การศึกษาไทยในยุคThailand 4.0


การศึกษาไทยในยุคThailand 4.0

               นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ Thailand 4.0 เป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งทิศทางในการพัฒนาประเทศไทย มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ 1) ยุคที่มีลักษณะของเศรษฐกิจที่เน้นภาคเกษตรกรรม (ยุค 1.0) 2) ยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเบา (ยุค 2.0) 3) ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนด้วยเทคโนโลยี (ยุค 3.0) และสุดท้าย 4) ยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation) เน้นการสร้างให้คนไทยสามารถคิดเองได้ (Creative)

    จากนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทย จากกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  สถานศึกษาต้องวางแผนงานให้รองรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน คือ

                1.  ความมั่นคง

                2.  การสร้างความสามารถในการแข่งขัน

                3.  การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์

                4.  การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

                5.  การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

                6.  การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

                กรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ใช้ในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุขและตอบสนองต่อการบรรลุ ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในประเทศไทยเรานั้นทุกภาคส่วนของสังคมอยากให้ประเทศไปสู่ 4.0 ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม ถ้าเราต้องการพัฒนาประเทศในลักษณะนี้ เราจะทำอย่างไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าเราต้องการเป็นประเทศ 4.0 แต่การศึกษาคนส่วนใหญ่ของเรายังอยู่ในระดับ 2.0 หรือ 3.0 อยู่ ความสำเร็จจะเป็นไปได้โดยยาก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพัฒนาการศึกษาของเราให้เข้าสู่แนวคิดและกระบวนการศึกษา 4.0 ให้ได้

                ทิศทางการพัฒนาผู้เรียนยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะในการประยุกต์ให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างความคิดของผู้เรียนไปสู่ที่ยากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของการยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติ การพัฒนาต้องพัฒนาทั้งด้านความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นทั่วไป (ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ชาติ ภาษา คณิตศาสตร์) ความรู้รอบตัว รอบโลก สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ความรู้ข่าวสาร ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด การพัฒนาการศึกษาภายใต้กรอบประเทศไทย 4.0 สู่ศตวรรษที่ 21  เริ่มด้วยการฝึกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูเปลี่ยนจากครูสอนเป็นพี่เลี้ยง ครูฝึก (Coach) การเรียนแบบบูรณาการสหวิชาการ เชื่อมโยงความรู้กับจินตนาการ เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปธรรมให้ผู้เรียนมีทักษะที่ต้องการ เช่น การทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ดี ซึ่งการจัดการศึกษาต้องสร้างความพอใจให้ผู้เรียนและท้าท้ายสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนอยากเรียน 

                 จากกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อการสอนทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล โดยเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในการสืบค้นและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันมีจำนวนมาก ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการค้นหาและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

เอกสารอ้างอิง

ไพฑูรย์  สินลารัตน์และคณะ. 2561. การศึกษา4.0เป็นยิ่งกว่าการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่5. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชวลิต โพธิ์นคร. 2562. การศึกษาไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0. เข้าถึงใน https://km.li.mahidol.ac.th/thai-studies-in-thailand-4.0 เมื่อวันที่ 3 มกราคม  2563.

ศูนย์เอกสารนานาชาติ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. 2562. การศึกษาไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0. เข้าถึงใน https://www.bic.moe.go.th/images/stories/EDUthai4.0.compressed.pdf. เมื่อวันที่ 3 มกราคม  2563.

หมายเลขบันทึก: 674323เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2020 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2020 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท