ทุติยบท


รอบสอง

13 ขวบปี น่าจะอยู่มัธยม 2 ที่โรงเรียน “เมืองตุลงพิทยาสรรพ์” โรงเรียนเก่าที่ตั้งใหม่ใจกลางเทศบาลแต่บ้านนอกที่สุดในสายตาคนทั่วไป หรือแม้แต่ตัวผมเอง โรงเรียนถูกจัดตั้งเป็นโรงเรียนสาขาของประโคนชัยพิทยาคม (สถานที่เดิมของ บร.๘) พวกเราจึงถูกเรียกว่าพวก ปพ. สาย 2 มาระยะหนึ่ง ก่อนจะชินตาเจนปากในชื่อใหม่ว่า ม.ต.พ.

พวกสาย 2 เป็นโรงเรียนบ้านนอกมาก ในวันที่มาสมัครเรียนก็มีอาคารเรียนเพียง 1 หลัง เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น และมีอาคารเรียนที่กำลังก่อสร้างอีกหลัง ถนนทางเข้าโรงเรียนยังเป็นลูกรัง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ก็แทบจะไม่มีให้เห็นเลย นอกจากบ้านพักครูเก่า ๆ อาคารเก่า ๆ ห้องน้ำเก่า ๆ ฝนตกทีน้ำก็ไหลผ่านถนนและอาคารเรียน ใต้อาคารไม้ที่เป็นอาคารหลักในการจัดการเรียนการสอนในขณะนั้น ใต้ถุนก็นองน้ำมีปลาแหวกว่ายไปตามธรรมชาติ...

ตอนสอบเข้ามัธยม 1 จำได้ว่าสอบเข้าได้เป็นที่ 1 ของรุ่น (เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครรู้หรอกครับ ต้องถามครูโชคชัย หรีกประโคน ถ้าแกจำได้)  จนมีครั้งหนึ่งที่จะมีการมอบทุนการศึกษา ครูโชคชัยจึงบอกว่าควรจะมอบทุนให้คนที่สอบเข้าได้ที่ 1 เพราะเกรดของเทอมต้นยังไม่ออก... เรื่องสอบได้ที่ 1 ครั้งนั้น จึงอยู่ในความทรงจำของผมมาตลอด เพราะเป็นคนเรียนไม่เก่ง เรียนประถมไม่เคยสอบได้ที่ 1 อย่างเก่งก็ที่ 5 ที่ 6 และนั่นคงเป็นครั้งเดียวก็ว่าได้

โรงเรียนค่อย ๆ เติบโต มีอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาคารสถานที่เปลี่ยนแปลงไปไวมาก จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จำนวนครูที่เพิ่มขึ้นตามมา ... วีรกรรมของนักเรียนรุ่นแรก ๆ อย่างพวกผม จึงมีเรื่องเล่ามากมาย... จบมัธยมต้น ผมอยากเรียนสายศิลป์ เพราะไม่ชอบสายวิทย์ ผมจึงบอกเพื่อน ๆ ว่าจะสมัครเรียนสายศิลป์ ปรากฏว่าโรงเรียนไม่เปิดห้องเรียนสายศิลป์ เปิดเฉพาะสายวิทย์-คณิต (และคงเป็นรุ่นเดียวที่ไม่เปิดสายศิลป์ และเป็นคำถามค้างคาใจมาตลอด 20 ปีว่าทำไมไม่เปิด) ผมจึงจำใจเรียนต่อในสายวิทย์-คณิต... จึงผันตัวเป็นเด็กกิจกรรม เป็นหัวหน้าห้อง เป็นประธานชุมนุม ไปแข่งขันทักษะ (สังคม) และเป็นประธานนักเรียน น้อยครั้งที่จะตั้งใจเรียนเพียรศึกษา ตอนมัธยม 6 เพื่อน ๆ เตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา บางคนอยากเรียนนายสิบ นายร้อย ก็เคยพาเพื่อนไปสอบ รุ่นนี้ดูจะเป็นรุ่นของความหวัง เป็น ม.6 รุ่นที่ 3 ของ ม.ต.พ. มีการจัดแคมป์วิชาการให้นักเรียน ม.6 เพื่อเตรียมตัวไปสอบเอ็นทรานซ์ นอนกินติวที่โรงเรียนในช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมและเหมารถหกล้อไปสอบด้วยกันที่บุรีรัมย์พิทยาคม แต่ผมก็ไม่เข้าร่วม นอนอยู่บ้าน อ่าหนังสือวิชาสังคม 2 เล่มที่ยืมมาจากครูเปิ้ล สีหราช แล้วก็ไปดักรอปากทางคอยขึ้นรถไป-กลับพร้อมเพื่อน ๆ .... ผลการสอบ 7 วิชาหลัก ผมได้คะแนนรวมสูงที่สุดในชั้น .... จากนักเรียนท้ายห้อง โดดเรียนบ่อย ๆ ไม่เก่งคำนวณและวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เป็นเรื่องแปลกใจของคนทั่วไป... จึงใช้คะแนนนี้ยื่นรอบโควตาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับคัดเลือกให้มาเรียน กลายเป็นศิษย์ ม.ต.พ. คนแรกที่ได้มาเรียนที่ มข. .... เทอมปลายจึงปล่อยเรื่องเรียน เพราะสอบเข้า มข. ได้แล้ว... มีการทำข้อสอบทดสอบระดับชาติ National Test คะแนนเต็ม 100 คะแนน ผมน่าจะได้ 62 (ถ้าจำไม่ผิด) และกลายเป็นคะแนนที่มากที่สุดของระดับชั้น ม.6 ด้วย  จึงเป็นอีกเรื่องที่ทำให้ครูและเพื่อน ๆ ประหลาดใจ (แต่ครูและเพื่อน ๆ ก็คงลืมกันไปแล้ว) ในชีวิตจึงน่าจะมี 3 ครั้งที่ สอบได้ที่ 1 คือ สอบเข้า ม.1  คะแนนสอบเอ็นทรานซ์รวม 7 วิชา และสอบ National Test … ความภูมิใจเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ตอนประกาศผลโควตามหาวิทยาลัยขอนแก่น จำได้ว่าเป็นที่เลื่องลือทั้งสองโรงเรียน  ประโคนชัยพิทยาคมถึงกับอยากรู้จักว่า “ภาสกร” คือใคร? ที่เมืองตลุงพิทยาสรรพ์ก็โจษจันกันทั่ว ตั้งแต่ยามหน้าประตู แม่ค้าและผผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนเจ้าตัวเก็บเงียบ ไม่ได้อะไรมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อยากจะตื่นเต้นอะไรมาก เพราะการสอบติด มข. มันคงไม่ใช่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในชีวิตนัก เพราะที่บ้านก็ใช่ว่าจะ “มี” เหมือนบ้านคนอื่น ก็ได้แต่คิดทบทวนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าคงเรียนต่อที่ราชภัฏใกล้บ้านนี่แหละ ประหยัดค่าใช้จ่ายจะได้ไม่ลำบากครอบครัว  จนอยู่มาวันหนึ่งกลับถึงบ้าน ป้าก็มาถามว่าสอบติด มข. เหรอไม่เห็นบอกที่บ้านเลย เราก็เลยถามกลับว่าไปรู้มาจากไหน ป้าเลยตอบว่า “เขาพูดกันทั้งหมู่บ้าน ป้าไปวัดมา เขาก็พูดกันที่วัด”

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเรื่องราวมากมายที่ทั้งตื่นเต้น สมหวัง ล้มเหลว ย่อท้อ เดินต่อ และเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจและความรู้สึกนึกคิดมาโดยลำดับ คล้ายกับการใช้ชีวิต 4 ปี ในฐานะนักศึกษา เริ่มแต่เป็น Freshy  Sophomore Junior Senior โชคดีที่ไม่มีโอกาสเป็น Super Senior

Freshy  ได้เรียนรู้การปรับตัวจากนักเรียนมาสู่การเป็นนักศึกษา ยากเหมือนกัน เพราะเราเองไม่พร้อมกับการเรียนในแบบอุดมศึกษาเลย เป็นคนเรียนในห้องเข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็หลงลืม ทำให้นึกถึงคำพูดของครูเปิ้ล สีหราช ที่บอกว่า “ยอด เอ็งเป็นคนสมาธิสั้น” และการมาเรียนอุดมศึกษาที่เนื้อหาสารพัดจึงทำให้หลงลืมและทำข้อสอบกลางภาคและปลายภาคไม่ได้เพราะสมาธิสั้น เกรดเทอมแรกตกต่ำมากที่สุดในชีวิต ใครจะคิดว่ามาเรียนแล้วจะเจอคณิตศาสตร์ แคลคูลัส เคมี ชีวะ และวิชาสารพัดในเทอมแรก ถือเป็นการต้อนรับน้องใหม่ที่สาหัสเอาการ กระนั้นก็เถอะพี่ ๆ เพื่อน ๆ รวมถึงญาติ ๆ บางคนก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ เชียร์คณะและระบบ SOTUS ก็ดูจะพลังอำนาจส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนสมาธิสั้น เกรดเฉลี่ยต่ำเรี่ยดินในเทอมต้น ส่งผลให้พยายามขยับเพื่อให้รอด กำลังใจหนึ่งมาจากการไปขอ “เจ้าพ่อมอดินแดง”

 Sophomore เริ่มรอดพ้นจากเกรดที่ร่อแร่ จึงหันมาเน้นการเป็นนักกิจกรรมควบคู่กับการเรียน ออกค่ายกับชมรม ปนน. และกิจกรรมอื่น ๆ เรียนสนุก ลุกนั่งสบาย ตื่นสาย ๆ ทำงานส่ง

Junior เริ่มต้องรับผิดชอบตัวเองมากขึ้นทั้งเรียนและกิจกรรม จนมีคนพูดบ่อยครั้งว่า “อย่าให้การเรียนมากระทบกิจกรรม” รับหน้าที่ประธานชมรม ปนน. พ่วงด้วยกรรมการฝ่ายกีฬาและนันทนาการ องค์การนักศึกษา ที่ต้องรับหน้าที่เป็นรักษาการประธานกีฬากลาง จัดกีฬาน้องใหม่ และเรื่องราวมากมายก็เวียนมาให้รู้จักเพื่อน พี่ น้อง มากมายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มมีเพื่อนต่างสถาบัน และการเดินทางไปลาวและเวียดนาม เป็นการเปิดกะลาให้เห็นโลกกว้าง แม้ทางจะแคบ

Senior การเรียนไปได้ดี เกรดรวมไม่มากนักแต่ก็คาดว่าจะจบสามปีครึ่ง เพราะเทอมต้นปี 4 เหลือเพียง 22 หน่วยกิตก็จะจบ แต่เลือกที่จะไม่ลงทั้งหมด เพราะยังอยากใช้ชีวิตนักศึกษาให้คุ้มค่า รับหน้าที่อุปนายกองค์การนักศึกษา เรียนบ้าง เที่ยวบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง เข้าวัดเข้าวัง และเติบโตสมวัย พร้อมแก่กานเดินทางท่องโลกกว้างหลังจบปริญญา

เรียนจบ กลับบ้านไปบวชปฏิบัติธรรม 20 วัน ก่อนจะกลับมาสอบเรียนต่อปริญญาโท ชีวิตจึงหักเหเมื่อตัดสินใจเรียนต่อ พร้อม ๆ กับการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิจัย 1 ปีผ่านไปจากผู้ช่วยวิจัยหันไปทำงานที่สำนักงาน เป็นการทำงานหามรุ่งหามค่ำ พร้อม ๆ กับการเรียนปริญญาโท เป็นสองปีที่หนักหน่วงมาก ไม่มีวันหยุด ไม่มีโอกาสพักผ่อน ที่สำคัญ “ไม่มีเงิน” อยู่อย่างคนจน และแล้วในวัย 24 ปี ก็จบปริญญาโทเสียที จบแบบขอไปที ไม่มีอะไรนอกจาก “จบ”

คำสำคัญ (Tags): #ชีวิต
หมายเลขบันทึก: 674268เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2020 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2020 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท