ชีวิตที่พอเพียง 3596. ไปกราบท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม



หลังจากได้ฟังท่านพระครูฯ เล่าเรื่องโรงเรียนศรีแสงธรรม ในงาน TEP Forum 2 (1, 2, 3)    ผมบอกคุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ว่าขอให้จัดเวลาไปกราบท่านถึงโรงเรียน    เพื่อเรียนรู้กิจกรรมโรงเรียนศรีแสงธรรม ที่เป็นโรงเรียนที่นักเรียนเรียนเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม    แต่ในบันทึกทั้งสามนั้น ผมกลับไม่ได้บันทึกเรื่องของท่านพระครูไว้ นสพ. โพสต์ทูเดย์ได้ลงเรื่องของท่านไว้ที่ (4)

ได้วันเดินทางวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒     เดิมกำหนดไปกัน ๙ คน    แต่คุณเปาเกิดป่วยกระทันหัน จึงเหลือ ๘ คน    กำลังเหมาะต่อการเดินทางด้วยรถตู้    เพราะวัดอยู่ห่างสนามบินอุบลราชธานี ๘๐ กิโลเมตร เดินทางชั่วโมงครึ่ง     คืออยู่ที่อำเภอโขงเจียม    

เมื่อลงจากเครื่องบินเวลา ๘.๔๐ น. ก่อนออกเดินทาง     เราไปกินอาหารเช้าในเมืองอุบลที่ร้านครัวเช้าที่แสนอร่อย     กว่าจะออกจากร้านก็เลย ๙.๓๐ น.   เราจึงไปถึงโรงเรียนเลย ๑๑ น.   ระหว่างเดินทาง ทีมงานโทรศัพท์ไปกราบเรียนท่านว่าเราจะไปถึงหลัง ๑๑ น. ขอให้ท่านฉันเพลก่อน    เมื่อไปถึงท่านบอกว่าท่านฉันมื้อเดียว     ช่วยประหยัดเวลาได้มาก     

เราฟังและถามท่านอยู่ ๒ ชั่วโมงเต็ม  ในสภาพลืมหิว     นี่คือโรงเรียนที่ทั้งนักเรียนและครูเรียนจากการปฏิบัติ    โดยมีฐานของหลักสูตรอยู่ที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการอนุรักษ์พลังงาน และการเกษตร    ผมตั้งชื่อว่า Environment-Based Curriculum     ท่านบอกว่าเป็น โรงเรียนนวัตกร    ท่านบอกว่าต่อไปจะออกแบบหลักสูตรนวัตกร    เพื่อความเป็นโรงเรียนแห่งนวัตกรรม    และประธานบอร์ด พสวท. มาเยี่ยมชมและบอกว่า เป็นโรงเรียน STEM โดยธรรมชาติ

โรงเรียนศรีแสงธรรม เป็นโรงเรียนที่ดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้วย “หลักสูตรแกนกู”    แนว Environment-Based Curriculum    แตกออกเป็นเรื่องพลังงานธรรมชาติ กับการเกษตร    ขากลับผมบอกคุณติ๋มว่า ต้องไปอีกครั้ง เพื่อไปสังเกตการณ์ในห้องเรียน    แต่ช่วงก่อนเดินทางกลับ เราไปยืนหน้าห้องสมุดที่ครูกำลังสอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่    ได้ยินเสียงนักเรียนตอบคำถามครูเสียงดังสนุกสนาน    ก็พอจะเดาได้ว่าโรงเรียนนี้จัดการเรียนรู้แนวการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑    หรือ active learning ไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ หรือ passive learning   ตรงตามที่ท่านพระครูบอก     

ท่านพระครูบอกว่า ครูทุกคนต้องเขียนรายงานการสอนทุกชั่วโมงผ่าน FaceBook   ผมตีความว่า เป็นการกำหนดให้ครูต้องทำ reflection การสอนของตนสั้นๆ ทุกชั่วโมง      

  จากพื้นความรู้แค่ ม. ๕    การเรียนรู้ตลอดชีวิตของท่าน    ผ่านการตั้งคำถาม  และหาทางตอบคำถามด้วยการอ่าน และการสังเกต ตามด้วยการครุ่นคิด    นำพาชีวิตท่านให้ทำงานสร้างสรรค์สังคมได้ถึงเพียงนี้  

ท่านยึดหลักจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กด้วยสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่    และสิ่งที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์คือแดด    จึงออกแบบการเรียนรู้เรื่องเซลล์แสงอาทิตย์    จนเวลานี้โรงเรียนศรีแสงธรรมเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์    โดย “ช่าง” ติดตั้งคือนักเรียน    นักเรียนโรงเรียนนวัตกร 

โดยที่นักเรียนเรียนทำความเข้าใจตั้งแต่เรื่องแสง พลังงาน การเปลี่ยนพลังงานแสงไปเป็นพลังงานไฟฟ้า     กฎทางฟิสิกส์ต่างๆ  เรื่องแผงวงจร ฯลฯ    เรียนคำนวณปริมาณพลังงานแสงแดดบนพื้นที่หนึ่ง  และคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์        ผมเดาว่าเมื่อเด็กมีเป้าหมายเรียนเพื่อเอาแดดมาป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้เป็นการเรียนที่มีจุดมุ่งหมายเป็นรูปธรรมชัดเจน เห็นประโยชน์กับตา    ว่าจากแสงแดดเอามาใช้ปั่นพัดลมได้ ขับเคลื่อนรถได้    การเรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์จึงน่าสนใจ  

Project-Based Learning เน้นที่การเรียนรู้เรื่องหุ่นยนตร์    ทำให้เด็กได้เรียน algorithm, logic, coding, โดยเรียนอย่างมีแรงจูงใจ   

Problem-Based Learning เน้นที่ปัญหาท้องถิ่น ปัญหาสังคมโดยรอบโรงเรียน   

              ท่านเล่าว่า เมื่อตั้งโรงเรียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็ประกาศรับสมัครครู    ได้วิศวกรมาเป็นครู ๓ คน และยังอยู่จนปัจจุบัน    ทำให้ผมเกิดความคิดว่าระบบการศึกษาไทยเดินทางผิดในเรื่องครู    ยิ่งในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ยิ่งผิด    เพราะครูเรียนวิชาครูที่เน้นเทคนิคการสอน   เอาความรู้สำเร็จรูปมาให้เด็กจดจำและตอบข้อสอบ    ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ตื้นและไม่เชื่อมโยง    ที่ร้ายหนักคือ ทำให้ชุมชนในโรงเรียนประกอบด้วยครูที่เรียนมาเหมือนๆ กัน คิดในแนวเดียวกัน    ไม่เหมาะต่อการเรียนรู้ของเด็กในสมัยนี้ ที่ต้องการการเรียนรู้จากการลงมือทำ (learning by doing)    ตามด้วยการคิด (reflection) ซึ่งต้องฝึกคิดหลายๆ แบบ  

    ผมจึงเกิดความคิดว่า โรงเรียนที่ดีในสมัยนี้ควรมีครูที่เรียนมาหลากหลายสาขา     มาเติมความรู้วิชาครูภายหลัง     จะจัดการเรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้อย่างมีพลัง     ดังที่ผมเห็นตัวอย่างที่โรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเพลินพัฒนา     ผมตั้งความหวังว่า ระบบการศึกษาไทย ที่รับผิดชอบโดยกระทรวงศึกษาธิการ จะเดินไปทางนี้ได้    อยากให้เปลี่ยนทันผมเห็นก่อนตาย

ผมเสียดายที่ลืมกราบเรียนถามท่านว่า ท่านจงใจประกาศรับสมัครวิศวกร และคนที่เรียนมาในสายอื่นที่ไม่ใช่ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์หรือเปล่า    

ท่านบอกว่าครูในโรงเรียนศรีแสงธรรมไม่มีวุฒิครู    ผมเดาว่าคงจะเรียนมาหลากหลายสาขา     ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมมากต่อการเป็น high functioning school    ผลการเรียนรู้ของเด็กจึงพิสูจน์ได้ว่าคุณภาพสูง    ท่านบอกว่าเด็กจบไป ๕ รุ่นแล้ว สอบเข้า ม. อุบลฯได้ทุกคน    ปีนี้มีเด็กสอบเข้าเรียนสาขาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยาได้     ท่านส่งเรียน จ่ายค่าเล่าเรียนเทอมละ ๒๘,๐๐๐ บาทให้ และให้ค่ากินอยู่เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท    เด็กสอบเทอมแรกได้เกรด ๓.๘ ท่านภูมิใจมาก    มีเด็ก ๒ คนได้รับทุนไปเรียน mechanic ที่เกาหลี     ผลงานแบบ Project-Based Learning ของนักเรียน ได้รับรางวัลมากมาย    นี่คือข้อพิสูจน์ว่าครูโรงเรียนนี้ทำงานได้ผลดี        

 โรงเรียนนี้สอนชั้น ม. ๑ ถึง ม. ๖    เรียนฟรี   มีรถรับส่งถึงบ้าน (โรงเรียนมีรถ ๔ คัน)   รับเฉพาะเด็กในพื้นที่    จึงเริ่มมีพ่อแม่ย้ายเข้ามาเพื่อให้มีสิทธิ์     รับชั้นละ ๒๕ คน    ขณะนี้มีนักเรียน ๑๙๘ คน    ครู ๑๖ คน    คัดเลือกนักเรียนโดยสอบภาษาไทยกับคณิตศาสตร์    หากสอบภาษาไทยไม่ผ่านไม่ต้องสอบวิชาอื่น    ท่านบอกว่ามีเด็กจำนวนมากที่เรียนจบ ป. ๖ อ่านหนังสือไม่ออก    ท่านไม่รับ เพราะจะเรียนไม่ได้    เด็กและครูต้องถือศีล ๕    และในวันพระ เด็กจะนอนค้างที่วัดและถือศีล ๘ ทำวัตร    ท่านบอกว่าเป็นกุศโลบายให้เด็กได้มีช่วงชีวิตที่ปราศจากโทรศัพท์มือถือและสิ่งเย้ายวนต่างๆ   

เราไปเยี่ยมชมวัด ที่มีสภาพเป็นวัดป่า     แต่มีไฟฟ้าพลังแสงแดดใช้  

ท่านบอกว่าคุณภาพของโรงเรียนยังไม่เป็นที่พอใจ  ยังต้องพัฒนาอีกมาก    ผมเกิดความคิดว่ามูลนิธิสยามกัมมาจลน่าจะให้ความร่วมมือกับท่าน โดยสนับสนุนให้ครูของโรงเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการเพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียน    รวมทั้งให้ทีมงานของมูลนิธิไปสังเกตชั้นเรียน และทำ reflection เพื่อการเรียนรู้ของครู    ให้ครูเก่งด้านการทำ PLC เพื่อเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู    รวมทั้งอาจไปจัด workshop พัฒนาครูเรื่องเทคนิคจัดการเรียนรู้อย่างที่ท่านอยากได้   

การคุยกันอย่างกันเองทำให้เราได้เห็นความเป็นตัวของตัวเองของท่าน    ไม่หลงหลวมตัวเข้าไปกับโครงการต่างๆ ที่มี “ผู้หวังดี” เอาเข้ามาให้โรงเรียนทำและเขียนรายงานเพื่อผลงานของตน    ท่านบอกว่าท่านไม่เข้าร่วมเพราะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทำอยู่แล้ว   

ผมกราบเรียนท่านว่า เรื่องราวการเรียนรู้ในชีวิตจริงของท่าน เป็น “การเรียนรู้ที่แท้”     คือเรียนจากการปฏิบัติตามด้วยโยนิโสมนสิการ (reflection)    ในขณะที่การเรียนในรูปแบบที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่ เป็น “การเรียนรู้เทียม”    หรือเป็นการเรียนรู้ที่เดินผิดทาง     ผมจึงเสนอให้ทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลไปถอดความรู้เรื่องวิธีเรียนรู้ตลอดชีวิตของท่านออกเผยแพร่ เพื่อเขย่าระบบการศึกษา     โดยทำเป็นคลิปออกเผยแพร่ทาง อินเทอร์เน็ต เป็นตอนๆ   

กลับมาที่บ้านผมเกิดคำถามว่า ท่านคิดอย่างไรจึงไม่ให้เด็กผู้ชายบวชเณรเพื่อเรียน    ผมเดาว่าท่านคงต้องการให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนสหศึกษา เป็นสังคมฆราวาสตามธรรมชาติ    ให้เด็กยังอยู่กับพ่อแม่ตามปกติ    และผมเกิดคำถามว่า โรงเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบอย่างไร         

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ย. ๖๒



1 ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ระหว่างเล่าเรื่องของโรงเรียน

2 ถ่ายขณะท่านบรรยาย

3 คณะที่ไปกราบขอความรู้

4 ทำบุญแบบมีมูลต่าเพิ่ม ตลอด ๒๕ ปี

5 จัดการศึกษาแบบมีอาชีพ

6 รับติดตั้งโซล่าร์เซลล์

7 ปลูกป่าในใจคน

8 ปลูกป่าตามทฤษฎีมิยาวากิ

9 แปลงดอกแกลดิโอลัส

10 นักเรียนทำนา

11 บรรยากาศในโรงเรียน

12 บันทึกเยี่ยมโรงเรียน

13 หลักการของโรงเรียนศรีแสงธรรม

14 บริเวณวัด

หมายเลขบันทึก: 674020เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2019 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2019 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นโรงเรียนที่สุดยอดในการจัดการศึกษา ชื่นชมผู้นำพาคือพระอาจารย์ที่ไม่เคยย่อท้อต่อปัญหา สร้างสรรนักเรียน ชุมชนสิ่งแวดล้อม นับเป็นบุญที่มีโอกาสได้เรียนรู้ดูการกระทำ กระทรวงศึกษาธิการ หรือบริษัทที่ต้องการทำ CSR ควรสนับสนุนส่งเสริมเต็มที่ค่ะ

การกระทำ​ การลงมือทำ​ การปฏิบัติ​ ให้รู้ให้เห็น​ แบบจริงๆ​เด็กๆและคนทั่วไปที่มีโอกาสสมัครเข้ามาเรียนหรืออบรมกับพระอาจารย์​ ย่อมรู้แจ้งเห็นจริง​ นำไปต่อยอดได้​ ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี​และภาคปฏิบัติ​ที่ได้รับจากโรงเรียนกินแดดหรือโรงเรียนโคกอีโด่ย​ที่ท่านชอบบอกเสมอๆมานี้​ เป็นความหวังเป็นความฝันที่จับต้องได้​ อยากให้ระบบการศึกษาของไทย​ เอาหลักสูตรพิเศษของท่านเข้าไปจัดการเรียนการสอนให้แก่ลูกหลานไทย​ หรือตอนนี้ยังไม่ได้ขอให้มีการตอบรับต้องการร่วมเป็นเครือข่ายจากโรงเรียนของท่าน โดยการขอสมัครเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความต้องการของชุมชนหรือโรงเรียนต่างๆเอง​ ภาพฝันการขยายเครือข่ายแบบค่อยเป็นค่อยไป​ จะมีความยังยืนยาวนาน​ ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์​ และท่านผู้เขียน​ เพราะมุมหนึ่งของประเทศไทยเรา​ มีแสงสว่าง​จุดประกายและขยายแสงสว่างออกไปเรื่อยๆแบบมั่นคงและยาวนานตลอดไป​ ???

การกระทำ​ การลงมือทำ​ การปฏิบัติ​ ให้รู้ให้เห็น​ แบบจริงๆ​เด็กๆและคนทั่วไปที่มีโอกาสสมัครเข้ามาเรียนหรืออบรมกับพระอาจารย์​ ย่อมรู้แจ้งเห็นจริง​ นำไปต่อยอดได้​ ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี​และภาคปฏิบัติ​ที่ได้รับจากโรงเรียนกินแดดหรือโรงเรียนโคกอีโด่ย​ที่ท่านชอบบอกเสมอๆมานี้​ เป็นความหวังเป็นความฝันที่จับต้องได้​ อยากให้ระบบการศึกษาของไทย​ เอาหลักสูตรพิเศษของท่านเข้าไปจัดการเรียนการสอนให้แก่ลูกหลานไทย​ หรือตอนนี้ยังไม่ได้ขอให้มีการตอบรับต้องการร่วมเป็นเครือข่ายจากโรงเรียนของท่าน โดยการขอสมัครเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความต้องการของชุมชนหรือโรงเรียนต่างๆเอง​ ภาพฝันการขยายเครือข่ายแบบค่อยเป็นค่อยไป​ จะมีความยังยืนยาวนาน​ ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์​ และท่านผู้เขียน​ เพราะมุมหนึ่งของประเทศไทยเรา​ มีแสงสว่าง​จุดประกายและขยายแสงสว่างออกไปเรื่อยๆแบบมั่นคงและยาวนานตลอดไป​ ???

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท