ความรอบรู้ด้านสุขภาพกับการปะทะทางความคิดต่อกรณีกัญชาเสรีทางการแพทย์ (ตอนที่ ๑)


จากกรณีกัญชาเสรีทางการแพทย์ ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ ที่มีการแบ่งความคิดของผู้คนหรือประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วยและสนับสนุนการใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์ กับกลุ่มที่คัดค้าน ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องมาจากแต่ละกลุ่มมีความรู้และความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ในกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในสังคมมีความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน จึงส่งผลต่อความเชื่อ ความเข้าใจ และพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิดของสังคม ซึ่งเป็นแง่มุมของความคิดหรือกระบวนทัศน์ที่มีความเห็นต่างขัดแย้งกันระหว่างแนวความคิดทางสังคมแบบสมัยใหม่ (Modernism) และแบบหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) อย่างชัดเจนในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้และอำนาจ ทั้งอำนาจของความรู้ อำนาจของภาครัฐหรือระบบราชการ หรือแม้กระทั่งอำนาจของทุนนิยม และแต่ละฝ่ายของอำนาจต่างเข้ามามีส่วนกับการกระทำการทางสังคมผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างมีความสัมพันธ์สอดรับเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอย่างซับซ้อน เหลื่อมทับกันจนแยกไม่ออก

โดยในมิติของความรู้ เป็นการปะทะกันระหว่างความรู้ในแนวคิดแบบสมัยใหม่ ที่มองว่า ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ การแพทย์ตะวันตก หรือการแพทย์กระแสหลัก ที่มีวิธีการแสวงหาและค้นคว้าความรู้ตามระเบียบวิธีวิทยาในการสร้างความรู้อย่างเป็นระบบ และได้รับการยอมรับว่าเป็นความรู้ที่เป็นความจริง และถูกให้คุณค่า รวมถึงนำมายึดถือเป็นความรู้กระแสหลักของสังคมมาอย่างยาวนาน กับความรู้ที่มาจากการลงมือปฏิบัติจนเกิดเป็นความรู้ ซึ่งในกรณีนี้ คือ ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน หรือหมอพื้นบ้านในการใช้กัญชาเพื่อการบำบัดรักษาโรค ที่มีการแสวงหาและค้นคว้าความรู้ ผ่านการสั่งสมประสบการณ์จากการปฏิบัติการจริง และสืบทอดความรู้เหล่านี้มาหลายชั่วอายุคน แต่กลับถูกลดทอนคุณค่าลงไปและถูกแทนที่ด้วยความรู้กระแสหลัก จนกลายเป็นความรู้ทางเลือก หรือความรู้กระแสรองของสังคมไปในที่สุด

แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่เป็นสังคมทุนนิยมไร้พรมแดน ตามที่นักคิดทางสังคมแบบหลังสมัยใหม่หลายคน ได้มีการเสนอความคิดเกี่ยวกับความรู้ที่สอดรับผสานกับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน ความรู้จึงไม่ได้อยู่ที่ความรู้กระแสหลักอีกต่อไป แต่ความรู้ คือ การเชื่อมโยงความรู้หลายศาสตร์ หรือสหสาขาวิชา เป็นการเชื่อมความรู้สากลกับความรู้พื้นบ้าน/ท้องถิ่นเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม โดยไม่แยกส่วนความรู้ออกจากความจริงและบริบท ไม่แยกความรู้ออกจากผู้ปฏิบัติหรือเจ้าของความรู้ อันจะนำไปสู่การเปิดกว้างทางความคิดและเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ของความรู้ โดยเฉพาะความรู้ด้านสุขภาพที่มีมิติของความเป็นองค์รวม ให้มีการผสมผสานเชื่อมโยงและสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ของสุขภาพและระบบสุขภาพ ต่อการจัดการปัญหาด้านสุขภาพ การดูแลจัดการตนเองและการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชน ชุมชน และสังคมอย่างเป็นระบบ เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

นภินทร ศิริไทย

หมายเลขบันทึก: 665283เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท