กระดุม ๕ เม็ด กับ "วงจรอุบาทว์เกษตรกรไทย" ในสภาฯ โดย ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์


ผมเกิดแรงบันดาลใจอย่างยิ่งที่จะถอดบทเรียนจากการอภิปรายในสภาฯ ของ ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหมือนผมเพิ่งจะเข้าใจว่า ส.ส. รุ่นใหม่ ควรจะมีบทบาทอย่างไรในฐานะที่อยู่ฝ่ายค้าน เป็นการอภิปรายที่ดีมาก ท่านทำการบ้านมาอย่างดีเยี่ยม ข้อมูลเชิงตัวเลขและสถิติแม่นยำ และที่สำคัญคือ จำตัวเลขได้ทั้งหมดโดยไม่ดูโพยแม้แต่นิดเดียว ....  พลเอกอนุพงษ์ รมต.มหาดไทย กล่าวว่า ท่าน "ทึ่ง" และเอ่ยชมไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง ผมอยากเสนอให้ใครที่ยังไม่ได้ฟัง ลองคลิกที่นี่เพื่อรับชมด้วยตนเองเถิด

ที่ประทับใจที่สุด คือ การอภิปรายโดยเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยกับ "กระดุม ๕ เม็ด" กับปัญหาของเกษตรกรไทย ผมตั้งชื่อเองว่า "วงจรอุบาทว์"  และวาดรูปเพื่อสื่อสารกับท่านดังภาพ

ส.ส.พิธา บอกว่า นโยบายเร่งด่วน ๑๒ ประการของรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือ นโยบายนี้ก็เหมือนกับนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่เขียนมาแล้วตั้งแต่ ๔๐ ปีที่แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การลงรายละเอียดในการปฏิบัติของรัฐบาลต่างหาก และเริ่มอภิปรายถึงปัญหา ๕ ประการ และเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาที่ต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ถูก เปรียบเหมือนกับต้องติดกระดุมให้ถูกต้องตั้งแต่เม็ดแรก 

กระดุมเม็ดแรก คือ เกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง 

ส.ส.พิธา บอกว่า เรื่องที่ดินทำกินและเอกสารสิทธิ์ เป็นกระดุมเม็ดแรก เป็น "ปัญหาคอขวด" ที่ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืน ท่านเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า 

  • ที่ดิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ ถูกครอบครองด้วยคนเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ 
  • ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของประชาชนไทย ไม่มีโฉนดเป็นของตนเอง 
  • ชาวนากว่า ๔๕ เปอร์เซ็นต์ ยังจำเป็นต้องเช่าที่ดินอยู่ 
  • มีที่ป่าสงวนกว่า ๖ ล้านไร่ ซึ่งมีปัญหาการทับที่ของชาวบ้าน และเป็นคดีอยู่กว่า ๘,๐๐๐ คดี
  • เกษตรกรไม่สามารถจะขอ GAP ได้  (Good Argricultural Practice มาตรฐานการผลิตแบบหนึ่ง) เนื่องจาก ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น เกษตรกรปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก ที่ อ.เนินมะปรางค์ จ.พิษณุโลก ที่มีปัญหาเรื่องนี้กว่า ๓๐,๐๐๐ ไร่ ฯลฯ
  • ชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีที่ดิน ก็จะไม่สามารถขอรับบริการไฟฟ้าและน้ำจากรัฐได้ 

ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ ส.ส.พิธา เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับคนไทย หรือสังคมพิเศษหรือเขตพื้นที่พิเศษ คล้าย ๆ กับที่รัฐบาลกำลังทำ EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับต่างประเทศ 

  • เสนอให้ยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนเรื่องที่ดิน 
  • ให้มีบทเฉพาะการได้หรือไม่ ให้ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ได้หรือไม่ 
  • ถ้าใช้แผนทีของ GIST 1:4000 ซึ่งรัฐบาลกำลังทำอยู่ สแกนดูว่า พื้นที่ ๖ ล้านไร่นั้น ส่วนใดที่จะสามารถจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินได้หรือไม่ 

กระดุมเม็ดที่สอง คือ "หนี้สิน"

  • ทุกวันนี้ (๒๕๖๒) เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง ๕๗,๐๐๐ บาทต่อปี เพียง ๔,๐๐๐ กว่าบาทต่อเดือน 
  • กว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกร มีหนี้สินมากกว่า ๒.๕ เท่า ของรายได้ 
  • ชาวบ้านต้องทนกู้เงินดอกเบี้ยนอกระบบ ร้อยละ ๒๐ ต่อเดือน (อันนี้ผิดกฎหมาย) ในขณะที่คนชนชั้นกลางกู้เงินด้วยดอกเบี้ยเพียง ๖.๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น

ส.ส. พิธา เสนอว่า ให้เอา Big Data มาใช้ในการคำนวณเครดิตด้วยการตรวจสอบจากรายจ่ายของประชาชน ซึ่งระบบการสร้างเครดิตทางเลือก (Alternative Credit Scoring) นี้บางรัฐของอินเดียใช้ได้ผล 

กระดุมเม็ดที่สาม "ต้องพึ่งสารเคมีกับการประกันราคา"

สองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกัน เมื่อเกษตรกรเป็นหนี้ เกษตกรก็ต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยว ต้องใช้สารเคมีเพื่อจะให้ได้ผลิตผลปริมาณมาก ๆ และคุณภาพดี จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมี โดยหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐ จากโครงการประกันราคา เกษตรกรจะไม่กล้าจะเสี่ยงทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ต้องจมอยู่ใน "หนี้สินกับอินทรีย์" ต่อไป ส.ส. พิธา บอกว่า 

  • ประเทศไทย นำเข้าสารเคมีทางการเกษตร มากเป็นอันดับ ๔ ของโลก ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีมากเป็นอันดับที่ ๔๘ ของโลก 
  • ปี ๒๕๖๑ นำเข้ามา ๑๘๐,๐๐๐ ตัน เป็นมูลค่า ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท  .... ตอนนี้ไทยเปลี่ยนจาก "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" เป็น "ในน้ำมียา ในนามีหนี้"

ข้อเสนอแนะสำหรับปัญหานี้ ไทยควรจะดูนโยบายของ Green China ที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมี ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มีการตั้งธนาคารชีวภาพ ตั้งสถาบันชีวภาพ สนับสนุนการใช้สมุนไพร ทำผลิตออกมากว่า ๒๐๐ ตำหรับ และมีผลิตภัณฑ์มากกว่า ๒,๐๐๐ สินค้า 

กระดุมเม็ดที่สี่ "ไม่สามารถแปรรูปและสร้างนวัตกรรมได้เอง"

กระดุมทั้งสามเม็ดแรก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูง รายได้ต่ำ และติดอยู่ในหนี้สิน จึงไม่สามารถจะแปรรูปและสร้างนวัตกรรมของตนเองได้ ในขณะที่รัฐบาล ตั้งงบวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ 

ส.ส.พิธา เสนอแนะว่า ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพกในการเป็นฮัป (ศูนย์กลาง) ด้านการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ แต่คำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการผูกขาดและการน้ำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ 

กระดุมเม็ดที่ห้า "ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้" 

เทร็นด์ของโลกตอนนี้คือ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกำลังมาแรง การท่องเที่ยวเชิงชุมชนกำลังได้รับความนิยม แต่เกษตรกรก็ไม่สามารถทำได้เพราะยังดินอยู่กับ "กระดุมเม็ดแรก" 

ก่อนจะจบการอภิปรายในประเด็นกระดุม ๕ เม็ด ส.ส.พิธา ได้ทดลองทดสอบสมมติฐานตนเองได้อย่างน่าสนใจครับ  ว่า...

  • ถ้าไปติดกระดุมเม็ดที่สองก่อน โดยการพักหนี้ ๓ ปี ๕ ปี สุดท้ายปัญหาก็จะกลับมาเหมือนเดิม 
  • ถ้าจะติดกระดุมเม็ดที่สามให้ แปรรูปการเกษตรให้  จะไม่สามารถทำได้ เพราะชาวบ้านไม่มีเงินออม
  • ถ้าจะไปสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวการเกษตร คือ ไปติดกระดุมเม็ดที่สี่ให้ ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะเกษตรกรยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ 
  • ฯลฯ 

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง 

สุดท้าย ท่านสรุปว่า  สิ่งสำคัญที่สุดคือ "คน" และ "เครื่อง" การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ จะต้องทำทั้งพัฒนาคุณภาพของคน และส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงเครื่องจักร 

  • ด้าน "คน" ขณะนี้เกษตรกรกำลังลดจำนวนลงอย่างมาก  ปี ๒๕๕๖ มี ๒๖ ล้านคน  ลดลงเหลือ ๑๕ ล้านคน ในปี ๒๕๕๙ ซึ่งในจำนวนนี้ ๕๙ เปอร์เซ็นต์ มีอายุมากกว่า ๔๐ หรือ ๕๐ ปี .... รัฐบาลจะทำอย่างไร ให้คนกลับสู่ภาคเกษตร  
  • ด้านของ "เครื่อง"  เรามีเครื่องจักรน้อยมาก คิดเป็นอัตรา ๑ เครื่อง ต่อ ๑๙๒ ไร่  ในขณะที่เกษตรกรญี่ปุ่นอยู่ที่ ๑ ต่อ ๒๐ ไร่ เท่านั้น 

ส.ส. พิธา กล่าวจบด้วยการบอกว่า ตนเองมีความหวังว่าประเทศไทยจะสามารถจะช่วยเหลือให้เกษตรกรได้จริง ๆ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

................................................................................................................................................

ผมฟังแล้วรู้สึกได้ประเทืองปัญญามาก  แม้ว่า จะรู้สึกว่า ในทางปฏิบัตินั้น ทุกสิ่งอย่างซับซ้อนกว่ากระดุม ๕ เม็ดนี้มาก เพราะคนส่วนใหญ่ตกอยู่ในโมหะภูมิทั้งสิ้น ...

หมายเลขบันทึก: 664088เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2019 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2019 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท