตร์เชิงประยุกต์   ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าสวนกระแสและมีคนไม่เห็นด้วยมาก   แต่เวลานี้พิสูจน์แล้วว่ากลายเป็นข้อได้เปรียบในการทำงานสร้างสรรค์เชิงวิชาการ

          คณบดีคณะสังคมฯ  รศ.ดร.สุรีย์   กาญจนวงศ์   บอกว่าแปลกใจที่ผลการจัดอันดับของ สกอ.   คณะฯ ได้อันดับ 2 ทั้งด้านการสอนและด้านการวิจัย   สำหรับสาขาสังคมศาสตร์   ไม่เคยคิดว่าจะเด่นถึงขนาดนั้น   ท่านไม่ได้นำเสนอลึกลงไปในสาระหรือเนื้อวิชาการที่คณาจารย์ในคณะฯ มีความเด่น   แต่ผมเองนับถือทีมด้านศึกษาศาสตร์ที่นำโดย รศ.ดร.เนาวรัตน์   พลายน้อยมาก   สคส. เรามอบให้ทีมนี้จัดทำ proceedings  ของมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๒  เมื่อปี ๒๕๔๘   และติดใจฝีมือ  จึงมอบให้ทำของมหกรรมฯ ครั้งที่ ๓ ในปีนี้ด้วย

          ผมทราบว่า  รศ.ดร.วริยา   ชินวรรโณ   จับงานวิจัยด้านจริยธรรมในวิชาชีพอย่างจริงจังต่อเนื่อง  เป็นที่น่าชื่นชม   แต่ไม่ได้มีการนำเสนอ

          คณะศิลปศาสตร์  เป็นคณะใหม่  มีจุดเน้นด้านภาษา   เพื่อประโยชน์ในการที่สังคมเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์

          คณะสัตวแพทยศาสตร์   เป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์น้องใหม่ที่สุดของประเทศ   มีจุดเน้นที่แตกต่าง คือ การดูแลสัตว์ป่า   ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาด   จึงฉีกแนวไปทำวิจัยเฝ้าระวังหาเชื้อไวรัสหวัดนกในนกป่าร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ   ทำให้เกิดความใกล้ชิดและเชื่อถือกัน   นำไปสู่การของบประมาณแผ่นดินติดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสระดับ P3

          คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์  รศ.นสพ.ปานเทพ   รัตนากร  ผู้มีเสียงหัวเราะที่ปลุกเร้าความสุข   ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมี  "พันธมิตร"  ในการทำงานวิชาการ   และยุทธศาสตร์การใช้พันธมิตรเป็นแหล่งสร้างชื่อเสียงและเป็นลู่ทางสู่ทรัพยากร

          สำนักสัตว์ทดลองแห่งชาติ   ได้ก้าวหน้าจากการให้บริการสัตว์ทดลองธรรมดาไปสู่สัตว์ทดลองที่มีคุณสมบัติพิเศษ   คือ ได้คุณภาพสายพันธุ์   และคุณภาพสุขภาพ   ตามมาตรฐานสากล   เป็นการให้บริการแก่ 200 หน่วยงาน ทั่วประเทศในภาครัฐ & เอกชน

          สถาบันวิจัยประชากรและสังคม   เป็นสถาบันวิจัยด้านประชากรหนึ่งในสองแห่งของประเทศ   อีกแห่งหนึ่ง คือ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ ของจุฬาฯ   ทำงานวิชาการด้านประชากร  มีคุณภาพเด่นมากทั้งคู่   แต่ของ ม.มหิดล ชื่อต่อท้ายด้วย "สังคม"  และโปรแกรมทำนายแนวโน้มเชิงประชากรเขียนขึ้นเอง   จึงสามารถดัดแปลงเพื่อตอบโจทย์ตามที่ต้องการได้ดี   สถาบันฯ ได้อันดับ 1 ด้านการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์  จากการจัดอันดับของ สกอ.   และได้รับทุน  คปก.  ของ  สกว.  สูงสุดในสาขาสังคมศาสตร์เช่นเดียวกัน

          ที่จริงถ้าเจาะลึกลงไปพูดเรื่องความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจก็จะพูดกันได้มาก   แต่วงเสวนาวันนี้ถูกจูงใจไปพูดเรื่อง  "คนไร้สัญชาติ"   ว่า บางคณะ/หน่วยงาน   ในมหาวิทยาลัยมหิดลไม่ได้รับความเอาใจใส่จากผู้บริหาร   เป็นคล้ายคนไร้สัญชาติ   แสดงว่ามีความน้อยเนื้อต่ำใจในความไม่เท่าเทียมกัน  ไม่เห็นความสำคัญ

          แต่  รศ.นสพ.ปานเทพ   รัตนากร   ก็ได้ช่วยชี้ให้เห็นว่า  หน่วยงานที่ไม่ดัง   ต้องอาศัยพันธมิตรที่ดัง   ช่วยทำให้ได้รับความเอาใจใส่ทั้งจากผู้บริหารและจากสังคมทั่วไป

          วันนี้ผมได้เรียนรู้  "ยุทธศาสตร์พันธมิตร"

วิจารณ์   พานิช
๑๓  ธ.ค.  ๔๙

 

1. บรรยากาศในห้องเสวนาชื่นชม

2.  อีกมุมหนึ่งของห้องเสวนา

หมายเลขบันทึก: 67505เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2006 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท