เพื่อความสำเร็จของการนำ KM ไปใช้ในระยะเริ่มต้น สอศ. นำทีมโดย ดร.พินิจ จันทร์กระจ่าง ที่ปรึกษาโครงการ และ ดร. สุริยะ เจียมประชานรากร ผู้ประสานงานโครงการ พร้อมด้วยทีมคณะทำงาน KM ของ สอศ. ขอเข้าหารือ สคส. โดยมี ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ, ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด และ ธวัช หมัดเต๊ะ เข้าร่วมประชุม
คณะทำงานได้รวบรวมรายชื่อครูอาชีวศึกษาที่ส่งใบสมัครขอเข้าร่วมโครงการ แต่จากการพิจารณาเห็นว่า คุณสมบัติที่เขียนมานั้น ยังไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการตามกระบวนการ KM เดิมแนะนำว่าให้ผู้สมัครเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ที่สำเร็จ หรือภูมิใจส่งมา แต่ที่ส่งมานั้นเป็นการเขียนออกแนววิชาการบ้าง หรือเป็นรายการสอนอาชีพให้แก่ชาวบ้านที่เคยทำมาว่ามีจำนวนกี่ครั้ง ที่ไหนบ้าง เนื่องจากว่าเรื่องเล่าความสำเร็จ ถือว่าเป็น"วัตถุดิบ" ที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้ในขั้นตอนการดึงความรู้จากประสบการณ์ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น เรื่องเล่าที่มีรายละเอียดว่าทำอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างในขณะนั้น หรือ know-how นำไปสู่ความสำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง เพื่อให้มั่นใจก่อนเริ่มงานว่าคนที่เข้าร่วมต้องมีเรื่องเล่าความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนได้ทุกคน จึงจำเป็นต้องมีขั้นตอนการคัดเลือกดังกล่าว
ซึ่งทางคณะทำงาน KM - สอศ. รับปากว่าจะกลับไปสอบถามเพิ่มเติมเพื่อหาคนที่ประสบการณ์ดังกล่าว จำนวน 40 คนในรุ่นที่ 1 ได้ครบและทันตามเวลา ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤศจิกายน 2548 จัดขึ้นที่ โรงแรมโรยัล ซิตี้ ปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สคส. เน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ควรยึด คนที่ได้คุณภาพ เป็นฐานในช่วงเริ่มต้น ไม่เช่นนั้น จะเห็นเพียงแสงวูบวาบในช่วงเรก แล้วค่อยๆมืดหายไปในที่สุด อย่างหลายๆโครงการที่เห็นกันเกลื่อนตา แต่ก็ยังมีวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม จนเกือบจะเป็น "รอยถาวร" ไปแล้ว