ข้าว ‘สาร’ กับการตำขัดสี


(ภาพปรับปรุงจากวิกิพจนานุกรม)

ข้าว ‘สาร’ ในการรับรู้ทั่วๆ ไปคือ ข้าวที่ผ่านการตำขัดสีและฝัดเปลือกออก จนได้เมล็ดเนื้อข้างในพร้อมนำมาหุงหา ซึ่งการ ‘สาร’ สีข้าวเปลือกถือเป็นวัฒนธรรมการอยู่การกินที่สำคัญ สำหรับผู้คนที่กินข้าว (กินปลา) เป็นอาหารหลัก

นักภาษาศาสตร์บางท่านเชื่อว่า ‘สาร’ เป็นคำยืมจากภาษามอญ-เขมร เช่นอ้างอิงจากบทความเรื่อง “คำเรียกข้าวในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก: ที่มาและการกระจาย” เขียนโดย มิเชล แฟร์ลูซ (Michel Ferlus) นักวิชาการอิสระ อดีตนักภาษาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประจำสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 2010 แปลโดย ภัททิยา ยิมเรวัต อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค.ศ. 2014 (คุณจำนงค์ ทองภิรมย์ แนะนำบทความ) คัดมาท่อนหนึ่งความว่า

“จะเห็นได้ว่าคำศัพท์ต่างๆ ที่บอกสภาพต่างๆ ของข้าวนั้นจะเป็นคำผสม เช่น kha:w C1 plɨak D1 “เมล็ดข้าวตามธรรมชาติ” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า kha:w C1ตามด้วยคำว่า plɨak D1 “เปลือก” และเช่นเดียวกับคำว่า kha:w C1 sa:n A1“ข้าวสาร” คำว่า sa:n A1มาจากภาษาโปรโต มอญ-เขมร *sa:l “ปอกเปลือก” ภาษาเกอเนียง คือ sa:l และภาษาขมุคือ ha:l (h- < *s-) ส่วนในภาษาแสก คือ ɣaw 6 sa:l 2 (Gedney, 1993) ซึ่งยังคงรักษา เสียง *l ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายไว้ จะเห็นได้ว่าตัว r (ร) ที่เป็นพยัญชนะท้ายในตัวเขียนภาษาไทยสยามนั้น น่าจะเป็นการเขียนตัวสะกดผิดจากคำเดิม”

โดยพวกไท-ไตมีการใช้คำว่า ข้าว ‘สาร’ (husked rice) ดังนี้     

ซาปา (Sapa) ว่า sa:n A1/สาน/

บ่าวเอียน (Bao Yen) ว่า tha:n A1 /ถาน/

เกาบัง (Cao Bang) และลุงโจว (Lungchow) ว่า ɬa:n A1 /หลาน/

 ไย้ (Yay) ว่า θa:n A1 /ดซาน/

และแสก (Saek) เรียก sa:l A1 /สาล/

สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) ว่า *sa:l A /สาล/

(อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 174)

ในบทความเรื่อง ‘How many independent rice vocabularies in Asia ?’ เขียนโดย Laurent Sagart นักภาษาศาสตร์ชื่อดังแห่งประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 2011 ผู้เสนอแนวคิดว่าไท-กะไดเป็นส่วนหนึ่งของออสโตรนีเซียน ได้โต้แย้ง Michel Ferlus ในเรื่องที่มาของคำว่า ข้าว ‘สาร’ ดังนี้

“Proto-Puluqish (a SE Formosan subgroup) *qaSaN 'rice in husks'. This is based on Amis 'asad 'grains in husks mixed with rice' (Pourrias and Poinsot, undated) and Paiwan qasal 'chaff' (Ferrell 1982). Puyuma asal 'cut rice, before threshing' (Cauquelin 1991) must be a loan from either Paiwan or Amis (Expect Puyuma zero for proto-Austronesian *S).  The final syllable in Papora sesal, sisal 'rice' (Ino 1998) also reflects proto-Austronesian -SaN, suggesting a 'root' *-SaN with rice-related meaning. To these, compare proto-Tai (Pittayaporn 2009) *sa:l A 'dehusked rice'. The sound correspondences between the proto-Tai and Austronesian forms agree with what is known (Ostapirat 2005). The above etymology for proto-Tai *sa:l A is more likely, despite the difference in meaning, than the Austroasiatic origin suggested to the writer by M. Ferlus (p.c. 27/08/2002): the Tai word would originate in Khamou hal < earlier *sal 'to peel off', a form of limited distribution. Moreover the actions of peeling off (with a knife) and husking (by pounding) are very dissimilar from a motor point of view.”

แปลความได้ว่า:

คำโบราณของพวกปุลุคิสว่า *qaSaN /คาซัล/ หมายถึงข้าวสาร ซึ่งอ้างจากคำของพวกอามิสว่า asad /อาซัด/ สีข้าวเปลือก และพวกปัยวันว่า qasal /คาซัล/ แกลบ ส่วนคำที่พวกปุยุมาใช้ว่า asal /อาซัล/ ข้าวยังไม่ได้นวด ต้องเป็นคำยืมจากปัยวันหรือไม่ก็อามิส และพยางค์ท้ายในคำว่า sesal /เซซัล/ หรือ sisal /ซีซัล/ ข้าว ซึ่งเป็นคำของพวกปาโปรา สะท้อนคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียนว่า *–SaN ที่ชี้ถึงรากคำที่เกี่ยวข้องกับข้าว ความพัวพันระหว่างคำไท-ไตโบราณและออสโตรนีเซียนเป็นที่ทราบ คำไท-ไตโบราณข้างต้นว่า *sa:l A /สาล/ ก็เป็นเช่นนั้น แน่นอนว่า แตกต่างจากต้นคำออสโตรเอซียติกที่เสนอไว้โดย มิเชล แฟร์ลูซ ว่ามาจากคำของขมุ hal /ฮัล/ และคำเก่ากว่า *sal /ซัล/ ปอกลอกออก (ด้วยมีด) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการสารข้าว (ด้วยการตำ)

นอกจากนั้น ข้าว ‘สาร’ ยังพบในคำของพวกข้า/ขร้าด้วย (ไท-กะไดสาแหรกหลักข้างหนึ่ง) เช่น

เกอหล่าว (Gelao) ว่า su A1 /สุ/

ลาหา (Laha) ว่า saal A1 /สาล/

ปู้เบียว (Pubiao) ว่า θaan A1 /ดซาน/

สืบสร้างเป็นคำข้า/ขร้าโบราณ (Proto-Kra) ว่า *sal A /สัล/

(อาจารย์วีระ โอสถาภิรัตน์ ค.ศ. 2000)            

ในความเห็นของผม เมื่อมองจากมุมของรากคำพยางค์เดียว (monosyllabic roots) คำว่า ข้าว ‘สาร’ ควรพัฒนาลงมาจากรากคำร่วมไท-กะไดและออสโตรนีเซียนว่า *Ri/*ri/*li ผู้มีความหมายดั้งเดิมว่า ‘บางสิ่งผลิแตกเปิดเผยตัวออกมาจากการปกปิดปกคลุมไว้’ (to sprout, to expose) และเป็นโคตรเหง้าของคำต่างๆ มากมาย รวมถึงคำว่า ‘วัน’ *waRi (sun/day) และ กระ ‘ดูก’ *duRi (bone/thorn/spike)

เช่นการเทียบเคียงได้กับคำโบราณโอเชียนิกว่า *sali /ซาลี/ ฉีกดึงใบออกจากกิ่งก้าน และ *saRi /ซารี/ ฉีกกัดปอกเปลือกมะพร้าวด้วยฟัน หรือแม้แต่คำออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า *suli /ซูลี/ กลับด้าน หรือคำมาลาโย-โพลีนีเซียนโบราณว่า *suli หน่ออ่อน และคำมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตกโบราณว่า *seli /เซอลี/ หน่ออ่อน หมายถึงการฉีกแหกหรือการดึงเปลือกใบกลับด้านลงมาจนหลุดออก ก็เพื่อให้หน่ออ่อนเนื้อในหรือเรียวก้านโผล่พ้นโดดเด่น โดยไม่มีสิ่งใดมาปิดบังปกคลุม สอดคล้องกับนามธรรมของรากคำ *Ri/*ri/*li ที่ขับเน้นการผลิโผล่แทงขึ้นมาของหน่ออ่อนแก่นแกน มากกว่าเปลือกกระพี้ที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก

สอดรับเป็นอย่างยิ่งกับการ ‘สาร’ ข้าว ซึ่งเป็นการทำให้เปลือกแกลบที่หุ้มห่อร่อนออก เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวอ่อนข้างใน ขับขานไปบนแนวทางเดียวกับคำจำกัดความของพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่า “น. ข้าวที่สีหรือตำเอาเปลือกออกแล้ว เรียกว่า ข้าวสาร.”

ดังนั้น อาจหมายถึงว่า คำมอญ-เขมรโบราณว่า *sa:l ตามที่ Michel Ferlus เคยเสนอไว้ ไม่น่าใช่คำต้นทางของคำว่าข้าว ‘สาร’ *sa:l A ในพวกไท-ไตและ *sal A ในพวกข้า/ขร้า หากเป็นในทางกลับกันว่า พวกมอญ-เขมรได้ยืมไปจากพวกไท-กะได ในความหมายว่าปอกลอก (peel off)

ในขณะเดียวกัน ตามที่ Laurent Sagart ได้เสนอแย้งว่า ควรมาจากรากคำออสโตรนีเซียน *-SaN ซึ่งเกี่ยวกับข้าว รวมถึงการตำข้าวเปลือก (husk) บางทีคำเหล่านี้ก็อาจพัฒนามาด้วยกันกับคำออสโตรนีเซียน เช่น *suli, *seli, *sali และ *saRi จนถึงคำไท-กะไดว่า *sal A และ *sa:l A ก่อนที่จะลงไปเป็นการตำสีข้าว ที่ล้วนเกิดจากรากคำพยางค์เดียว *Ri/*ri/*li ‘บางสิ่งผลิแตกเปิดเผยตัวออกมาจากการปกปิดปกคลุมไว้’ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกต เพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 3 กันยายน 2562  

คำสำคัญ (Tags): #ข้าวสาร
หมายเลขบันทึก: 668088เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2019 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2019 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท