BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา ๒ (จบ)


เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา

๕. วิภัชชวาท 

            คำว่า วิภัชชวาท ตามศัพท์แปลว่า กล่าวจำแนก (วิภัชชะ = จำแนก, วาทะ = กล่าว) หมายความว่า การที่เราจะตัดสินว่าการกระทำอะไรถูกหรือผิด จะต้องตรวจดูเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี ไม่สามารถเหมารวมหมดทุกเรื่องได้ ตามความเห็นของผู้เขียนหลักวิภัชชวาทของพระบรมศาสดาครอบคลุมเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมทั้งหมด โดยบางกรณีก็ยึดถือผลลัพธ์เป็นเกณฑ์ เช่น การครองผ้ากฐิน ตามพระวินัยบอกว่าคณะสงฆ์จะต้องพิจารณาให้แก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคล้ำคร่ามากที่สุด เพราะพิจารณาผลลัพธ์ว่าผู้ที่มีจีวรเก่ามากแล้วจะได้นำผ้ากฐินไปใช้แทนผืนเก่า ถ้าพระภิกษุที่มีจีวรเก่าคล้ำคร่ามากที่สุดพอๆ กันหลายรูป ก็ให้ผู้ที่มีพรรษามากกว่า และถ้ายังมีพรรษาเท่ากันอีก ก็ให้พิจารณาผู้มีปัญญามากกว่า เพราะเห็นสมควรว่าผู้มีปัญญามากกว่าสามารถกระทำกรรมได้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ และเป็นผู้มีประโยชน์ต่อคณะสงฆ์มากกว่า... ปัจจุบันพระภิกษุโดยมากจะไม่ขัดสนเรื่องผ้าจีวร ฉะนั้น ผ้ากฐินจึงนิยมให้เจ้าอาวาสหรือพระเถระที่ควรแก่การยกย่องรูปใดรูปหนึ่งในวัดเป็นผู้ครอง จะเห็นได้ว่าพระวินัยบัญญัติเรื่องการถวายผ้ากฐินโดยใช้ผลลัพธ์ของการกระทำเป็นเกณฑ์ตัดสิน

            ตามปรกติเมื่อมีงาน เราจะเห็นได้ว่าพระเถระหรือพ่อท่านจะนั่งเป็นประธานสงฆ์อยู่หัวแถว เมื่อเริ่มพิธีจะเป็นผู้ให้ศีลและนำสวดบทต่างๆ ตลอดประกอบพิธีอื่นๆ ลักษณะนี้พ่อท่านว่าอย่างไร ก็จะต้องทำตามพ่อท่าน ความเห็นของพ่อท่านถูกต้องเสมอ นั่นคือ พ่อท่านมีอำนาจ  วิธีการนี้เรียกว่า อำนาจคือความถูกต้อง แต่พระวินัยยังมีกรณีพิเศษที่พ่อท่านหรือท่านเจ้าคุณก็ไม่มีอำนาจเหนือผู้อื่น คือ การใช้เวจจกุฎี (ห้องส้วม) พระวินัยบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าใครไปถึงก่อนก็ได้ใช้ก่อน จะต้องเข้าแถวหรือต่อคิว ไม่ว่าจะเป็นสามเณรน้อยหรือพระเถระผู้ใหญ่ ไม่สามารถอ้างได้ว่าพระภิกษุต้องได้ก่อนสามเณร หรืออ้างไม่ได้ว่าพระเถระจะต้องได้ก่อนพระนวกะ พระวินัยบัญญัติลักษณะนี้สงเคราะห์ตามแนวคิดของนายคานต์ได้ แนวคิดนี้ผู้เขียนว่าถูกต้องที่สุด และถ้าผู้อ่านเห็นด้วยว่าการเข้าส้วมใครไปก่อนก็ได้เข้าก่อน แสดงว่าผู้อ่านต้องการให้การกระทำนี้เป็นกฎสากลหรือทุกคนจะต้องทำอย่างนั้น นั่นคือ ความเห็นของนายคานต์           

เวลามีอุปสมบทกรรมหรือการบวชนาค พระภิกษุทุกรูปที่ร่วมสังฆกรรมจะต้องเห็นชอบให้เจ้านาคบรรพชาและอุปสมบทได้ คือ จะต้องมีมติเป็น เอกฉันท์ อุปสมบทกรรมนั้นจึงจะสำเร็จ ถ้ามีพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดคัดค้านไม่เห็นด้วย อุปสมบทกรรมครั้งนั้นก็ไม่สำเร็จ จะเห็นได้ว่าอุปสมบทกรรมจะถูกต้องได้เพราะมีความเห็นเอกฉันท์เป็นหนึ่งเดียวของสงฆ์ ซึ่งแตกต่างจากความถูกต้องแบบประชาธิปไตยที่ยึดถือความเห็นของเสียงข้างมากเป็นหลักในการตัดสินความถูกต้อง แต่ในการระงับอธิกรณ์หรือเรื่องราวที่เกิดในคณะสงฆ์บางอย่างก็ใช้เสียงข้างมากเหมือนระบอบประชาธิปไตย เรียกตามภาษาวินัยว่า เยภุยยสิกา แปลว่า การถือเอาความเห็นโดยมากเป็นเกณฑ์ มี การเลือกให้พระภิกษุรูปใดทำหน้าที่แจกภัตร หรือทำหน้าที่เฝ้าของสงฆ์ เป็นต้น

            ตามตัวอย่างที่เสนอมาเกี่ยวกับกับธรรมเนียมปฎิบัติของสงฆ์ แสดงให้เห็นแนวคิดแบบวิภัชชวาทได้อย่างชัดเจน ว่าเลือกใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี ไม่ได้ยึดถือเอาผลลัพธ์ เจตนา หรืออำนาจบุคลอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกต้องจริงๆ เช่น ถ้ายึดถืออำนาจของพ่อท่านว่าเป็นสิ่งถูกต้อง เราเห็นได้ว่าบางครั้งพ่อท่านก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกต้องเพราะท่านอายุก็มาก ความคิดความอ่านของท่านบางอย่างก็ไม่ทันเด็กหรือพระหนุ่มๆ หรือถ้ายึดถือเอาความเห็นเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์แบบเยภุยยสิกาหรือประชาธิปไตย เราก็เห็นได้ว่ามีบ่อยครั้งที่ระบบนี้กลายเป็นระบบ พวกมากลากไป ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ยังช่วยกันลากไป จนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาภายหลังมากมาย ฉะนั้น วิภัชชวาทจึงอาจยึดถือเป็นหลักการไม่ได้ เพราะรู้ได้ยากว่าถูกต้องจริงๆ หรือไม่ พระพุทธเจ้าจึงได้วางหลักการให้เราตรวจสอบว่าอย่างไรถูกต้อง อย่างไรไม่ถูกต้อง ไว้รองรับหลักวิภัชชวาทอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า หลักตัดสินพระธรรมวินัย คือ หลักการตรวจสอบว่าสิ่งนั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ มี ๘ ประการ ดังนี้

๑)     วิราคะ คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่ยึดติด เป็นอิสระ

๒)     วิสังโยค คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความหมดเครื่องผูกรัด ไม่ประกอบทุกข์ สลัดออกจากทุกข์

๓)     อปจยะ คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความไม่สั่งสม ไม่พอกพูนกิเลส

๔)     อัปปิจฉตา คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความอยากอันน้อย ความมักน้อย

๕)     สันตุฎฐี คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความสันโดษ ยินดีตามมีตามได้

๖)     ปวิเวก คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความสงัด ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ

๗)     วิริยารัมภะ คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความเพียร ขยัน ไม่เกียจคร้าน

๘)     สุภรตา คือ การกระทำนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย มิใช่เป็นผู้เลี้ยงยาก

            ถ้าเราตรวจสอบแล้วการกระทำนั้นๆ เป็นไปตามหลักการนี้ ก็ให้มั่นใจได้ว่าถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แต่ถ้าขัดแย้งกับหลักการนี้ ก็แน่ใจได้ว่าผิดหรือขัดแย้งกับคำสั่งสอนตามหลักพระพุทธศาสนา

            เล่ามาตามนี้บางท่านอาจค้านอยู่ในใจว่าเป็นการยุ่งยากที่จะยึดถือหรือปฎิบัติได้ เพราะฉันยังมีกิเลสอีกเยอะ ฉันจะต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว ถ้าไม่อยากได้ ไม่รีบกอบโกย ไม่สั่งสมไว้เยอะๆ จะเอาอะไรกินในยามแก่เฒ่า... ฉันทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยมามากแล้ว เมื่อยามว่างหรือจุดหนึ่งของชีวิต ฉันก็ควรทำอะไรตามใจชอบให้รางวัลแก่ตัวเองบ้างซิ... หรือ อยู่คนเดียวเปล่าเปลี่ยวเอกา ฉันก็ควรสนุกสนานกับเพื่อนๆ บ้างซิ ... อะไรทำนองนี้ เรื่องนี้เราจะต้องตรวจสอบและพิจารณาให้รอบคอบ เพราะตามหลักการนี้เป็นแต่เพียงเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าการกระทำแบบไหนหรืออะไรถูกหรือผิดเท่านั้น ส่วนในการดำเนินชีวิตจริงๆ เราก็จะต้องมีแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เรามีความเป็นอยู่ของชีวิตที่มั่นคง ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัส อปัสเสนธรรม ไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีความมั่นคง คำว่า อปัสเสนะ แปลว่า พนักพิง อปัสเสนธรรม หมายความว่าหลักธรรมที่ทำให้ความเป็นไปในการดำเนินชีวิตมีความมั่นคง เหมือนกับเรานั่งเก้าอี้ที่มีพนังพิง ย่อมนั่งได้อย่างมั่นคง สามารถนั่งได้นาน และได้รับความสบายกว่าการนั่งเก้าอี้หัวล้านที่ไม่มีพนักพิงนั่นเทียว อปัสเสนธรรมนี้มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ

๑)     บางสิ่งบางอย่างพิจารณาแล้ว เสพ

๒)     บางสิ่งบางอย่างพิจารณาแล้ว อดกลั้น

๓)     บางสิ่งบางอย่างพิจารณาแล้ว เว้น

            ๔)    บางสิ่งบางอย่างพิจารณาแล้ว บรรเทา

          คำว่า เสพ รวมความอาการที่แสดงออกทั้งหมด เช่น กิน ดื่ม พูด ทำ ซื้อ ใช้สอย ฯลฯ หมายความว่า บางอย่างให้เราพิจารณาตรวจสอบเสียก่อนแล้วจึงเสพ เช่น การกิน ถ้าของนั้นเหมาะสมมีประโยชน์ ไม่มีโทษ เหมาะสมกับวัยของเรา ก็กินได้ หรือเราเข้าไปซื้อของในตลาด ถ้าว่าของนั้นจำเป็นที่จะต้องซื้อ เหมาะสมกับฐานะของเรา ก็ซื้อได้ ฯลฯ แต่ถ้าพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าของนั้นไม่เหมาะสมกับเราหลายประการ ก็อดกลั้นเสีย อย่ากิน หรืออย่าซื้อ ฯลฯ

คำว่า อดกลั้น หมายถึงเว้นในครั้งนั้นหรือเฉพาะกรณี ต่อไปเมื่อเหมาะสมเราก็ไม่จำเป็นต้องอดกลั้น เช่น วันนี้ปลายเดือน ไม่ค่อยมีเงิน อยากกินทุเรียนหมอนทอง แต่ราคาแพง ก็ อดกลั้น คือไม่ต้องซื้อกิน แต่ถ้าต้นเดือน เงินเดือนออก ก็ซื้อกินได้ ไม่จำเป็นต้องอดกลั้น ถือว่าเป็นการให้รางวัลแก่ชีวิต อะไรทำนองนี้...

แต่ การเว้น หมายถึงการตัดขาดไม่แตะต้องหรือยุ่งเกี่ยวเลยเพราะพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมโดยประการทั้งปวง เช่น ยาเสพติด หรือยาพิษ ฯลฯ

ส่วนประการสุดท้ายคำว่า บรรเทา หมายความว่าทำให้น้อยลง เช่น อยากกินทุเรียนหมอนทองปลายเดือน แต่เงินมีน้อย ถ้าอดอยากไม่ได้ก็ให้ซื้อลูกเล็กๆ หรือซื้อทุเรียนบ้านกินก็ได้ เพราะราคาถูกกว่า อะไรทำนองนี้...

            จะเห็นได้ว่าหลักอปัสเสนธรรมเราเป็นผู้กำหนดการกระทำทั้งหมดว่าอย่างไรถูกหรือผิด สมควรหรือไม่ และไม่ตายตัวเพราะมีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสมอยู่ในตัวเอง จะทำให้การดำเนินชีวิตมีความมั่นคงดุจดังนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงฉะนั้น อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินชีวิตโดยใช้อปัสเสนธรรมยังขาดอุดมคติแห่งชีวิต และไม่สามารถเชื่อมกับหลักตัดสินธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าได้ ดังนั้น เราจะต้องมีความเพียรคือความมุ่งมั่นทางใจบางอย่างที่สามารถนำไปเชื่อมกับหลักอุดมคติชีวิตของพระพุทธเจ้าได้ ความเพียรนี้ตั้งไว้เป็นประธานคือหัวหน้าในการดำเนินชีวิต เรียกตามภาษาพระว่า ปธานธรรม มี ๔ ประการด้วยกัน คือ

๑)     สังวรปธาน เพียรมุ่งมั่นระวังมิให้อกุศลหรือความชั่วเกิดขึ้นในสันดานของเรา

๒)     ปหานปธาน เพียรมุ่งมั่นกำจัดอกุศลหรือความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

๓)     ภาวนาปธาน เพียรมุ่งมั่นสร้างสมกุศลหรือความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

๔)     อนุลักขณาปธาน  เพียรมุ่งมั่นสะสมกุศลหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงาม

          ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็จะไม่ตกต่ำหรือเราจะไม่ถอยหลังเข้าคลอง เราเดินไปใกล้อุดมคติสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา คือ การสิ้นอาสวกิเลส ซึ่งได้แก่พระนิพพาน มากยิ่งขึ้น ๆ เพราะ พระนิพพาน คือ การสิ้นอาสวกิเลส ส่วนผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสเรียกว่า พระอรหันต์ ดังนั้น เราชาวพุทธฯ จะทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งจึงนิยมกล่าวคำอธิษฐานว่า

            อิทัง ทานัง อาสวักขยวหัง โหตุ อนาคเต กาเล แปลว่า ขอทานนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลสในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น เทอญ.  หรืออีกสำนวน

            อิทัง ทานัง นิพพานปัจจโย โหตุ อนาคเต กาเล แปลว่า ขอทานนี้ จงเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น เทอญ.

            ความหมายของคำก็เหมือนกัน เพราะการสิ้นอาสวกิเลสก็คือพระนิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติชีวิตสูงสุดของพุทธศานิกชน

๖. จริยศาสตร์คุณธรรม           

ส่วนในการดำเนินชีวิตทั่วไปนั้น สังคมพระพุทธศาสนายกย่องพระภิกษุว่าเป็นตัวแทนของชีวิตในอุดมคติหรือตัวแทนของความดีความถูกต้อง เราจะเห็นได้ว่าในสังคมฆราวาสหรือผู้ครองเรือนจะมีสำนวนว่าคนโน้นคนนี้อยู่ เหมือนพระ หรือคนนั่นเป็น คนธัมมธัมโม ซึ่งโดยมากคนที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นอยู่เหมือนพระหรือเป็นคนธัมมธัมโมนั้น จะเป็นคนดีตามอุดมคติของชาวพุทธจริงๆ ฉะนั้น การกระทำที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาเราสามารถเลียนแบบความเป็นอยู่ของพระได้ โดย พระลูกชาวบ้าน จะเป็นตัวแทนทางศีลธรรมในชีวิตจริง ส่วน พระอรหันต์ จะเป็นตัวแทนทางศีลธรรมในอุดมคติ           

ในจริยศาสตร์ตะวันตกก็มีแนวคิดทำนองนี้เช่นกันและกำลังมาแรงที่สุด เพราะจริยศาสตร์ที่ใช้ผลลัพธ์เป็นเกณฑ์บรรดามี หรือใช้เจตนาดีเป็นเกณฑ์ตามของนายคานต์ก็ตาม ไม่สามารถตอบสนองหรือแก้ปัญหาสังคมตะวันตกได้ แนวคิดนี้เรียกว่าจริยศาสตร์คุณธรรม ซึ่งใช้ ตัวแทนทางศีลธรรม เป็นเกณฑ์ โดยเรียกว่า นักบุญ หรือ วีรบุรุษ 

อันที่จริง แนวคิดนี้ก็มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโปราณ แต่เพิ่งกลับมาดังอีกเมื่อไม่นานมานี้เอง เช่น นายมาโยนักปรัชญาชาวอังกฤษได้โจมตีการใช้ผลลัพธ์หรือใช้เจตนาดีเป็นเกณฑ์ โดยรวมเรียกว่า ทฤษฎีหลักการ ว่าไม่สามารถใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เพราะใช้หลักการมาอธิบายและตัดสินว่าการกระทำนั้นๆ ผิดหรือถูกจากทำถามว่า ฉันควรจะทำอะไร?” แต่ในการดำเนินชีวิตจริงๆ แล้ว คนทั่วไปจะไม่สนใจเรื่องนี้ พวกเขาจะมองเห็นใครบางคนที่ตัวเองยอมรับ ยกย่อง ศรัทธา เลื่อมใส ซึ่งคนที่ตัวเองยอมรับนี้แหละเรียกว่า นักบุญ หรือ วีรบุรุษ และก็อยากเป็นเช่นนั้นบ้าง ดังนั้น จึงพัฒนาบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยให้เหมือนกันกับนักบุญหรือวีรบุรุษในใจของตน นั่นคือ การดำเนินชีวิตของคนทั่วไปจึงพัฒนาปรับปรุงบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นเหมือนแบบนักบุญหรือวีรบุรุษในอุดมคติของตน เพราะฉะนั้น คนทั่วไปจึงดำเนินชีวิตมาจากคำถามว่า ฉันควรจะเป็นอะไร ? มิใช่มาจากคำถามว่า ฉันควรจะทำอะไร?

            แต่จริยศาสตร์คุณธรรมนี้ก็ถูกโจมตีเช่นเดียวกัน เช่น นายแฟรงเกนานักปรัชญาจากอเมริกาคัดค้านว่า อุปนิสัยปราศจากหลักการก็เป็นสิ่งมืดบอด แต่หลักการแม้ปราศจากอุปนิสัยก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า คนเรานั้นมีปัญญาหรือความเฉลียวฉลาดไม่เท่าเทียมกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้น ใครจะมาเป็นนักบุญหรือวีรบุรุษให้เราได้ ถ้าเราเลือกเองตามความพอใจ เราก็อาจเลือกผิดก็ได้ คนที่เป็นลูกขอทานเติบโตมาจากกองขยะและใต้สะพานลอย คนที่พ่อแม่ทิ้งไว้ในวัดให้พระเลี้ยงตั้งแต่แบเบอะ คนที่ถูกส่งไปเนสเซอรี่หรือสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน จากนั้นก็ถูกส่งไปโรงเรียนกินนอน โรงเรียนฝรั่ง และให้ไปเรียนต่ออเมริกา คนเกิดในเมืองใหญ่ๆ คนเกิดในสวนยางกลางป่า คนเกิดในเกาะกลางทะเลสาบสงขลา ฯลฯ เรามั่นใจได้หรือไม่ว่าคนเหล่านี้จะเลือกตัวแทนทางศีลธรรมของพวกเขาที่เป็นคนดีมีคุณธรรมได้เหมือนกัน ฉะนั้น จะต้องมีหลักการในการตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด ใช้ตัวแทนทางศีลธรรมไม่ได้...

 ๗.ปัญหาจริยธรรมปัจจุบัน

            ตามที่นำเสนอมาจะเห็นได้ว่า หลักวิภัชชวาทในการตัดสินการกระทำนั้นๆ ว่าถูกหรือผิด  และระบบตัวแทนทางศีลธรรมในชีวิตจริงคือพระลูกชาวบ้าน รวมทั้งตัวแทนศีลธรรมในอุดมคติคือพระอรหันต์ในสังคมพระพุทธศาสนา สามารถครอบคลุมความขัดแย้งเกณฑ์จริยธรรมเหล่านี้ได้ทั้งหมด แต่ สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารคือสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาย่อมไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน สังคมก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยที่มาเกื้อหนุนหรือบั่นทอน ดังนั้น สังคมปัจจุบันจึงยึดถือคำตัดสินการกระทำที่ถูกหรือผิดตามหลักกฎหมายบ้านเมือง  ซึ่งใครหรือชนกลุ่มใดเป็นผู้ออกกฎหมาย ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมหรือเอื้อผลประโยชน์แก่คนนั้นหรือชนกลุ่มนั้น ปรากฏการณ์ทางสังคมคือมีฝูงชนหรือม็อบประท้วงเรื่องกฎหมายไม่เป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวแทนทางศีลธรรมปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน โทรทัศน์ได้เข้ามาแทนที่ธรรมาสน์ (เก้าอี้ตัวใหญ่ให้พระนั่งเทศน์) พวกเด็กๆ กลุ่มเยาวชน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง จึงเลือกตัวแทนทางศีลธรรมของเขาผ่านทางโทรทัศน์ แนวคำสอนจริยธรรมปัจจุบันจึงตามไม่ทันสังคม ดังนั้น สังคมหรือมวลมนุษย์โลกก็ต้องแก้ปัญหากันเรื่อยไป...

            ผู้เขียนได้เล่าเรื่องต่างๆ มาพอสมควรแล้ว คิดว่าน่าจะจบได้แล้ว แต่บางคนอาจยังสงสัยว่า หญิงสาวซึ่งหนีการทำมิดีมิร้ายเข้ามาในวัดและให้ซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำนั้น เมื่อพวกวัยรุ่นเข้ามาถาม เราจะตอบอย่างไร เรื่องนี้จะไม่ขอตอบเพราะเป็นเรื่องสมมติ มิใช่เรื่องจริง แต่มีแนวทางปฎิบัติซึ่งพ่อท่านในอดีตเคยทำมาและเล่าต่อกันไว้ เรื่องมีอยู่ว่า ดึกแล้ว พ่อท่านนั่งภาวนาอยู่ภายในวัด ต่อมาก็มีพวกโจรขโมยวัวได้จูงวัวผ่านมาทางข้างวัด เห็นพ่อท่านก็ยกมือไหว้พรางบอกว่า ถ้าใครถามก็อย่าบอกว่าผมจูงวัวมาทางนี้ แล้วก็จูงวัวผ่านไป พ่อท่านนั่งคิดอยู่นิดหนึ่งแล้วก็ลุกขึ้น ขยับไปนั่งอีกที่หนึ่ง ต่อมาไม่นานพวกตามโจรตามวัวก็ผ่านมา ยกมือไหว้พรางถามว่า พ่อท่านนั่งอยู่แถวนี้นานหรือ ? พ่อท่านตอบว่า เออ! กูนั่งอยู่แถวนี้นานแล้ว พวกเจ้าของวัวก็ถามว่า เห็นใครจูงวัวผ่านมาทางนี้บ้าง พ่อท่านตอบว่า ตั้งแต่กูนั่งตรงนี้ ยังไม่เห็นใครผ่านมาเลย เป็นอันว่าพ่อท่านมิได้ผิดศีลเพราะข้อมุสา เพราะได้ลุกขึ้นแล้วนั่งที่ใหม่แล้ว แนววิธีตอบอย่างนี้ตามภาษาพระวินัยเรียกว่า กัปปิยโวหาร คือ ให้ใช้โวหารสมควรกับสถานการณ์ ถ้าเรื่องที่สมมติขึ้นเป็นจริงวันใด ผู้เขียนก็คงใช้กัปปิยโวหารคล้ายๆ กับพ่อท่านรูปนี้

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม ( โภชนุกูล)25/9/2545       

หมายเลขบันทึก: 67330เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระอาจารย์

บางอารมณ์ ผมว่าผมเข้าใจความจำเ ป็นว่าทำไ มสมัยก่อน ถึงต้องจำกัดความรู้อยู่เฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ เพราะยิ่งคนรู้มากก็ยิ่งวุ่นวายมาก และระบบการผลิตการกระจายปัจจัย ๔ สมัยนั้นก็ยังไม่พัฒนาปละมีประสิทธิภาพการผลิตเ พียงพอ ถึงขั้นที่จะรองรับความวุ่นวายได้

แต่ปัจจุบันระบบมันก็พัฒนา(มันรกขึ้นรกขึ้น) จนถึงว่าถ้าไม่วุ่นวายมากๆ ระบบทุนก็อยู่ไม่ได้ เคยฟังมาว่าเศรษฐกิจอเมริกาบางทีมันแย่ๆ แล้วก็ไปก่อสงคราม พอก่อสงครามก็กระตุ้นเศรษฐกิจจนทำให้ทุกคนมีงานทำกันได้ ก็แปลกดี ก็มันดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท