ถอดบทเรียนเพื่อศึกษารูปแบบการเฝ้าระวังการป้องกันปัญหา ยาเสพติดโดยภาคประชาชน


การดำเนินงานวิจัยถอดบทเรียนเพื่อศึกษารูปแบบการเฝ้าระวังการป้องกันปัญหายาเสพติดโดยภาคประชาชนนี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกับกับเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านยาเสพติดแห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ได้พบว่าสองพื้นที่เป้าหมายคือ ตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา และตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล นี้ได้ใช้กลไกเครือข่ายภาคประชาชนที่มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยกระบวนการเฝ้าระวัง ที่“ไม่มีสูตรสำเร็จเฉพาะ”

  ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงให้ความสำคัญในการศึกษารูปแบบการเฝ้าระวังของพื้นที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เพื่อถอดบทเรียน-องค์ความรู้ ของกระบวนการแก้ไขปัญหาของทั้งสองตำบล เพื่อนำผลจากการวิจัยมาหนุนเสริมพลังให้กับชุมชน

ผลการวิจัย

รูปแบบที่ 1 การเฝ้าระวังด้วยการเดินลาดตะเวน หรือการตั้งด่านตรวจโดยรอบของหมู่บ้านทุกคืนของศูนย์รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และชุดรักษาความสงบของหมู่บ้าน(ชรบ.ตำบลสาคร) ซึ่งในการตั้งด่านและการลาดตระเวนนั้น ผู้วิจัยพบว่าภาคประชาชนทำเพื่อป้องกันการมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่นที่เสี่ยงหรือผู้เสพยามารวมตัวกันยามวิกาล รวมถึงขบวนการค้ายาที่ใช้ช่วงเวลายามค่ำคืนขนยาในพื้นที่ทางผ่านอย่างตำบลควนรู และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างตำบลสาคร ในความหมายการลาดตะเวน/ตั้งด่านของภาคประชาชนจากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ไม่ใช่การตั้งจับหรือเพื่อหาคนผิด การจับกุมเพื่อดำเนินคดีไม่ใช่แนวการทำงานของภาคประชาชน แต่ทำเพื่อลดภาวะเสี่ยงของลูกหลานจากยาเสพติดและคนในชุมชนปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

รูปแบบที่ 2 การพูดคุยทำความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มผู้เสพโดยกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นรูปแบบกิจกรรมที่ทำให้การทำงานของภาคประชาชนแตกต่างจากหน่วยงานอย่างเห็นได้ชัด จากการลงพื้นที่จัดกระบวนการกลุ่มแกนนำสะท้อนว่า ส่วนใหญ่กลุ่มของผู้เสพต้องการผู้นำ ผู้ให้โอกาสกับเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงตัวของกลุ่มพวกนี้ได้ ต้องมี “ใจ” และภาคประชาชนทำงานด้วย “ใจ” มองผู้เสพยาคือลูกหลานที่ต้องดูแลทำให้ความคิดความรู้สึกต่างจากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่ทำงานด้วย “หน้าที่” ทำให้มองผู้เสพคืออาชญากรไม่ใช่ลูกหลานการจัดการการแก้ไขจึงตั้งอยู่บนพื้นที่ทำให้เสร็จตามหน้าที่ที่ได้รับมา ในขณะที่ภาคประชาชนทำงานเพื่อวันข้างหน้า ลูกหลานที่เป็นความหวังของครอบครัว เป็นกำลังสำคัญของชุมชนและชาติจะเป็นอย่างไรหากกระทำการแบบรุนแรงผลที่ตามมาเสมือนกับว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” กับอนาคตของลูกหลาน ดังนั้นการที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้เสพสิ่งสำคัญที่แกนนำสะท้อนให้ฟังคือ การเอาใจแลกกับใจที่บริสุทธิ์ตั้งบนฐานความรัก ความเข้าใจ การพร้อมที่จะให้โอกาสกับเขาเสมอ

รูปแบบที่ 3 การให้ความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้แก่แกนนำภาคประชาชน ถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานให้กับภาคประชาชนในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เพราะในเรื่องของปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และทับซ้อนกับผลประโยชน์ ทั้งคนมีสีและคนนอกเครื่องแบบ ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดังที่แกนนำสะท้อนว่า ภาคประชาชนทุกคนต่าง “กลัวตาย” เช่นกัน จึงจำเป็นที่ต้องมีความรู้และแนวทางในการทำงานเพื่อเป็นเกราะป้องกัน และภูมิความรู้ในการเข้าถึงกลุ่มผู้เสพ

รูปแบบที่ 4 การจัดกิจกรรมทางเลือกให้กับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ทั้งในด้านการสร้างสำนึกรักษ์ถิ่น รักษ์สิ่งแวดล้อม สำนึกในคุณธรรมจริยธรรมเข้าถึงศาสนามากขึ้นเพื่อขัดเกลาจิตใจ ผ่านการอบรมให้ความรู้ การเข้าค่าย กิจกรรมด้านศาสนาของตำบลสาครได้ใช้วิธีการเข้าพูดคุยโดยตรงกับกลุ่มผู้เสพยาเสพติดให้เข้าสู่การ “ดาวะห์” ที่เป็นกระบวนการบำบัดโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องขัดเกลา


หมายเลขบันทึก: 665277เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท