ความรอบรู้ด้านสุขภาพกับการปะทะทางความคิดต่อกรณีกัญชาเสรีทางการแพทย์ (ตอนที่ ๓)


ตอนที่ ๑ ตอนที่ ๒

ผู้เขียนเห็นว่า สังคมไทยควรมีการเปิด “พื้นที่สาธารณะ” เพื่อให้เกิดการถกเถียงเชิงคุณค่า ด้วยฐานความรู้และปัญญา อุดมการณ์ รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ของประเทศชาติภายใต้หลักการของศีลธรรม จริยธรรมและความมั่นคงของประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อทำความเข้าใจความหมายของมิติต่าง ๆ ทางสังคมของแต่ละส่วน ความถูกต้องชอบธรรมของสังคม อันนำไปสู่ทางออกของปัญหาหรือเป้าหมายอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกส่วนในสังคมอย่างสมานฉันท์  

โดยมิติหรือประเด็นของการพูดคุยถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ใน “พื้นที่สาธารณะ” ดังกล่าวนั้น มีประเด็นหรือมิติที่ควรนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาทางออกร่วมอย่างสร้างสรรค์ อันนำไปสู่การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อกรณีกัญชาเสรีทางแพทย์ของสังคมไทย ดังต่อไปนี้

๑) การจัดการสถานะของพืชกัญชา ที่ฝ่ายหนึ่งมองว่า กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่มองว่ากัญชาเป็นพืชยาสามัญประจำบ้านที่สามารถปลูกและใช้ได้อย่างเสรี หากสถานะของพืชกัญชามีความชัดเจนว่าอยู่ในสถานะใดของสังคมในปัจจุบัน ประเด็นต่อมาคือ จะดำเนินการกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานะของกัญชาและสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยและสังคมโลกอย่างไร จะแก้ไขกฎหมายให้กัญชาเป็นพืชยาสามัญประจำบ้านที่มีการปลูกและใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรคได้อย่างเสรี หรือจะยังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดต่อไป หรือจะมีทางออกอย่างไรที่เหมาะสม

๒) การจัดการความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์ประเด็นเรื่องความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคเป็นอีกประเด็นที่ยังสร้างความสับสนให้กับประชาชนและสังคม เพราะมีความรู้สองฝ่ายที่ปะทะกันอยู่อย่างชัดเจน ทั้งในมิติของความรู้ทางการแพทย์ตะวันตก และความรูภูมิปัญญาตะวันออก หรือการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ที่ขึ้นอยู่กับบริบท ความหลากหลายและมีความเป็นสหสาขาวิชามากขึ้น สังคมจะมีทางออกในเรื่องของสถานะองค์ความรู้กัญชาทางการแพทย์อย่างไร จะมีทิศทางหรือแนวโน้มในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ชัดเจนของประชาชนและสังคมว่า ประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้จริงของพืชกัญชานั้น สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง และมีแนวทางหรือวิธีการใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรคอย่างถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วย/กลุ่มผู้ป่วยอย่างไร เพื่อให้ประชาชนและสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจากการใช้กัญชาเพื่อการบำบัดรักษาโรคอย่างมีวิจารณญาณ

(ติดตามตอนต่อไป)

นภินทร ศิริไทย

    หมายเลขบันทึก: 665285เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท