สู่การศึกษาคุณภาพสูง ๓. การเข้าโรงเรียน การเรียนรู้ และเป้าหมายของการศึกษา



บันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูงนี้ ตีความจากรายงานของธนาคารโลก ชื่อ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise (1)    ที่มีการค้นคว้ามาก และเขียนอย่างประณีต   เป็นเอกสารด้านการศึกษาที่มีประโยชน์ยิ่ง    ผมเขียนบันทึกชุดนี้เสนอต่อคนไทยทั้งมวล ให้ร่วมกันหาทางนำมาประยุกต์ใช้ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย

บันทึกที่ ๓ นี้ ตีความจาก Part I : Education’s promise  ซึ่งมีบทเดียวคือ Chapter 1  : Schooling, learning , and the promise of education   อยู่ในรายงานหน้า ๕๘ – ๗๔

สำหรับผม ข้อเรียนรู้สำคัญที่สุดใน Chapter 1 อยู่ที่หน้า ๔๔ ย่อหน้าแรก    ที่บอกว่า การศึกษาไม่ใช่มีแต่ด้านคุณ  ยังมีด้านโทษด้วย    หากมีการจัดการระบบการศึกษาแบบผิดๆ การศึกษาก็จะก่อผลร้ายต่อสังคม อย่างน้อยใน ๓ ประการ คือ  (๑) เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม  (๒) ผู้นำใช้การศึกษาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตน (ฟังคุ้นๆ นะครับ)  และ (๓) การเข้าโรงเรียน ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการเรียนรู้

ข้อความในบทนี้ขึ้นต้นด้วยการบอกว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์    เป็นเครื่องมือปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์   ช่วยยกระดับทุนมนุษย์  ยกระดับผลิตภาพ  ยกระดับรายได้  โอกาสได้รับการจ้างงาน  และยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ    ข้างต้นนั้นเป็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ   แต่การศึกษาให้ผลดีมากกว่าด้านเศรษฐกิจ  คือมีผลดีต่อสุขภาพ (อายุยืนกว่า)  และช่วยให้มีความสามารถกำกับชีวิตของตนเองได้ดีกว่า    นอกจากนั้น การศึกษายังสร้างความน่าเชื่อถือ  เพิ่มทุนสังคม  และสร้างสถาบันที่ผู้คนได้มีส่วนร่วม และมีส่วนในความมั่งคั่งที่พัฒนาขึ้น    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า โดยมีเงื่อนไขว่า ระบบการศึกษาของประเทศนั้นมีการจัดการที่ถูกต้อง  

การศึกษาในฐานะอิสรภาพ

องค์การสหประชาชาติประกาศในปี ค.ศ. 1948 ว่าการเข้าถึงการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน    เป็นเครื่องมือธำรงเกียรติภูมิของมนุษย์    เป็นพื้นฐานของอิสรภาพ  ความเป็นธรรม  และสันติภาพ   

อมาตยา เซน เสนอแนวคิด capability approach ต่อการศึกษา    โดยเสนอว่า การศึกษาช่วยยกระดับขีดความสามารถของมนุษย์   โดยยกระดับ “ทุน” (assets) ของบุคคล   และยกระดับความสามารถในการใช้ “ทุน” นั้นเพื่อความอยู่ดีกินดี (wellbeing) ของตน   

เรื่องคุณค่าของการศึกษานี้ ทุกคนรู้ดี จึงไม่ค่อยมีความจำเป็นต้องขยายความ    เรื่องสำคัญคือ วิกฤติการศึกษา ที่จะกล่าวถึงในบันทึกตอนต่อๆ ไป

การศึกษายกระดับอิสรภาพของบุคคล

การศึกษายกระดับโอกาสทางเศรษฐกิจ

คณะผู้จัดทำรายงาน WDR 2018 รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ นำมาวิเคราะห์และสรุปนำเสนอในรูป 1.1 หน้า ๓๙   สรุปได้ว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้น ๑ ปี มีผลเพิ่มรายได้ร้อยละ ๘ – ๑๐   โดยอัตราเพิ่มมากกว่านี้ในเพศหญิง   

ในประเทศที่ตลาดแรงงานทำงานดี   คนมีการศึกษาสูงกว่ามีโอกาสได้งานทำมากกว่า    และหากตกงาน ก็มีโอกาสได้งานใหม่ง่ายกว่า    แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้ซับซ้อนมาก    ในหลายประเทศการได้งานทำขึ้นกับเครือข่ายทางสังคมมากกว่าความสามารถ   

ในเชิงทฤษฎี รายงานนี้นำเสนอคำอธิบายว่าทำไมการศึกษาสูงจึงนำไปสู่รายได้สูง    โดยเสนอ human capital model ที่อธิบายว่า เพราะคนมีการศึกษาสูงมีผลิตภาพสูงกว่า   กับ signaling model ที่อธิบายว่าการศึกษาสูงส่งสัญญาณแก่นายจ้างว่ามีความสามารถสูงกว่า    แต่มีผลการวิจัยที่บอกว่าตัวตัดสินไม่ใช่จำนวนปีที่เรียน แต่เป็นทักษะหรือสมรรถนะที่แท้จริงของผู้นั้น    คนที่เรียนน้อย แต่ความสามารถสูง ก็มีโอกาสได้งานที่รายได้สูง    รายงานนี้แสดงว่า schooling  มีความหมายน้อยกว่า learning       

การศึกษานำสู่ชีวิตที่ยืนยาวและทางเลือกในชีวิต

รายงานนำตัวเลขที่แสดงว่า คนมีการศึกษาสูง มีอัตราตายต่ำกว่า (รูปที่ ๑.๒ หน้า ๔๐)    ประกอบอาชญากรรมน้อยกว่า   และมีอัตราการใช้การคุมกำเนิดสูงกว่าในผู้หญิง    รวมทั้งมีผลให้ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจในครอบครัว     

ผลประโยชน์จากการศึกษายืนยาว

เขาอ้างผลงานวิจัยมากมาย ในหลากหลายประเทศ ที่แสดงว่าระดับการศึกษาในพ่อแม่มีผลดีต่อชีวิตของลูก    และคนมีการศึกษาสูงมีความสามารถในการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิตได้ดีกว่า   

การศึกษาให้ประโยชน์แก่ทุกส่วนของสังคม

มองด้านบวก การศึกษาสร้างทุนมนุษย์  ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ    หากการเปลี่ยนแปลงสูงกว่าในกลุ่มด้อยโอกาส ก็จะมีผลลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเลื่อนฐานะทางสังคม    ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรทางสังคม ได้แก่การมีส่วนร่วมทางการเมือง ความเชื่อถือไว้วางใจกัน และความอดทนอดกลั้น    การศึกษาสามารถสร้างส่วนประกอบของสถาบันที่ผู้คนร่วมเป็นเจ้าของ    สร้างความผูกพันระหว่างรัฐกับพลเมือง    นำไปสู่การร่วมมือกันพัฒนาระบบการศึกษาได้      

การศึกษาส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในระดับประเทศ การศึกษาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ๒ ทาง คือ  (๑) การเติบโตระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยเพิ่มขีดความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีจากภายนอก  และ (๒) การเติบโตระยะยาว โดยการกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองภายในประเทศ   

ประเทศที่มีพัฒนาการต่อเนื่องระยะยาว ต่างก็เอาใจใส่พัฒนาการศึกษา  โครงสร้างพื้นฐาน  และสาธารณสุข    ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่งคือเกาหลีใต้    ที่มีการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง   

มีผลการวิจัย ๖๐ ผลงาน ระบุว่า การลงทุนด้านการศึกษาอย่างครอบคลุม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้    

การศึกษาสร้างองค์ประกอบของสถาบันที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง

การศึกษามีส่วนสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของประเทศ  ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (civic engagement)   มีผลงานวิจัยบอกว่า คนมีการศึกษาสูงมีอัตราการไปลงคะแนนเสียงทางการเมืองสูงกว่า    และมีความเชื่อในประชาธิปไตยสูงกว่า    มีความไว้วางใจ  ความอดทนอดกลั้น  และความมีจิตสาธารณะ สูงกว่า    โดยมีคำอธบายว่า เมื่อคนเรามีความสามารถอ่านใจคนอื่นได้ดีขึ้น ทำให้มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) สูงขึ้น     

การเรียนรู้กับเป้าหมายของการศึกษา

เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของการศึกษาคือการเอื้ออำนาจ (empower) บุคคลและสังคม    แต่การศึกษาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ด้วยตนเอง    ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ในสังคม   นอกจากนั้น หากมีการจัดการระบบการศึกษาในรูปแบบที่ผิดพลาด แทนที่การศึกษาจะก่อผลดี กลับจะก่อผลร้ายต่อสังคม  กล่าวคือ สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น   มีการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง   และสร้างคนมีการศึกษาที่คุณภาพต่ำ

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การไปโรงเรียน (schooling)  ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการเรียนรู้ (learning)    สิ่งที่ต้องการคือการเรียนรู้    หากการไปโรงเรียนไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ หรือเกิดการเรียนรู้ผิดๆ    การไปโรงเรียนก็ไร้ความหมาย หรือกลับก่อผลร้าย   

ที่น่าสนใจคือ รูป ๑.๔ หน้า ๔๕ ที่แสดงให้เห็นว่าอัตรารู้หนังสือของผู้เรียนจบชั้นต่างๆ ใน๑๑ ประเทศ  มีความแตกต่างกันมาก    สะท้อนความแตกต่างของคุณภาพการศึกษา

การศึกษาจะก่อผลดีต่อสังคมได้มากเพียงใด ขึ้นกับองค์ประกอบที่หลากหลาย   ที่สำคัญคือระบบเศรษฐกิจ  การเมือง  และสังคม    หรือกล่าวใหม่ว่า ระบบการศึกษาไม่ได้ลอยอยู่ในอวกาศ หรือไม่ได้แยกตัวออกจากระบบอื่นๆ ในสังคม    และมีปัจจัยที่มีส่วนก่อผลกระทบต่อการศึกษาอย่างนึกไม่ถึง    เช่นระบบสิทธิทางปัญญา  ซึ่งหากอ่อนแอ ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในกิจการใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง  ส่งผลลบต่อตลาดแรงงาน  และส่งผลต่อเนื่องมายังผลกระทบทางเศรษฐกิจของการศึกษา   

เขายกตัวอย่าง ๔ กรณีที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ส่งผลให้การศึกษาให้ผลตอบแทนต่ำ

  • เศรษฐกิจไม่ดี ความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาสูงลดลง    คนที่มีการศึกษาสูงก็มีโอกาสตกงานสูง    การลงทุนเรียนก็ให้ผลตอบแทนต่ำ
  • ประเทศให้แรงจูงใจผิด   มีตัวอย่างนักการเมืองเอาใจผู้มีการศึกษาสูง โดยสัญญาสร้างตำแหน่งงานภาครัฐให้    ในกรณีเช่นนี้ การลงทุนด้านการศึกษาจะก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย    เพราะผู้มีการศึกษาไปทำงานที่ไม่ก่อผลทางเศรษฐกิจ 
  • วัฒนธรรมเหยียดเชื้อชาติ เหยียดวรรณะ หรือเหยียดเพศ มีผลให้ผู้มีการศึกษาสูงในกลุ่มดังกล่าวไม่มีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่   เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมาก และก่อผลกระทบในทางลบได้มากกว่าที่คิด
  • การได้งาน ขึ้นกับเส้นสาย มากกว่าขึ้นกับความสามารถ   

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของการศึกษาคือ การเรียนรู้    มีผลการวิจัยมากมายที่ชี้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของบุคคล ขึ้นกับสมรรถนะที่ได้จากการเรียน ไม่ใช่ขึ้นกับจำนวนปีที่เรียน   ดังแสดงในรูปที่ ๑.๕ หน้า ๔๖    

ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากคือเรื่อง learning –adjusted years of schooling ในหน้า ๔๘   และแสดงในรูป B1.3.1   ซึ่งเป็นผลงานวิจัยในแรงงานอายุ ๒๕ - ๒๙ ปี    จะเห็นว่าประเทศอียิปต์ แรงงานมีการศึกษาเฉลี่ย ๑๐ ปี   แต่เมื่อเอาผลการทดสอบ TIMSS และ PISA มาจับ แรงงานเหล่านี้เทียบเท่ากับมีการเรียนรู้ ๖ ปีเศษๆ เท่านั้น   ของไทยตัวเลขทั้งสองคือ ๑๐.๕ ปี กับ ๗ ปี   กล่าวใหม่ว่า แรงงานไทยมีการศึกษาเฉลี่ย ๑๐.๕ ปี  แต่มีการเรียนรู้เฉลี่ยเพียง ๗ ปี   

ขณะนี้การไปโรงเรียนกับการเรียนรู้ เป็นคนละสิ่ง    เป้าหมายของการศึกษาคุณภาพสูงคือ ทำให้เป็นสิ่งเดียวกัน   

วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๖๒

 

หมายเลขบันทึก: 665309เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2019 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2019 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท