สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๕. หลายมิติของวิกฤติการศึกษา



บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

บันทึกที่ ๕ นี้ ตีความจาก Part II : The learning crisis   บท Spotlight 1 : The biology of learning  และ Chapter 3  : The many faces of the learning crisis  และ Spotlight 2 : Poverty hinders biological development and undermines learning   ซึ่งอยู่ในรายงานหน้า ๖๘ – ๙๐

ชีววิทยาของการเรียนรู้

ในช่วงเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ความรู้ด้านกลไกของการเรียนรู้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย    ข้อสรุปสั้นๆ เรื่องนี้ในรายงาน WDR 2018 หน้า ๖๘ – ๗๐ สรุปกลไกเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในสมองตามช่วงวัย    เพื่อใช้ความรู้นั้นในการจัดระบบการศึกษา    ซึ่งชัดเจนว่า ช่วงที่สำคัญที่สุดในการวางพื้นฐานการเรียนรู้  เพราะเป็นช่วงที่สมองมีความยืดหยุ่น (neuroplasticity) สูงสุด    คือช่วงอยู่ในครรภ์มารดา ถึงอายุ ๓ ขวบ    ซึ่งในช่วงนั้นมีการเชื่อมโยงใยประสาทถึงหนึ่งล้านการเชื่อมโยงต่อวินาที    แต่จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงในสมองเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต  

สมองและร่างกายมนุษย์มีพื้นฐานรองรับการเรียนรู้ผ่านการทำหน้าที่ของยีน    โดยมีตัวกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม, การเลี้ยงดู, และครู ไปกระตุ้นหรือปิดกั้นพัฒนาการของสมองผ่านการทำงานหรือหยุดทำงานของยีน   โดยที่พัฒนาการของสมองเกิดทั้งจากการเชื่อมต่อใยประสาท (synapse) ใหม่   และจากการตัดการเชื่อมต่อใยประสาทที่ไม่จำเป็น หรือไม่สำคัญ ทิ้งไป (synaptic pruning)  

แต่ละส่วนของสมองมีพัฒนาการสูงสุดในต่างช่วงชีวิต    แต่พัฒนาการของส่วนต่างๆ ของสมองมีความเชื่อมโยงกัน    โดยวงจรการเชื่อมโยงใยประสาทแบบง่ายๆ เกิดขึ้นก่อน    วงจรที่ซับซ้อนเกิดขึ้นทีหลัง    โดยที่วงจรที่นำไปสู่พัฒนาการของทักษะที่ซับซ้อน พัฒนาต่อยอดจากวงจรของทักษะง่ายๆ    ตัวอย่างเช่น พัฒนาการด้านภาษา เกิดตามหลังพัฒนาการของตาและหู    พัฒนาการด้านการเรียนรู้ระดับสูง พัฒนาบนฐานของพัฒนาการของประสาทรับสัมผัสต่างๆ รวมทั้งด้านภาษา

พัฒนาการด้านต่างๆ ได้แก่ด้านกายภาพ  การรับรู้และเคลื่อนไหว  การเรียนรู้  และด้านอารมณ์และสังคม มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง หรือขึ้นต่อกันและกัน    และเป็นตัวกำหนดความเจริญก้าวหน้าของบุคคลนั้น    เช่น การมีสุขภาพดีมีผลให้เรียนรู้ได้ดี    การมีความมั่นคงทางอารมณ์ช่วยให้เด็กกล้าค้นคว้าทดลอง    และการมีความสามารถบังคับตัวเองได้ดี ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นต้น  

ประสบการณ์ มีผลสำคัญต่อการเรียนรู้    โดยมีทั้งประสบการณ์เชิงลบ (ได้แก่ความเครียดรุนแรงหรือเรื้อรัง  การถูกทอดทิ้ง ประสบการณ์ความรุนแรง) ที่เป็นผลร้ายต่อพัฒนาการของสมอง และต่อการเรียนรู้    และประสบการณ์เชิงบวก ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมอง และส่งเสริมการเรียนรู้    

การเรียนรู้ ไม่ได้ขึ้นต่อระบบสมองเท่านั้น  ยังเกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมนด้วย    ตัวสำคัญคือ dopamine ที่หลั่งออกมาเมื่อสมองเผชิญสิ่งใหม่  ช่วยการสั่งสมข้อมูล    ในขณะที่ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและอารมณ์ด้านลบ คือ cortisol มีฤทธิ์ปิดกั้นการเรียนรู้        

สมองมนุษย์รับรู้ข้อมูลใหม่ได้ดีที่สุดผ่านการเสาะหา  การเล่น  และปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่ให้ความรักและการดูแล  รวมทั้งปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน    ตามหลักการนี้กิจกรรมในศูนย์เด็กเล็กและอนุบาลจึงไม่ควรเน้นการเรียนวิชา แต่ควรใช้วางรากฐานการพัฒนาสมอง ร่างกาย และจิตใจ    ผ่านการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น   

แม้ว่าทักษะพื้นฐานด้านการเรียนรู้แข็งตัวไปมากแล้วหลังอายุ ๑๐ ปี   แต่พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ยังมีความยืดหยุ่นอยู่ จนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น    ดังนั้นในการเตรียมนักเรียนเข้าสู่การทำงาน  และเข้าสู่การดำรงชีวิตในสังคม สำหรับนักเรียนที่มีพื้นฐานการพัฒนาไม่แข็งแรง (มาจากครอบครัวขาดแคลน)   การเน้นที่การพัฒนาทักษะด้านสังคมและอารมณ์ จะช่วยได้มาก          

เนื่องจากสมองมีธรรมชาติเปิดรับสิ่งใหม่    การเรียนรู้จะเกิดได้ดีเมื่อกระบวนการเรียนรู้เน้นเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง    ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง   

นักเรียนที่มีชีวิตยากลำบาก   เพราะมาจากครอบครัวขาดแคลน ควรได้รับความรักความเอาใจใส่เป็นพิเศษ   เรื่องนี้ผมขอแนะนำให้อ่านบันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน () ของผม       

เข้าเรียน แต่ไม่เกิดการเรียนรู้                                  

บทที่ ๓ ในรายงาน ให้ข้อมูลมากมายที่เด็กไปโรงเรียน แต่มีการเรียนรู้น้อยมาก    เขาบอกว่า ในโลกนี้มีเด็ก ๑๒๕ ล้านคน ที่ไปโรงเรียน ๔ ปีแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานะ “ไม่รู้หนังสือ” (illiterate)    ตัวเลขร้อยละของนักเรียนที่เข้าโรงเรียนแล้วหลายปี แต่ยังอยู่ในสภาพ “ไม่รู้หนังสือ” แตกต่างกันตามประเทศ ซึ่งสะท้อนคุณภาพของการศึกษาของประเทศนั้นๆ   เช่นประเทศไนเจอร์ นักเรียนชั้น ป. ๖ กว่าร้อยละ ๙๐ มีทักษะด้านการอ่าน และด้านคณิตศาสตร์ ในระดับ “ไม่มีความสามารถ”

สถิติบอกว่า สภาพ “เข้าเรียน แต่ไม่เกิดการเรียนรู้” นี้เด็กจากครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบมากกว่า    และเป็นผลกระทบจากการจัดการระบบการศึกษาที่มุ่งขยายโรงเรียน หรือขยายความครอบคลุม ให้เด็กได้ไปโรงเรียน    แต่ไม่ได้เอาใจใส่จัดการด้านคุณภาพควบคู่ไปด้วย    ประเทศที่จัดการเรื่องนี้ได้ดีเป็นที่ยกย่องคือเกาหลีใต้    ที่ดำเนินการขยายการศึกษาเป็นขั้นเป็นตอน โดยเอาใจใส่จัดการด้านคุณภาพอย่างดีมาก    ประเทศไทยเราก็ติดกับดักปริมาณเหนือคุณภาพนี้เช่นเดียวกัน แต่ไม่เลวร้ายเท่าในอัฟริกา   

หลักการในการดำเนินการแก้ไขปัญหา “เข้าเรียนแต่ไม่เรียนรู้” นี้ง่ายมาก   ทำโดยครูหมั่นสังเกตว่ามีนักเรียนคนใดเรียนไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด  แล้วดำเนินการช่วยเหลือ    โดยโรงเรียนมีระบบช่วยเหลือเด็กเหล่านี้   ประเทศที่ระบบการศึกษามีคุณภาพสูงมีระบบนี้ทั้งสิ้น ()    ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในประเทศฟินแลนด์ นักเรียนที่ผ่านการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี  ประมาณครึ่งหนึ่ง เคยได้รับการช่วยเหลือพิเศษ ให้เรียนบางสาระหรือบางทักษะได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด  

เด็กยากจนได้เรียนรู้น้อยที่สุด

มีสถิติจากทั่วโลก บอกว่าเด็กจากครอบครัวยากจน มีผลลัพธ์การเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางและคนรวย    เมื่อใช้ผลการทดสอบ PISA เป็นตัววัด และคำนวณออกมาเป็นจำนวนปีที่ล้าหลัง    พบว่าเด็กจากครอบครัวในกลุ่มจนที่สุดมีผลการเรียนล้าหลังเด็กจากครอบครัวกลุ่มที่รวยที่สุด ๓ - ๔ ปี   สาเหตุมาจากพื้นฐานของครอบครัว  ได้แก่พื้นการศึกษาของพ่อแม่  สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม  และสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัว (เช่นการมีหนังสือให้อ่าน)     แต่มีหลักฐานใหม่ ที่น่าเชื่อถือ บอกว่า    สภาพทางบ้านไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เด็กยากจนมีผลการเรียนต่ำ     สาเหตุที่สำคัญ หรือมีน้ำหนักยิ่งกว่า คือการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน    นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน หากได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้คุณภาพสูง  จะเรียนได้ดีเท่านักเรียนจากครอบครัวร่ำรวย

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนมีผลการเรียนต่ำ คือคุณภาพของโรงเรียน   เพราะโรงเรียนเอาใจใส่เด็กที่ฐานะดีมากกว่าเด็กยากจน    หรือกล่าวอย่างรุนแรงได้ว่า ทอดทิ้งเด็กยากจน

ผลการวิเคราะห์คะแนนสอบ PISA 2009 พบว่า ประเทศที่ได้คะแนนสูง จัดการศึกษาคุณภาพสูงให้แก่นักเรียนทุกคน ไม่ใช่จัดให้เฉพาะนักเรียนจากครอบครัวฐานะดีเท่านั้น    ประเทศเหล่านี้ได้แก่ แคนาดา  ฟินแลนด์  ฮ่องกง  เซี่ยงไฮ้  ญี่ปุ่น  และเกาหลีใต้  

ข้อความรู้นี้ น่าจะมีความสำคัญต่อความพยายามฟื้นคุณภาพการศึกษาไทย  ในการดำเนินการให้ถูกจุด  แก้ปัญหาให้ตรงกับ root cause     

สาเหตุของวิกฤติการเรียนรู้

สาเหตุหลักมี ๔ ประการคือ  ผู้เรียน  ครู  ทรัพยากร  และ การจัดการโรงเรียนและระบบการศึกษา

ผู้เรียน

ผู้เรียนจากครอบครัวขาดแคลนมาโรงเรียนพร้อมกับความขาดแคลน    โดยสิ่งที่เด็กเหล่านี้ขาดคือทักษะพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้    ความขาดแคลนนี้เริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา และสะสมเรื่อยมาจนมาเข้าโรงเรียน    สาเหตุมาจากความเครียดเรื้อรัง  ภาวะทุพโภชนาการ  ความเจ็บป่วย  ขาดการเอาใจใส่จากมารดา  ไม่มีพ่อ  ความรุนแรง  และความยากจน   สิ่งเหล่านี้ทำให้พัฒนาการของเด็กเล็กไม่เป็นไปตามวัย    ทักษะพื้นฐานดังกล่าวคือ ภาษา,  ความสามารถในการเรียนรู้ (cognitive abilities),   ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ (socio-emotional skills ซึ่งประกอบด้วย ทักษะการทำงานเป็นทีม  แรงจูงใจ  ความมั่นใจในตนเอง  ทักษะควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว   ไม่วอกแวก  และทักษะในการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ),  และ executive functions (ประกอบด้วย ทักษะการวางแผน  การจัดระบบ (organizing)   การดำเนินการ (implementing)   การทำงานครั้งละหลายสิ่ง (multitasking)  ความจำใช้งาน (working memory)  การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เป็นต้น)      

ผู้เรียนที่มาโรงเรียนด้วยความไม่พร้อม  หากไม่ได้รับการเตรียมหรือเสริมความพร้อม  นักเรียนเหล่านี้จะเรียนรู้ไม่ทันเพื่อน  ช่องว่างระหว่างเป้าหมายของการเรียนรู้ กับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริง จะค่อยๆ ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป    เมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ โอกาสแก้ไขจะยากขึ้นๆ  

ข้อความข้างต้น มีข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนอยู่ในรายงาน   แต่ผมไม่ได้นำมาเอ่ยถึง

    

ครู

ครูมักขาดทักษะที่ต้องการ และขาดแรงจูงใจในการทำหน้าที่ครู    ทั้งๆ ที่ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียน    มีผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกาบอกว่านักเรียนที่เรียนกับครูที่มีความสามารถสูง มีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เท่ากับ ๑.๕ ปีการศึกษา เมื่อเทียบกับครูทั่วๆ ไป    และนักเรียนที่เรียนกับครูคุณภาพต่ำ มีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพียงเท่ากับ ๐.๕ ปีการศึกษา    ครูที่ดีกับครูที่เลวจึงมีประสิทธิภาพต่างกัน ๓ เท่า     แต่ประโยคที่แล้วน่าจะผิด   ที่ถูกต้องคือ ครูคุณภาพต่ำ ทำลายอนาคตเด็ก   

ปัญหาคือ ประเทศยากจน  และประเทศที่การศึกษามีคุณภาพต่ำ ไม่ได้เอาใจใส่พัฒนาคุณภาพครูอย่างจริงจัง    น่าเสียดายที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย  

นอกจากนั้นเวลาตามที่กำหนดว่าเป็นเวลาสอนของครูและเวลาเรียนของนักเรียนนั้น    ไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนการสอนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย    เขายกข้อมูลจากประเทศตัวอย่างจำนวนหนึ่ง    พบว่าในประเทศที่คุณภาพการศึกษาต่ำมาก ครูอยู่ในห้องเรียนเพียงครึ่งหนึ่งของเวลาที่กำหนด  และใช้เวลาสอนเพียงร้อยละ ๔๐ ของเวลาที่กำหนด    

ทรัพยากร

ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า school input   หมายถึงอาคารเรียน  ห้องเรียน  และวัสดุประกอบการเรียน  ซึ่งในประเทศยากจนมักเผชิญปัญหานี้   ในประเทศไทยปัญหานี้หมดไปเกือบหมดแล้ว    เหลือปัญหาเฉพาะในโรงเรียในที่กันดารห่างไกลจริงๆ   แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียด เราขาดแคลนวัสดุประกอบการเรียนรู้ที่ดี   ซึ่งที่จริงครูที่มีความสามารถและเอาใจใส่ สามารถทำเองได้   หรือขอให้ผู้ปกครองหรือผู้นำในท้องถิ่นทำให้ได้  

การจัดการโรงเรียนและระบบการศึกษา

รายงานขึ้นต้นหัวข้อนี้โดยบอกว่า การจัดการโรงเรียนที่มีประสิทธิผลขึ้นอยู่กับความสามารถและความมีอิสระในการตัดสินใจในระดับโรงเรียน   ซึ่งระบบการศึกษาคุณภาพต่ำ (รวมทั้งของไทย) ไม่มี    เขาย้ำว่า การที่โรงเรียนขาดความเป็นอิสระ (autonomy) ในการตัดสินใจทำเพื่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุคุณภาพการเรียนรู้สูง

มีผลงานวิจัยชี้ชัดว่า ผลลัพธ์ทางการศึกษาที่มีคุณภาพสูง มีความสัมพันธ์กับการจัดการที่ดี และมีภาวะผู้นำที่ดีของโรงเรียน

ที่น่าสนใจมากคือ คณะผู้ทำรายงานจัดทำ survey ในประเทศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจเจตคติของครูต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน    และนำผลมาแสดงในรูป B3.3.1 หน้า ๘๒   สะท้อนสภาพที่ครูมีสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ต่ำ    คือคิดว่าการลางานเป็นเรื่องปกติ  และคิดว่าตนไม่เกี่ยวกับผลการเรียนของนักเรียนที่ผลการเรียนไม่ดี   ที่จริงสาระส่วนนี้น่าจะไปอยู่ในหัวข้อ ครูข้างบนมากกว่า  

ข้อมูลที่น่าสนใจมากอีกชิ้นหนึ่งอยู่ในรูป ๓.๑๒ หน้า ๘๓   เปรียบเทียบขีดความสามารถด้านการจัดการระหว่าง manufacturing sector กับ education sector   เห็นชัดว่า ในประเทศยากจน คุณภาพการศึกษาต่ำ ระดับขีดความสามารถด้านการจัดการของระบบการศึกษา ต่ำกว่าของระบบการผลิตอย่างมากมาย

เขาลงท้ายด้วยการย้ำว่า วิกฤติการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เป็นจริง   และผมขอเพิ่มเติมว่า “และแก้ไขได้” (ดังจะกล่าวถึงในบันทึกตอนต่อๆ ไป)    แต่น่าเสียดายที่ในหลากหลายประเทศ ผู้รับผิดชอบระบบการศึกษาไม่เชื่อว่ามีจริง    และในหลายประเทศหันไปโทษความขาดแคลน

ความยากจนเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางชีววิทยา และบั่นทอนการเรียนรู้

กลไกทางชีววิทยาว่าด้วยพัฒนาการเด็กทำงานเป็นลำดับขั้นตอน  สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับพัฒนาการในขั้นตอนต่อไป    ช่วงเวลาที่สมองเติบโตและพัฒนาเร็วที่สุดคือช่วงอยู่ในท้องแม่จนถึงอายุครบ ๖ ปี    และเป็นช่วงที่สมองมีความยืดหยุ่น (malleability) สูงมากที่สุดด้วย    ความยืดหยุ่นของสมองนี้ เป็นดาบสองคม   คือเป็นทั้งหน้าต่างแห่งโอกาส และเป็นต้นตอของความอ่อนแอ หรือเป็นรอยประทับในด้านลบ  

ความยืดหยุ่นของสมอง หมายความว่าสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโต จะมีผลต่อชีวิตในอนาคต    สภาพแวดล้อมที่เป็นสภาพยากจนเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงต่อพัฒนาการเด็ก  ได้แก่ ความขาดแคลนวัสดุที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก  การที่พ่อแม่ขาดการศึกษา ทำให้การตัดสินใจให้เวลาและเงินเพื่อการลงทุนให้แก่พัฒนาการของลูก เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึง    การที่ต้องทำงานหนักและใช้เวลายาวนานในแต่ละวัน ทำให้ไม่มีเวลาเอาใจใส่ลูก    

สำหรับตัวเด็ก อาจได้รับความเครียดเรื้อรังตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ จากการขาดอาหาร หรือจากความเครียดด้านจิตใจของแม่   เมื่อคลอดออกมาอาจได้รับการดูแลไม่ดีพอ  ไม่ได้รับการกระตุ้นจากการพูดคุยหยอกล้อ ด้วยความรักความเอาใจใส่  มีความรุนแรงในครอบครัว  ต้องอพยพย้ายถิ่น  หรือเผชิญภาวะซึมเศร้าของแม่       

เคราะห์กรรมในวัยเด็ก จะประทับรอยไว้ในทางชีววิทยาในร่างกายของเด็ก   ในสภาพเช่นนี้ ร่างกายจะปรับตัวเอาชีวิตรอดไว้ก่อน   เรื่องอื่นไม่เร่งด่วนเอาไว้ทีหลัง    เรื่องที่เอาไว้ทีหลังคือการเจริญเติบโตทั้งทางกายและทางสมอง    เด็กเหล่านี้จึงมีร่างการแคระเกร็น และสมองช้า     ตอนแรกคลอดจะเป็นทารกน้ำหนักน้อย    ผลงานวิจัยเมื่อ ๖๐ - ๗๐ ปีก่อน สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง    และติดตามเด็กน้ำหนักน้อยตอนแรกคลอด พบว่าเมื่ออายุมากขึ้นจะมีอุบัติการณ์ของโรคเรื้อรังสูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคอื่นๆ อีกหลายอย่าง    สะท้อนว่า การปรับตัวของทารกในครรภ์เพื่อรับมือภาวะขาดอาหารในแม่ ได้สร้าง “รอยประทับ” ทางชีววิทยาไว้  เห็นผลตอนอายุมาก  

แต่ที่เห็นผลเร็วกว่าคือน้ำหนักแรกคลอดน้อย พัฒนาการช้า  ความว่องไวในการรับรู้น้อย  executive functions ไม่แข็งแรง  และผลลัพธ์การเรียนรู้ต่ำ   

ความเครียดเรื้อรังที่เป็นพิษร้ายในวัยเด็กเล็ก ส่งผลต่อสุขภาพตลอดชีวิต  ต่อการเรียนรู้  และต่อพฤติกรรม    ฮอร์โมนความเครียด คือ cortisol มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย  และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ  ปิดกั้นกลไกควบคุมเมตะบอลิสซึม  มีผลรวมต่อการเกิดโรคได้ง่าย

ที่สำคัญความเครียดดังกล่าวยังปิดกั้นการเชื่อมต่อใยประสาทในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้    นั่นคือข่าวร้าย   ข่าวดีคือมีวิธีแก้ไขให้ข้อบกพร่องเหล่านี้กลับคืนดีได้   ดังจะกล่าวในตอนที่ ๗  

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 666497เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2019 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2019 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท