บันทึกที่ 2 ของ "ชายนิรนาม" : ความสุขของนักเรียนไทย


สวัสดีครับ

วันนี้ผมพอมีเวลาว่าง (จากความขี้เกียจ 5555) อีกครั้งหนึ่ง จึงได้อ่านหนังสือ สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ : Teach like Finland ต่ออีกนิดหน่อย ซึ่งมีสาระที่ให้ข้อคิดอันน่าสนใจประการหนึ่ง คือ ความสำเร็จของนักเรียนในประเทศฟินแลนด์ คือ ผลการประเมิน PISA ที่มีคะแนนสูง ปัจจัยหนึ่งที่นักเรียนประสบความสำเร็จซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอ คือ นักเรียนเรียนด้วยความสุข เรียนด้วยความไม่เครียด โดยโรงเรียนมีการจัดเวลาเรียนโดยให้นักเรียนเรียน 45 นาที แล้วพัก 15 นาที ซึ่งมีผลทำให้นักเรียนกลับเข้าห้องเรียน (หลังจากการพัก) มีความกระตือรือร้นในการเรียน กลับมาด้วยความร่าเริงทำให้มีความพร้อมที่จะเรียน เพราะสมองของนักเรียนได้พักผ่อน จากการเรียนในห้องไปช่วงหนึ่ง

“ความสุข” คำ ๆ นี้ ทำให้ผมคิดต่อไปอีกว่า ความสุขที่แท้จริงของนักเรียนคืออะไร การจัดการศึกษาของไทยมีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องว่าจะให้เด็กไทยเป็น “คนดี คนเก่ง และมีความสุข” คำถามที่จะถามเพื่อชวนให้คิดต่อว่า ความสุขของนักเรียนไทยจะเกิดขึ้นตอนไหน 1) เกิดขึ้นก่อนเรียน 2) เกิดขึ้นระหว่างเรียน 3) เกิดขึ้นหลังเรียนการเรียนแบบ หรือเกิดขึ้นในทั้ง 3 ช่วง และอีกคำถามหนึ่ง คือ ความสุขที่ว่าอะไรคือความสุขแท้ และความสุขเทียม

ผมเชื่อว่าเกือบทุกท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์แห่งความสุขในระหว่างที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษามาก่อน โดยประสบการณ์ของผมเองพบว่า ความสุขในการเรียนนั้นมีหลากหลาย เช่น มีบางวัน บางสัปดาห์ที่ครู อาจารย์ในรายวิชาหนึ่งมาบอกว่า “อาทิตย์นี้งดเรียน” หรือ “อาทิตย์หน้าไม่ต้องมาเรียนนะอาจารย์ไปราชการ” ท่านลองนึกย้อนไปถึงอดีตว่าเมื่อได้ยินประโยคเช่นนี้ท่านมีความรู้สึกอย่างไร ท่านรู้สึกอย่างไรผมไม่อาจทราบได้ แต่ผมเมื่อได้ยินประโยคเช่นนี้ จะดีใจมาก เกิดความสุขขึ้นมาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายวิชาที่ยาก หรือครู อาจารย์ผู้สอนเป็นคนดุ 

ช่วงที่ผมเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีคุณครูท่านหนึ่งสอนวิชาภาษาไทย แถมเป็นครูประจำชั้นอีกด้วยท่านเป็นคนเข้มงวดมาก และดุ (ค่อนข้างมาก) ท่านมักจะลงโทษนักเรียนที่ไม่สนใจเรียน ไม่ทำการบ้าน ไม่ทำแบบฝึกหัด หรือทำแล้วผิด ดังนั้น วันไหนที่คุณครูท่านนี้ไม่มาโรงเรียน ไม่ได้เรียนวิชาภาษาไทยผมและเพื่อน ๆ (ผู้ชาย) มักจะดีใจกันจนออกนอกหน้า บรรยากาศในวันนั้นมันช่างมีความสุขเสียนี่กระไร และเช่นเดียวกันถ้าครู อาจารย์ท่านใดที่ใจดี ไม่ดุด่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ครู อาจารย์ท่านใดจำชื่อเราได้ ใช้เราทำงานให้ ผมก็จะเชื่อว่าเรามีความสุข

พอผมเรียนมาจนถึงชั้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ.5) ผมมีความสุขในการเรียนในรายวิชาหนึ่งมาก และผมก็คิดว่าเพื่อน ๆ ก็มีความสุขในการเรียนเช่นเดียวกัน เพราะอาจารย์ท่านมีประสบการณ์มาก ท่านใช้เวลาประมาณ 30-35 นาที (ในแต่ละคาบ) มาเล่าประสบการณ์ที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ซึ่งวิธีการเล่าของอาจารย์ก็เร้าความสนใจ สนุก ผมจำได้แม่นว่าวิชานี้เรียนตอนบ่ายโมงของวันพฤหัสบดี ผมรอคอยด้วยใจจดจ่อว่าเมื่อไหร่จะถึงวันพฤหัสบดี เพื่อที่จะได้มาเรียนกับอาจารย์ท่านนี้ เพื่อที่จะได้ฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ ด้วยความสนุกสนาน และมีความสุขในการเรียน และเมื่อเหลือเวลาประมาณ 15-20 นาที อาจารย์ก็สอนเนื้อหาในรายวิชานั้น ซึ่งโดยส่วนตัวผม (เมื่อคิดได้หลังจากเรียนจบปริญญาโทแล้ว) คิดว่า ตัวเองไม่ได้ความรู้อะไรจากเนื้อหาวิชาที่อาจารย์สอน ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะอารมณ์แห่งความสุขที่ได้จากการฟังเรื่องเล่ายังไม่กลับมา หรืออาจจะเป็นเพราะสติปัญญาก็ไม่ทราบได้ จึงทำให้ผลการเรียนของผมในวิชานี้เกือบติดศูนย์ (อาจารย์คงช่วยเพิ่มคะแนนให้จนได้รับผลการเรียนระดับ 1) รวมทั้ง เพื่อน ๆ อีกเกือบทั้งห้อง

ในช่วงเดียวกันที่ผมมีความสุขกับการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ดังกล่าว ก็เป็นที่จะผมต้องสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจังหวัดที่ผมอาศัยอยู่ได้รับสิทธิ์ในการสอบ Quota จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักเรียนที่เรียนสายสามัญทั้งหลายต่างมุ่งหวังที่จะสอบ Quota นี้ ให้ได้ เพราะเมื่อใครสอบได้โรงเรียนก็จะประกาศชื่อหน้าเสาธง เพื่อน ๆ น้อง ๆ ก็จะปรบมือให้ เดินไปที่ไหนในโรงเรียนก็มีความรู้สึกตัวพองขึ้น (ความภาคภูมิใจ) ผมเองไม่มีประสบการณ์ตัวพองเช่นนั้น (ในทางตรงข้ามตัวน่าจะลีบลงด้วยซ้ำ) เพราะอุตส่าห์อ่านหนังสือตั้ง 2 อาทิตย์ เพื่อเตรียมตัวสอบ แต่เมื่อประกาศผลออกมาไม่มีชื่อ แต่ก็ไม่เสียใจนะครับ เพราะเพื่อน ๆ อีกหลายคนก็ไม่ได้ (ผมน่าจะเป็นพวกองุ่นเปรี้ยว) และอาจารย์ก็บอกว่าไม่เป็นไรเอาไว้สอบ Entrance มีโอกาสสอบได้มากกว่า และท้ายที่สุดผมก็สอบ Entrance เข้ามหาวิทยาลัยได้ ตอนนั้นผมมีความสุขมากอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของการเป็นนักเรียน

“ความสุข” ของผมที่เกิดจากการไม่ได้เรียนเพราะครูไม่มา ครูไปราชการ หรือความสุขที่เกิดจากการเรียน (จากการสอนแบบเล่าประสบการณ์ของอาจารย์) หรือความสุขเมื่อผมสอบ Entrance ได้ สิ่งใดที่เป็นความสุขแท้ และสิ่งใดที่เป็นความสุขเทียม (Artificial Happiness)

ตกลงแล้ว “ความสุขของนักเรียน” คืออะไร ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะได้ไปศึกษาว่า นักเรียนของประเทศฟินแลนด์เขามีความสุขแบบไหน ผมคิดว่าคนไทย ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ ควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนที่จะสร้างความสุขให้แก่นักเรียนว่า ความสุขของนักเรียนคืออะไร อะไรคือความสุขแท้ อะไรความสุขเทียม ความสุขแบบไหนที่เราต้องการให้เกิดกับนักเรียน นักเรียนต้องการความสุขแบบไหน ใครจะเป็นผู้สร้างความสุขให้แก่นักเรียน และจะสร้างอย่างไร

คำว่า “เก่ง ดี มีสุข” หรือบางท่านอาจจะใช้คำว่า “ดี เก่ง มีสุข” ก็ตาม ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งนับจากวันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีใคร หน่วยงานใดได้ประเมินติดตามผลว่า นักเรียนไทยมีความสุขหรือไม่ เพียงใด

แต่ถ้าผมจะประเมินโดยการใช้ความรู้สึก (พยายามจะไม่คิดทางลบ) กับการเทียบเคียงผลการสอบ PISA ของนักเรียนไทยที่ผ่านมา อาจจะสรุปได้ว่า นักเรียนไทยไม่น่าจะมีความสุขมากนัก นักเรียนไทยยังไม่น่าจะไปไม่ถึงประโยคสวยหรูที่พูดกันติดปากว่า “เก่ง ดี มีสุข” หรือ “ดี เก่ง มีสุข” เหตุผลของผม (คิดแบบง่าย ๆ ไม่ได้ใช้ตรรกะอะไร) คือ เพราะนักเรียนประเทศฟินแลนด์ที่มีการเรียนอย่างมีความสุข ส่งผลให้ผลการสอบ PISA อยู่ในระดับสูง แต่ผลการสอบของเราเมื่อปี ค.ศ. 2018 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ถ้าผมจะสรุปว่านักเรียนไทยยังไม่มีความสุขใช่หรือไม่ จึงมีผลการประเมิน PISA อยู่ในระดับต่ำ ได้หรือไม่ ??????

และผมจะพยายามหาเวลาเพื่ออ่านหนังสือ และนำมาเล่าสู่กันฟังว่า ประเทศฟินแลนด์ทำอย่างไรจึงทำให้นักเรียนมีความสุข

.

-- ชายนิรนาม --

.

..

............................................................................

ในที่สุด บันทึกที่ ๒ ของ "ชายนิรนาม" ก็เกิดขึ้น โดยการที่ผมไปนั่งแหย่ ๆ ความคิดมา
ความสุขของการเรียนพรั่งพรูออกมาอย่างที่เห็น เขียนได้มากกว่าบันทึกแรกเสียอีก

แต่ก็มีเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่เต็มไปหมด สมแล้วที่ "ชายนิรนาม" เป็นนักการศึกษาตัวจริง
ตัวจริงที่แอบซ่อนอยู่ในมหาวิทยาลัยผลิตครูที่เต็มไปด้วยตัวจริงและตัวปลอม

ลองอ่านนิยาม "ความสุขของนักเรียนไทย" ดูนะครับ แล้วท่านอาจจะได้พบอะไรบางอย่าง
ที่ท่านอาจเคยคิดตรงกัน หรือ คิดต่างกัน

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...

ป.ล. สงสัยผมจะเป็น "ผู้ช่วยการเขียนบล็อก" เพื่อการเผยแพร่ของ "ชายนิรนาม" ไปเสียแล้ว

............................................................................

* บทความนี้ขอสงวนลิขสิทธิ์การนำไปเผยแพร่ หากสนใจจริง ๆ กรุณาติดต่อผู้เขียนโดยตรงนะครับ *

............................................................................

หมายเลขบันทึก: 674331เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2020 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2020 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชอบบันทึกของอาจารย์มากค่ะ

รอติดตามบันทึกต่อไป

ขอบคุณค่ะ

ขอบใจมาก ทับทิมกรอบ

เป็นของปรามาจารย์ของมอเรานี่แหละ

แต่ใช้ชื่อ “ชายนิรนาม” 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท