๑,๐๙๙ ปัญหาซ้ำซาก..ของการศึกษาไทย..


" ปัญหาที่รู้แล้วว่ามันหมักหมมมากมาย ก็ควรคิดยืดหยุ่นให้โรงเรียน ด้านการบริหารจัดการและเงื่อนเวลา เพราะถึงยังไง เขตพื้นที่ฯก็ต้องลงมาตรวจสอบอยู่แล้ว..เมื่อพบปัญหา..ทุกฝ่ายก็ต้องรับฟังเหตุผลว่าช้าเพราะอะไร? แล้วก็ควรคิดหาทางแก้ไขกันบ้าง...อย่าคิดว่าเอาเงินอุดหนุนมาฟาดหัว แล้วจะสั่งโรงเรียนยังไงก็ได้ มันไม่ใช่ "

        ที่หลายคนไม่รู้..ผมอยากให้ผู้อ่านที่อยู่ในหลากหลายอาชีพได้รู้ เผื่อว่าท่านจะมีแนวคิดที่มาช่วยแนะนำกันบ้าง..หรือถ้าไม่คิดจะช่วย ก็แค่รับรู้ความจริงบ้างก็พอ จะได้เห็นใจครู เห็นใจทางโรงเรียนบ้าง

    บางคนอาจมองไปถึงข้างบน..ว่ามีคนเก่งเยอะแล้ว ด๊อกเตอร์เต็มกระทรวงทบวงกรม..ก็ดูแลกันไปสิ..ผมก็เคยคิดเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านั้นไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาการศึกษาในระดับรากหญ้าเท่าที่ควร

        ปีแล้วปีเล่า..ที่หลายเรื่องราว ปล่อยให้โรงเรียนกับเขตพื้นที่แก้ปัญหากันไปแบบถูลู่ถูกัง บางเรื่องอีรุงตุงนังเหมือนลิงแก้แห ก็เพราะกระทรวงและสพฐ. ออกนโยบาย สร้างกฎระเบียบที่ไม่เคยสอดคล้องต้องกันกับความเป็นจริง..

        ที่สำคัญ..เอ่ยอ้างศตวรรษที่ ๒๑ แต่สิ่งที่ทำมันตกยุคไปนานแล้ว อ้างนวัตกรรม แต่สิ่งที่ทำมันไม่ใช่ คือทำอะไรซ้ำซากอยู่ร่ำไปนั่นเอง

        ผมพูดมาเป็นคุ้งเป็นแคว ชักแม่น้ำทั้งห้า แต่แท้ที่จริงอยากพูดแค่เรื่องเดียว คือ การซื้อหนังสือเรียนและงบประมาณค่าหนังสือ..ของทุกปีการศึกษา..และอีกไม่กี่วันก็ต้องทำเรื่องจัดซื้ออีกแล้ว..

        ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องงบประมาณ ว่ามันต้องขลุกขลักล่าช้าแน่นอน..อันนั้นก็พอเข้าใจได้ว่า..รัฐบาล..ทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง..ยังไงก็ต้องแก้ไขกันไปตามเรื่อง....

        แต่เรื่องหนังสือเรียน โรงเรียนเจอปัญหาซ้ำซากทุกปี และปีนี้..จะเจอหนักยิ่งขึ้น

        เพราะ..หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ จะครอบคลุมทุกชั้น..ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ แต่ตอนนี้ รัฐมนตรีประกาศจะปรับหลักสูตรอีกแล้ว..โดยที่ไม่รู้ว่าเอาฐานข้อมูลใดมาคิด และนักวิชาการด้านหลักสูตร ก็ยังตั้งตัวไม่ทัน..

        จริงอยู่..ปรับหลักสูตร..ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง หรือกระทบหนังสือเรียนแต่อย่างใด แต่แท้ที่จริงแล้วกระทบมากมาย..

        ยกตัวอย่าง..หากปรับที่ ป.๑ – ๒..สำนักพิมพ์จะพิมพ์หนังสือรุ่นเก่า หรือสาระที่ไม่เปลี่ยนให้น้อยลง..หรือพิมพ์ตามยอดที่สั่ง หรือรอให้สั่งกันก่อนแล้วค่อยพิมพ์ เพราะถ้าเยอะ จะไม่คุ้มกับต้นทุน ในที่สุดหนังสือก็จะเริ่มขาดตลาด..ตั้งแต่เมษายน ๒๕๖๓

        ส่วนหนังสือที่ต้องพิมพ์ตามหลักสูตรใหม่ ที่รัฐมนตรีมีนโยบาย ก็ไม่ใช่พิมพ์กันง่ายๆ ต้องขออนุญาตผ่านคณะกรรมการ ต้องมีการพิจารณาต้นฉบับ มีกระบวนการหลายขั้นตอนเหลือเกิน จึงอาจพูดได้ว่า..หมดภาคเรียนแรก ในปีการศึกษาหน้า จะได้หนังสือครบหรือเปล่า?

        แต่ที่น่าแปลกก็คือ..สพฐ.,ศธ. รู้ปัญหาประมาณนี้ทุกปี แต่ก็ออกปฏิทินมาหลอกตัวเอง มากดดันโรงเรียนว่า..จะต้องซื้อหนังสือวันนั้น..ตรวจรับวันนี้และต้องได้รับหนังสือ ๑๐๐% ก่อนเปิดภาคเรียน..ทั้งที่ในความเป็นจริง..วันนี้..หนังสือตามหลักสูตรแท้ๆ ยังพิมพ์ไม่เสร็จเลย...

        จริงๆแล้ว ปัญหาที่รู้แล้วว่ามันหมักหมมมากมาย ก็ควรคิดยืดหยุ่นให้โรงเรียน ด้านการบริหารจัดการและเงื่อนเวลา เพราะถึงยังไง เขตพื้นที่ฯก็ต้องลงมาตรวจสอบอยู่แล้ว..เมื่อพบปัญหา..ทุกฝ่ายก็ต้องรับฟังเหตุผลว่าช้าเพราะอะไร? แล้วก็ควรคิดหาทางแก้ไขกันบ้าง...อย่าคิดว่าเอาเงินอุดหนุนมาฟาดหัว แล้วจะสั่งโรงเรียนยังไงก็ได้ มันไม่ใช่

        เงินอุดหนุนค่าหนังสือเรียนต่อหัวต่อคนต่อชั้นรวมกันทั่วประเทศหลายพันล้านก็คิดกันเถิดว่าใครรวย และป่าไม้ถูกทำลายไปแค่ไหน จึงสวนทางกับศาสตร์พระราชา ถ้าประเมินด้าน พอเพียง..กระทรวงศึกษาธิการสอบตกเป็นกระทรวงแรก

        ถามว่า..การศึกษายุคใหม่ ความรู้อยู่ในอากาศ เน้นการสืบค้นจากเทคโนโลยี มีเครื่องมือที่ทันสมัยมากมาย แล้วใย..ต้องไปเน้นงบประมาณเรียนฟรีด้านหนังสือเรียน ลดไปครึ่งหนึ่ง..นักเรียนก็อยู่ได้ โรงเรียนก็อยู่รอด หากไม่สอนความรู้ความจำ หนังสือเรียนก็แทบไม่จำเป็นเลย แถมข้อสอบระดับชาติ ก็ไม่เคยเอามาจากหนังสือเรียนด้วยซ้ำ

        ท้ายที่สุดนี้..ขอได้ไหม? โรงเรียนขนาดเล็ก ที่เรียนจากวังไกลกังวลตามโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เงินค่าหนังสือเรียนมันมีทางออกที่ดีงามในการจัดการอย่างไร?ได้บ้าง..ที่จะทำให้หนังสือของโรงเรียนตรงกับครูตู้ เพราะหนังสือที่ครูตู้ใช้อยู่มันไม่มีขาย..นโยบายการจัดซื้อหนังสือเรียน..ก็ควรปรับตามสถานการณ์

        เคยคิดกันบ้างไหม.?.จัดสรรเงินมาให้ซื้อเพียงเพื่อให้หมดเงินไป..แต่ไม่ได้ใช้ มันจะเกิดประโยชน์อันใด?..การศึกษาทางไกล..นะครับ..ทำไม?ไม่ปรับให้ก้าวทัน..เสียที...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๓

หมายเลขบันทึก: 675033เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2020 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2020 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท