BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

๔. สมภารเจ้าวัด : ที่มา


สมภารเจ้าวัด

๔. สมภารเจ้าวัด : ที่มา               

คำว่า ที่มา หมายถึง ลำดับขั้นตอนการเป็นเจ้าอาวาสในเมื่อมีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบแล้ว ผู้เขียนได้เกริ่นไว้เบื้องต้นว่า เคยได้ยินพระเถระรูปหนึ่งพูดว่า บรรดาตำแหน่งพระสังฆาธิการนั้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสยุ่งยากที่สุด ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้น เราลองไปพิจารณาดูว่า ยุ่งยากเพราะเหตุอะไร? และการที่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบปัจจุบันนั้น ทำให้ดีขึ้นหรือสะท้อนเรื่องราวอื่นๆ ในทางสังคมได้อย่างไรบ้าง               

ตามธรรมดาวัดทั่วๆ ไป (ไม่นับพระอารามหลวง วัดร้าง หรือวัดที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมา) ว่างเว้นจากสมภารด้วยกรณีหนึ่งกรณีใด เช่น มรณภาพ ลาออก หรือลาสิกขา เป็นต้น ด้วยอำนาจเจ้าคณะตำบลจะตั้งพระภิกษุในวัดบางรูปรักษาการแทนชั่วคราว ซึ่งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการนี้ โดยมากมักจะเป็นรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระเถระผู้มีพรรษาสูงสุดภายในวัด และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสนี้เองคือผู้ที่จะรั้งตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปต่อไป ตอนตั้งรักษาการนี้โดยมากมักจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบล แต่ก็ได้ยินข่าวเหมือนกันว่า บางครั้งปัญหาเริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่โยงใยมาถึงผู้เขียนด้วย                

พระครูพิพัฒน์นวการ (เจ้าเสริญ) เจ้าอาวาสวัดท่าแซได้ถึงแก่มรณภาพ ในวัดปิดหีบศพเพื่อรอจัดงานพระราชทานเพลิง เมื่อจะมีการแต่งตั้งพระปรีชา เป็นรักษาการเจ้าอาวาสก็มีปัญหาเกิดขึ้น กล่าวคือ ชาวบ้านบางส่วนคัดค้านด้วยเหตุผล ๑, ๒, ๓, ๔ ... จึงไม่สามารถจัดตั้งได้ ก็มีการสืบหาศิษย์วัดท่าแซที่ยังบวชอยู่และมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ ก็มีการอ้างถึงผู้เขียน สอบถามก็รู้ว่าผู้เขียนไปเรียนบาลีอยู่กรุงเทพฯ ท่านเจ้าคณะอำเภอหาดใหญ่จึงดำเนินการชะลอเรื่องราวไว้ โดยรักษาการแทนไว้ก่อน เมื่อผู้เขียนกลับมาจากกรุงเทพฯ ทราบข่าวและได้รับการทาบทามให้ไปเจ้าอาวาส ผู้เขียนก็บอกว่า ถ้าเห็นว่าไม่มีปัญหาและเป็นการเหมาะสมก็ยินดี เนื่องจากผู้เขียนก็บวชที่นั้นและเป็นศิษย์วัดท่าแซมาตั้งแต่เด็กๆ เพียงแต่ว่ามิได้เป็นคนพื้นเพที่นั้นเท่านั่น เรื่องราวก็คาราคาซังมาเรื่อย จนกระทั้งถึงวัดพระราชทานเพลิงศพก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นเจ้าอาวาส ผู้เขียนจึงไปเรียนต่อปริญญาโทตามที่สมัครสอบไว้ ประมาณปีหนึ่งก็ทราบข่าวว่าได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดท่าแซเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นพระปรีชารูปเดิมนั้นเอง               

ผู้เขียนได้ฟัง พระเถระรูปหนึ่งวิจารณ์ว่า ปัญหาเรื่องการแต่งตั้งสมภารวัดท่าแซเป็นความผิดของเจ้าเสริญหรือท่านพระครูพิพัฒน์นวการอดีตเจ้าอาวาส เพราะท่านได้จัดสร้างสวนยางพาราขึ้นในที่ธรณีสงฆ์ของวัด ซึ่งมีผลผลิตวันละประมาณร้อยแผ่นหรือร้อยกิโลนี้แหละ (ไม่ค่อยแน่ใจ) ถ้าไม่มีเรื่องสวนยางของวัด การแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดท่าแซครั้งนี้คงจะไม่มีปัญหา ตามความเห็นของพระเถระรูปนี้บ่งชี้ว่า การแต่งตั้งเจ้าอาวาสหรือรักษาการบางครั้งจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์วัดเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือ ข้อเท็จจริงของสังคมปัจจุบัน               

จะเห็นได้ว่า ที่มาหรือขั้นตอนการเป็นสมภารเจ้าวัดเริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการ ฉะนั้น เรามาตรวจสอบดูว่า ตามระเบียบกฎมหาเถรสมาคมได้วางระเบียบการรักษาการไว้อย่างไร                

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ซึ่งว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการเจ้าอาวาสโดยเฉพาะ (ผู้สนใจระเบียบการลองไปพลิกอ่านดู ผู้เขียนจะรวมความมาเล่าเพียงสั้นๆ เท่านั้น) ซึ่งการแต่งตั้งผู้รักษาการเจ้าอาวาสมี ๒ กรณีใหญ่ๆ คือ               

๑) กรณีเจ้าอาวาสไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เช่น ไม่อยู่ หรืออาพาธ เป็นต้น กรณีนี้ ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แต่งตั้งพระภิกษุผู้เหมาะสมรักษาการแทน ถ้าเจ้าอาวาสไม่สามารถแต่งตั้งได้ก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลเป็นผู้แต่งตั้งแทน ผู้รักษาการเจ้าอาวาสตามนัยนี้จะสิ้นสุดเมื่อเจ้าอาวาสสามารถกลับมาปฏิบัติงานได้ตามปรกติ กรณีแรกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะเจ้าอาวาสยังอยู่และไม่นานก็จะกลับมาปฏิบัติงานตามเดิมนั่นเอง                

๒) กรณีไม่มีเจ้าอาวาส เช่น เจ้าอาวาสรูปเดิมมรณภาพ ลาออก หรือลาสิกขา เป็นต้น เมื่อไม่สามารถแต่งตั้งเจ้าอาวาสได้ทันที ให้เจ้าคณะตำบลเป็นผู้แต่งตั้งรักษาการแทนเจ้าอาวาสโดยพิจารณาจากรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือพระภิกษุรูปใดก็ได้ตามที่เห็นสมควร               

ตามกรณีที่สองนี้ เมื่อไม่มีปัญหาอะไรก็ให้ดำเนินการแต่งตั้งเจ้าอาวาสภายในเวลาไม่เกินหนึ่งปี แต่ถ้าท้องที่กันดารไม่สามารถหาพระภิกษุมีพรรษาพ้น  ๕ ได้ ก็ให้รักษาการเกินกว่าหนึ่งปีได้ จนกระทั้งมีพระภิกษุพรรษาพ้น ๕ จึงค่อยดำเนินการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส อนึ่ง ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสนี้ จะต้องทำเป็นหนังสือ               

เมื่อพิจารณาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่า พระภิกษุผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการฯ มักจะได้เป็นสมภารเจ้าวัดรูปต่อไปค่อนข้างแน่นอน แต่ก็มิใช่ว่าจะเสมอไป ผู้เขียนเคยรับทราบและได้รับฟังมาหลายครั้งถึงกรณีที่ผู้รักษาการฯ ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น บางรูปไปอยู่ระยะหนึ่งก็เข้ากับชาวบ้านไม่ได้ บางรูปเกิดขัดแย้งกับพระสังฆาธิการระดับสูงขึ้นไป หรือบางรูปก็ลาออกเพราะรู้สึกว่าการเป็นเจ้าอาวาสไม่เหมาะสมกับอุปนิสัยของตัวเองดังนี้ก็มี บางครั้งก็มีเรื่องเล่าที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่นมีการกล่าวหาหรือใส่ร้ายป้ายสีผู้รักษาการฯ เพราะมีผู้ต้องการจะเป็นเองหรือต้องการจะให้ใครบางรูปขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทนผู้ที่รักษาการฯ เป็นต้น และบางวัดมีปัญหาภายในซึ่งอาจเป็นเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ของวัดไม่ลงตัว หรือการแบ่งแยกอำนาจภายในไม่สมดุล ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้ต้องเปลี่ยนผู้รักษาการฯ ไปเรื่อยๆ หลายๆ รูป และหลายๆ ปี กว่าจะแต่งตั้งเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการได้

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพิจารณากฎมหาเถรฯ ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการฯ ก็ทราบว่าก่อนที่จะมาถึงฉบับที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๕๓๖) นี้ ได้ยกเลิกฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๑๓) ฉบับที่ ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ. ๒๕๒๑) และฉบับที่๑๐ แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ศ.๒๕๓๑) เรื่องนี้บ่งชี้ว่าการแต่งตั้งผู้รักษาการฯ คงจะมีปัญหาในระเบียบปฏิบัติอยู่เสมอนั่นเอง 

ในส่วนของการแต่งตั้งเจ้าอาวาสก็เช่นเดียวกันได้ยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมอยู่เสมอ เฉพาะกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ได้มีบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบไว้เบื้องต้นในข้อที่ ๔ ว่า

เนื่องจากการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวง เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลนั้นกับเจ้าคณะอำเภอปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัดนั้น พิจารณาคัดเลือก มักเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ฉะนั้น จึงเห็นสมควรให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะผู้ปกครองเจ้าสังกัดโดยตรงร่วมกันพิจารณาคัดเลือก

นั่นคือ เหตุผลในการยกเลิกระเบียบเก่ามาใช้ระเบียบใหม่ ฉะนั้น เราจะไปดูกันว่า ตามระเบียบเก่ามีวิธีการอย่างไร และการยกเลิกของเก่ามาใช้ของใหม่นั้น สะท้อนให้เห็นซึ่งอะไรได้บ้าง โดยผู้เขียนจะเล่าเป็นนิทานสมมติจากหลายๆ เรื่อง ที่เคยได้ยินได้ฟังมา

 ตี่ต่างว่า วัดศรัทธาประชานิยมว่างเจ้าอาวาส และมีพระสมุห์บุญเลิศเป็นผู้รักษาการฯ โดยมีพระใบฏีกาบุญนำอีกรูปหนึ่งเป็นพระเถระภายในวัดซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ เมื่อจะแต่งตั้งเจ้าอาวาสก็จะมีการประกาศแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด และบอกกล่าวญาติโยมซึ่งเป็นทายกทายิกาของวัดเป็นการล่วงหน้า ให้มาร่วมประชุมกันตามวันเวลาเพื่อจะเลือกเจ้าอาวาส ครั้นเมื่อถึงกำหนดวัน เจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอจะมาร่วมเป็นประธาน ส่วนคณะทายกทายิกาของวัดและพระภิกษุสามเณรภายในวัดก็จะมาร่วมประชุมกันเพื่อลงคะแนนเสียงว่าจะเลือกใครเป็นเจ้าอาวาส เรื่องนี้ถ้ามีการตกลงกันก่อนแล้วก็มักจะไม่มีปัญหา เช่น พระสมุห์บุญเลิศขอถอนตัวโดยอ้างว่าพระใบฏีกาบุญนำเป็นผู้อาวุโสกว่าท่าน และขอเสนอให้พระใบฏีกาบุญนำเป็นเจ้าอาวาส เรื่องก็คงจะเป็นไปโดยความเรียบร้อย แต่บางครั้งบางคราวก็มีปัญหาเกิดขึ้น ดังเรื่องราวต่อไปนี้ 

พระสมุห์บุญเลิศนั้นมิใช่คนในหมู่บ้านที่เรียกกันว่า มิใช่ลูกที่ลูกหม้อหรือมิใช่ไผ่กลางกอ บ้านเดิมของท่านอยู่อีกตำบลหนึ่งเพียงแต่ได้ย้ายมาเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่วัดนี้นานแล้วเท่านั้น ส่วนพระใบฏีกาบุญนำบ้านอยู่ข้างวัด บวชแล้วก็ไปอยู่ที่อื่นและเพิ่งกลับมาอยู่วัดบ้านเกิดในเวลาไม่นานนักโดยหวังว่า จะกลับมาเป็นสมภารบ้านเกิดเพื่อช่วยพัฒนาวัดเดิมตามที่คิดไว้ นั่นคือ ต่างคนก็อยากจะเป็นสมภารและต่างก็มีสมัครพรรคพวกทั้งชาววัดและชาวบ้านสนับสนุน เมื่อถึงวันกำหนดเลือกสมภารเจ้าวัด พระสมุห์บุญเลิศก็มีสมัครพรรคพวกมาจากบ้านเกิดร่วมสนับสนุนหลายคันรถ และเมื่อกะประมาณแล้วก็น่าจะมีมากกว่าของพระใบฎีกาบุญนำ ฝ่ายสมัครพรรคพวกของพระใบฎีกาบุญนำพิจารณาแล้วจะสู้ไม่ได้จึงไปเกณฑ์คนในหมู่บ้านข้างๆ วัดมาเกือบหมดเพื่อจะช่วยเป็นฐานเสียง เมื่อเป็นดังนี้ เหตุการณ์ก็ชักจะบานปลาย กล่าวคือ

ฝ่ายบริวารของพระสมุห์บุญเลิศถูกคำครหาว่า มิใช่ทายกทายิกาของวัดเพราะอยู่ต่างตำบลออกไป มิใช่คนในหมู่บ้าน อะไรทำนองนี้ ... แต่เค้าก็แก้คำครหาว่า พวกเค้ามาทำบุญที่วัดบ่อยๆ ทอดกฐินปีที่แล้วพวกเค้าก็รับเป็นเจ้าภาพ กุฏิใหม่ข้างโบสถ์พวกเค้าก็มาสร้างเองฯ อะไรทำนองนี้ ... ฝ่ายบริวารของพระใบฎีกาบุญนำก็ถูกคำครหาว่า บ้านอยู่ข้างวัดก็จริง แต่ไม่เคยเข้ามาวัดเลย (เพราะไม่ถูกกับสมภารองค์ก่อน) จะจัดเป็นทายกทายิกาของวัดได้อย่างไร อะไรทำนองนี้ ...ท่านเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอซึ่งร่วมเป็นประธานสงฆ์พิจารณาว่าไม่สามารถตกลงออมชอมได้ จึงลุกขึ้นบอกว่า ตกลงกันให้ได้ก่อนว่าจะเอาใครเป็นสมภาร วันนี้ยกเลิก ค่อยตั้งวันอื่น ดังนี้แล้วก็กลับไปยังวัดของท่าน เรื่องราวทำนองนี้ มีอยู่เสมอในการตั้งสมภารเจ้าวัดในสมัยก่อน 

หลังจากอ่านนิทานเรื่องนี้ บางท่านอาจคิดว่า เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากการต้องการเป็นใหญ่เป็นโตของคน ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยเช่นกัน แต่ถามว่า เพราะเหตุอะไรคนเราจึงต้องการมีอำนาจหรืออยากจะเป็นใหญ่เป็นโต และเคยปรารภเรื่องทำนองนี้กะอาจารย์ปลื้ม (ท่านได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค เคยบวชอยู่นานและลาสิกขามาเป็นอาจารย์บัดนี้อายุใกล้ ๘๐ ปีแล้ว) ท่านบอกว่า จะพูดว่าเป็นเรื่องกิเลสก็กิเลส แต่คนต้องการทำงาน เค้าต้องการอำนาจ เพราะไม่มีอำนาจ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นั่นคือ มุมมองของผู้ที่ผ่านทางโลกทางธรรมมานาน กล่าวได้ว่าเป็นข้อคิดอย่างหนึ่ง 

มาว่าด้วยขั้นตอนการแต่งตั้งเจ้าอาวาสต่อไป เพราะมักจะมีปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการแก้ขั้นตอนการแต่งตั้งเจ้าอาวาสใหม่ โดยเปลี่ยนจากรูปแบบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง มาเป็นรูปแบบกึ่งเผด็จการคือการรวบอำนาจ กล่าวคือ กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ได้ยกเลิกระเบียบเก่าแล้วก็กำหนดระเบียบใหม่ไว้ในข้อที่ ๒๗ เขียนว่า               

ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวงในตำบลใด ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าสังกัด ถ้าไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอ ไม่มีรองเจ้าคณะตำบลให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าอาวาสในตำบลนั้นรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๓ รูป ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ ๖ และข้อ ๒๖ แล้ว ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง                

ตามนัยนี้ ขั้นตอนการตั้งเจ้าอาวาสขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสภายในเขตปกครองนั้นๆ เมื่อตกลงกันได้แล้วก็เสนอขึ้นไปให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้อนุมัติแต่งตั้ง โดยความเห็นของพระภิกษุสามเณรภายในวัดและทายกทายิกาประจำวัดนั้นๆ มิได้มีมีส่วนร่วมดังเช่นในสมัยก่อนๆ ซึ่งเรื่องนี้ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นส่วนดีในประเด็นว่า คนน้อยความยุ่งยากน้อย คนมากความยุ่งยากมาก แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนน้อยไม่ประกอบด้วยธรรมก็จะเป็นอันตรายมาก แต่ถ้าคนมาก แม้ไม่ประกอบด้วยธรรมก็จะเป็นอันตรายน้อย นั่นคือ ผู้ที่จะเป็นสมภารเจ้าวัดได้ตามระเบียบก่อน จะต้องเป็นที่ยอมรับของคนหลายๆ ฝ่าย จึงจะเป็นได้ แต่ตามระเบียบใหม่ เพียงทำความพอใจให้พระสังฆาธิการซึ่งเป็นผู้ปกครองในสังกัดเท่านั้น ก็สามารถจะเป็นสมภารเจ้าวัดได้ 

ส่วนวิธีทำความพอใจให้เกิดขึ้นต่อพระผู้ปกครองนั้น มีเกร็ดเล็กๆ  ไม่รู้ใครแต่งไว้แล้วเล่าต่อๆ กันมาว่า ถือย่าม ตามก้น นิมนต์บ่อย คอยรับใช้ ถวายชาดี บุหรี่ฉุน เจ้าคุณชอบ และจะต้องมีวจีคอยเสริมว่า ถูกครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน อยู่เสมอ เรื่องราวทำนองนี้ ผู้เขียนยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่มิใช่ว่าคณะสงฆ์จะเป็นเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด กล่าวคือ ที่ประกอบด้วยธรรมก็มี ที่ไม่ประกอบด้วยธรรมก็มี ด้วยว่าสังคมวัดก็เหมือนสังคมอื่นๆ นั่นแหละ คนประกอบด้วยธรรมก็มี คนไม่ประกอบด้วยธรรมก็มี คนประกอบด้วยธรรมก็มิใช่ ไม่ประกอบด้วยธรรมก็มิใช่ เป็นพวกเข้าไหนเข้าด้วย ไม้หลักปักเลน รอยช้อนตามเปียก หรือทำนองนายว่าขี้ข้าพลอย เป็นขุนพลพลอยพยัก ดังนี้ก็มี ซึ่งกรณีนี้ทำให้นึกถึงพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า สังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี ต้องให้คนดีมีโอกาส อะไรทำนองนี้ (ไม่มีเวลาค้นข้อความสมบูรณ์) 

ขั้นตอนต่อไป เมื่อผ่านความเห็นชอบจากเจ้าคณะอำเภอและคณะแล้ว ก็เสนอเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง นั่นคือ ต้องมีตราตั้งจากเจ้าคณะจังหวัด จึงจะได้เป็นเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดอย่างถูกต้องตามสมัย เมื่อมีการมอบตราตั้งกันที่วัดแล้วมีการฉลองกันเล็กน้อยตามธรรมเนียมนิยมก็ถือว่าถูกต้อง หรือบางครั้งอาจไปมอบกันที่วัดอื่นในโอกาสสำคัญ เช่น งานประชุมพระสังฆาธิการระดับจังหวัดประจำปี แล้วมาฉลองกันที่วัดอีกครั้ง แม้ทำนองนี้ก็ถือว่าถูกต้องสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

แต่ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ บางครั้งก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น บางรูปมีมีตราตั้งเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีการฉลอง ไปรับหรือเจ้าหน้าที่นำมามอบให้อย่างเงียบๆ แล้วก็ค่อยๆ อยู่รักษาวัดไป เพราะเกรงว่าจะมีผู้คัดค้านอีกในวันฉลอง อาศัยเวลาค่อยเป็นค่อยไปก็จะมีผู้ยอมรับว่าเป็นสมภารเจ้าวัดในที่สุด นั่นคือ แม้ตามนิตินัยอาจเป็นเจ้าอาวาสอย่างถูกต้อง แต่โดยพฤตินัยก็ต้องค่อยๆสร้างและสะสมบารมีธรรมอีกครั้งเพื่อให้สังคมยอมรับ

เรื่องราวที่ยิ่งไปกว่านั้นก็มี เช่น สมภารเจ้าวัดบางรูป พระภิกษุสามเณร และหรือ ทายกทายิกาไม่ยินยอมให้อาศัยอยู่ภายในวัดนั้นๆ (และหรือ หมายถึง บางครั้งเฉพาะภิกษุสามเณรหรือทายกทายิกาเท่านั้นที่ไม่ยินยอม บางครั้งทั้งภิกษุสามเณรและทายกทายิการวมกันไม่ยินยอม) ก็กลายเป็น สมภารพลัดถิ่น กล่าวคือ ยังต้องอาศัยอยู่วัดโน้นวัดนี้บ้าง เพราะวัดที่เจ้าตัวเป็นสมภารอยู่ไม่ได้ บางรูปก็ตัดสินใจลาออก บางรูปก็ใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะได้กลับวัดที่ท่านเป็นสมภาร บางรูปกลายเป็นสมภารพลัดถิ่นจนต้องมรณภาพที่วัดอื่น ดังนี้ก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก 

ตามที่เล่ามาถึง ที่มา ของสมภารเจ้าวัด เฉพาะกรณีที่เป็นไปไม่เรียบร้อยนั้น อาจสรุปประเด็นปัญหาได้ ๓ ประการ คือ

๑) ผู้ที่จะมาเป็นรักษาการหรือสมภารเจ้าวัด มีคำครหาหรือถูกโจษจันว่ามัวหมองบางอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็มักจะเป็นเรื่องสตรีกะสตางค์ คือ ถ้าไม่เป็นเรื่องผู้หญิงก็เรื่องปัจจัยเงินทองหรือสองเรื่องรวมกัน

๒) เรื่องของอำนาจหรือกิเลส คือ มีผู้ต้องการที่จะเป็นเจ้าอาวาสหลายรูป จึงต้องมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน ซึ่งยังแยกแยะไม่ได้ว่า ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าอาวาสเหล่านั้น ต้องการอำนาจเพื่อจะได้ทำความดีตามอุดมคติ หรือเพื่อแสวงหาลาภยศตามความต้องการของกิเลส

๓) เรื่องของผลประโยชน์ นั่นคือ วัดที่มีผลประโยชน์มักจะมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ส่วนวัดที่ไม่มีผลประโยชน์ก็มักจะไม่มีปัญหา อีกนัยหนึ่ง วัดยิ่งมีผลประโยชน์มาก การแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดนั้นก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังเค้ากล่าวกันว่า ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร และชาวบ้านที่มาเกี่ยวข้องกับวัดที่มีผลประโยชน์นั้น ก็ชี้ชัดได้ยากเช่นเดียวกัน ว่าเข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของวัดหรือเพื่อมุ่งหวังกอบโกยเพื่อตนเองและพวกพ้อง 

มุมมองอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ทุกข์ กล่าวคือ ผู้ที่จะมาเป็นสมภารเจ้าวัดได้ จะต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งต้องมีความยุ่งยากลำบากไม่มากก็น้อย นั่นคือ ทุกข์แห่งที่มาของสมภารเจ้าวัดในหัวข้อนี้ และเมื่อเป็นสมภารเจ้าวัดได้ตามปรารถนาแล้ว ใช่ว่าจะสุขสบาย เพราะถ้าประพฤติตัวไม่ดี ทำตัวไม่เหมาะสมก็อาจหลุดจากตำแหน่งหรือตกจากบได้ ฉะนั้น ในหัวข้อต่อไป เรามาดูกันว่าสมภารเจ้าวัดมี ที่ไป อย่างไร   

คำสำคัญ (Tags): #เจ้าอาวาส#สมภาร
หมายเลขบันทึก: 67081เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 01:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท