เที่ยวหลวงพระบางกับอ.สุภัชชา.แกมนาคตอนวัดเชียงทองคะ
วัดเชียงทองสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้เคยปกครองทั้งล้านนาและล้านช้างเมื่อราว พ.ศ. 2101 – 2103 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพระองค์จะย้ายเมืองหลวงไปยังเวียงจันทน์ไม่นาน วัดนี้ยังถือเป็น ‘วัดประตูเมือง’ และท่าเทียบเรือทางเหนือของตัวเมือง ซึ่งคนที่ใช้มีทั้งกษัตริย์และนักเดินทางชาวต่างชาติ ในบรรดาวัดวาอารามทั้งหมดต้องยกให้วัดเชียงทองเป็นวัดที่สำคัญและสวยงามที่สุด และได้รับการมาเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด "นักโบราณคดียกย่องว่าวัดเชียงทองเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว"
ที่สำคัญ วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดที่รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เผาผลาญเมืองใน พ.ศ. 2430 โดยฝีมือของพวกฮ่อมาได้อีกด้วย เรียกได้ว่านี่เป็นสิมหลังที่เก่าที่สุดภายในตัวเมืองเก่าหลวงพระบางเลย
พอไปถึงวัดเชียงทอง ที่แรกที่คุณควรจะต้องเดินไปชมก่อนก็คือ สิม หรืออุโบสถของวัดเชียงทอง สิมหลังนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นอัญมณีแห่งศิลปะล้านช้าง และกลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นหอพระบาง หรือแม้แต่ในบ้านเรา เช่น วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จังหวัดอุบลราชธานี หรือ วัดวังคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ สิมหลังนี้ถือเป็นตัวอย่างของสิมแบบหลวงพระบางที่ยังสมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดอีกด้วย
เอกลักษณ์ของสิมแบบนี้คือความอ่อนโค้งที่แตกต่างจากสิมแบบอื่นๆ ด้านนอกมีลายฟอกคำที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2471 เมื่อสิมได้รับการบูรณะ โดยข้างนอกจะมีทั้งภาพเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน เช่น พระสุธน-มโนราห์ ส่วนตรงประตูทางเข้าจะเป็นเรื่องการไหว้เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์
สิมวัดเชียงทอง หรือพระอุโบสถวัดเชียงทอง ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมล้านนา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำช่างหลวงไปจากเชียงใหม่ และได้ต้นแบบการสร้างมาจากวิหารวัดโลกโมฬีเชียงใหม่ราชอาณาจักรล้านนา สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน โดยสิ่งที่โดดเด่นคือหลังคาซ้อน 3 ตับ ซึ่งดัดอ่อนโค้งและลาดต่ำลงมามาก บนกลางสันหลังคามีการทำช่อฟ้าหรือ สัตตะบูริพัน อันเป็นการจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา หน้าบันแกะสลักเป็นรูปลายดอกตาเว็นหรือลายดวงอาทิตย์ สิมแห่งนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2471 บนผนังทั้งด้านนอกและด้านในประดับด้วยลายรดน้ำปิดทองบนพื้นสีดำ เรียกว่า "ลายฟอกคำ" ส่วนด้านหลังของสิมประดับด้วยภาพประดับกระจกสีเป็นภาพต้นทองคะ
ไม่มีความเห็น