ถอดถอนเครื่องพยุงชีพ ….คือถอดถอนความ ทุกข์ทรมานให้หนู (ตอนที่ 2)


              หลังจากที่เราคุยกันวันแรก เวลาผ่านไป 4 วัน การดูแลหนูดำเนินไปตามแผนการดูแลแบบสุขสบาย และถึงที่สุดทีมกุมารแพทย์ได้มีการสื่อสารถึงการดูแลอีกรูปแบบคือการถอดถอนเครื่องพยุงชีพ จุดเปลี่ยนของการตัดสินใจ คือเมื่อครอบครัวได้ปรึกษาหารือกันถึงความต้องการที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ทรมานให้กับหนู ทำให้ตัดสินใจที่จะเลือกแผนการดูแลที่จะถอดถอนเครื่องพยุงชีพ  และ ทีมก็เคารพการตัดสินใจ ของครอบครัวที่อยู่บนฐานของการได้รับข้อมูลที่เพียงพอและตรงจริงถึงหนทางการไปต่อที่เป็นไปได้ลำบาก ปัญหาซีด เลือดออกง่าย เกล็ดเลือดต่ำ ตับม้ามโต การทำงานของระบบเม็ดเลือดผิดปกติ ไม่ตอบสนองการรักษาต่อการให้ส่วนประกอบของเลือด และการส่องไฟรวมทั้งการให้ยาฆ่าเชื้อ ตับวาย   มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จะว่าไปในบ้านเรามีรูปแบบการถอดถอนเครื่องพยุงชีพในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (์NICU) มาระยะหนึ่งแล้ว  มีแผนการจัดการอาการให้สุขสบาย 

           บทบาทสำคัญของ พยาบาล  Palliative Care Nurse Case Manager  คือการเชื่อมประสาน(coordinated care) ประสานการดูแลรอบด้านและการสื่อสารกับครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะ  coordinated care จะช่วยให้เกิด Improving Clinical Outcomes ‎แน่นอน ในขณะที่รอหลวงลุงวัดป่าอดุลย์ซึ่งทางทีมการพยาบาลหอผู้ป่วย
ทารกแรกเกิดระยะวิกฤต(์NICU)ได้นิมนต์ท่านไว้แล้ว และระหว่างที่รอ

“ คุณพ่อคุณแม่ พยาบาลอยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการถอดถอนเครื่องช่วยหายใจวันนี้นะคะ ก่อนจะถอดคุณหมอจะให้ยาควบคุมอาการ ทำให้น้องพักได้ ไม่เหนื่อย ไม่มีอาการกระสับกระส่าย อันนี้ไม่ต้องกังวลนะคะ มีอะไร อยากจะถามเพิ่มเติมมั๊ยคะ”  

“แล้วน้องจะจากไปเร็วมั๊ยครับ” คุณพ่อเอ่ยถามขึ้น  “ยังบอกไม่ได้นะคะ แต่การตั้งเครื่องช่วยหายใจไม่สูงมากน้องอาจจะอยู่ได้สักพัก”

          และสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญอีกอันคือ ต้องทวนซ้ำกับครอบครัว ถึงความมั่นใจและ emotional response  ที่อาจเกิดขึ้นได้ในพ่อแม่ที่ตัดสินใจยุติการรักษาคือ ความรู้สึกผิ  “เราทำให้ลูกไปเร็วหรือเปล่า ไม่ใช่ใช่มั๊ย” น้าที่ของทีมการพยาบาลคือ ให้ความมั่นใจ พาพ่อแม่เดินต่อ และยืนยันถึงการตัดสินใจที่มาถูกทางแล้ว  

“คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจถูกแล้วเรามาถูกทางแล้วนะ เรากำลังช่วยน้องในการปลดเปลื้องความทุกข์ทรมาน”




         หลังการพูดคุยผ่านไปสักพัก หลวงลุงก็มาถึงพอดีพิธีกรรมถวายสังฆทานและสวดบังสุกุลเป็นจึงเริ่มขึ้น วันนี้ทุกคนได้ร่วมทำบุญกับหนูน้อย palliative care  และเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ทีมการพยาบาลหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต  (NICU) ทั้งหมอ พยาบาล ทั้งทีม พอทราบว่ามีพิธีกรรมต่างก็มานั่งล้อมวงและร่วมกันรวบรวมปัจจัยตามกำลังถือเป็นการทำบุญก่อนวันพระใหญ่ในวันอาสาฬหบูชาที่จะมาถึงในวันถัดไป
 เสร็จพิธีกรรม ก็จะเตรียมการจัดสิ่งแวดล้อม ดูดเสมหะให้หนูสุขสบาย และเปิดโอกาสให้พ่อ แม่ ได้มีช่วงเวลาที่ดี ได้อุ้มกอดสัมผัส เป็นเวลาที่มีความหมาย เที่ยงสิบห้านาที หนูต้องหายใจเองแล้วนะ โดยไม่มีเครื่องช่วยหายใจแล้ว   กระบวนการเป็นไปด้วยความราบรื่น  หลังเริ่มหายใจเองดูสุขสบาย หลับพักได้

           เช้าวันที่สามหลังจากที่หนูหายใจด้วยตัวเอง วันนี้มาติดตามเยี่ยม วันนี้มารอราวน์ร่วมกับอาจารย์หมอ Staff และ  ทีมแพทย์ประจำบ้านกุมารฯ และ  ทีมการพยาบาล หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (NICU) เราคุยกัน และได้ถกประเด็นร่วมกับทีมการพยาบาล

  1. เรื่องการกลับบ้าน  สถานที่ดูแล เราน่าจะได้มาคุยกันแล้วว่าควรจะเป็นที่ไหน และทางเลือกให้ครอบครัวคือ  กลับบ้านมั๊ย  อาจารย์หมอจรรยา เอ่ยขึ้นว่า

    “ถ้าน้องเสียแล้วพ่อแม่เค้าจะอุ้มมาให้เราผ่าพิสูจน์มั๊ยคุณกุ้ง อีกอย่างเคสนี้การเจาะไขกระดูกพิสูจน์ จะเป็นประโยชน์กับพ่อ แม่ในการวางแผนมีลูกคนถัดไป”  

    คิดว่าพ่อแม่เค้าคงไม่อุ้มลูกมา และเมื่อสอบถามก็เป็นจริง ดังนั้นแผนการที่ 2 คือ การย้ายไปอยู่หอผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิดที่มีห้องส่วนตัว แม่สามารถฝ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงแต่เราต้องคุยแม่อย่างนุ่มนวลเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวทำอย่างไรไม่ให้ครอบครัวคิดว่าเราผลักไส เพราะประสบการณ์ในการดูแลคนไข้สอนเรามา การแนะนำให้กลับบ้านบางครั้งครอบครัวมองว่าเราไม่อยากดูแล เป็นเรื่องใหญ่โตมาแล้ว  คนไข้ระยะท้ายและครอบครัว มีความอ่อนไหวอยู่แล้ว  

    2. การกระตุ้น bonding ให้ได้มากที่สุดให้ครอบครัวได้มาอุ้มโอบกอดสัมผัสการช่วยกระตุ้นให้คุณแม่มาเยี่ยมหนูและบีบน้ำนมให้หนูบ่อยๆ ในบางมุมมองของพยาบาลบางท่านก็มีบ้างที่ประเมินได้ว่าแม่มีความกลัวที่จะมาเยี่ยมลูก กลัวการผูกพัน รักถลำลึกแล้วในวันที่ไม่มีหนูแม่จะลำบาก เหตุการณ์นี้เกิดได้ในแม่บางคนและเราต้องยอมรับปฏิกิริยานี้ และรับรู้ถึงความเจ็บปวดของแม่ที่กำลังจะสูญเสียลูก ดีที่สุดคือการอยู่ข้างๆไม่ตัดสินและคอยเสริมพลังและทีมได้ฝากกุ้งเข้าค้นหาในเชิงลึก

    3. การจัดการอาการ ทีม ได้ เรียนรู้ ผู้ป่วย withdraw life support  แต่ไม่ได้ใช้ยา  morphine or midazolam  บทเรียนรู้เคสแรก เท่าที่พบมาอ. หมอจรรยาสอนว่า ส่วนหนึ่งเด็ก มี hepatic encephalopathy  ด้วยซึ่งซึมอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีอาการกระสับกระส่าย  

       วันนี้การราวน์เรา สรุป Management plan  เป้าหมายการดูแล comfort care จนกว่าหนูจะ จากไปตามธรรมชาติ  และ  ค้นหาเชิงลึก  ตามที่พี่ พยาบาล เสนอแนะ ถึง ความรู้สึก ของ แม่  ถึงความ ต้องการการดูแลลูก หรือยังมีความกลัว กังวล    

      จากประเด็นวันนี้บทบาทของพยาบาล   CASE MANAGER  คือการลงไปหาความจริง explore ลงลึกและทำงานร่วมกับพ่อ แม่หนู  และคำตอบที่ได้คือ หนูโอเคค่ะพี่กุ้งแต่เวลาเข้าไปหาลูกหนูก็ทำใจไม่ได้ หนูพยายายามอยู่นะ หนูพึ่งเข้าไปเยี่ยมลูกมา ออกมาเมื่อสักครู่ค่ะ น้องนอนอยู่  เย็นๆจะเข้าไปใหม่  ขอบคุณที่คอยให้กำลังเรานะคะ” คำบอกเล่าของแม่วันนี้ทำให้รู้ว่า แม่คนนี้ไม่ได้บกพร่องต่อการทำหน้าที่แม่แต่อย่างใด แต่บางครั้งต้องให้เวลาเค้า และเข้าใจรับรู้ความรู้สึกของคนที่กำลังจะสูญเสีย

      คือความเศร้าโศกล่วงหน้าภาษา palliative care คือ anticipatory grief แสดงออกได้ทั้ง อารมณ์  ความคิด จิตวิญญาณ  ร่างกายและสังคม ช่วงเวลาที่กำลังจะสูญเสีย อาจมีอารมณ์โกรธบ้าง กลัวบ้าง ไม่ยอมรับ รู้สึกผิด รู้สึกเศร้า ปฏิเสธที่จะเผชิญกับความจริง

      “พยาบาลรับรู้ถึงความยากลำบากของแม่ออ(นามสมมุติ)ในสถานการณ์นี้นะ  มีอะไรที่อยากให้ทีมเราช่วยก็บอกเลยนะคะไม่ต้องเกรงใจ วันนี้นอนที่ไหนคะ” ที่ถามว่าแม่นอนที่ไหน  มีนัยว่าที่นี่มีห้องนอนสำหรับแม่ที่มีลูกป่วยในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด ถ้าแม่ออ พร้อมก็อยากให้มานอนที่นี่ได้เลยจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล

      “ที่เดิมค่ะบ้านญาติแถวสนามบินค่ะ พ่อเค้ายังไม่กลับ ถ้าพ่อเค้ากลับหนูจะมานอนที่นี่ค่ะ”

      และในช่วงเย็น น้องโบว์ พยาบาล Palliative Care Ward Nurse  ซึ่งปฏิบัติงานในช่วงเวรบ่ายก็ส่ง line เข้ามาส่งข่าวใน       LINE group CoP pediatric palliative care

      “เวรบ่ายแม่ได้เข้าฝึกเช็ดตัวและอุ้มน้องค่ะ แพทย์ ชุดาเล่าอาการปัจจุบันให้ฟังและสอบถามเรื่องการย้ายเข้าห้องส่วนตัว privacy แม่รับทราบและต้องการย้ายไปอยู่กับลูกค่ะ แต่ขอย้ายวันอาทิตย์เนื่องจากพ่อจะกลับไปทำงานวันอาทิตย์ แต่ได้แจ้งให้ทราบว่าถ้ามีเคสฉุกเฉินมาอาจต้องย้ายออกก่อน แม่และพ่อรับทราบค่ะ”

      "เยี่ยมเลยน้องโบว์ " ขอชื่นชมทุกคนในทีม   การทำงาน เราต้องให้คุณค่ากับทุกคนในทีมน้องๆพยาบาลและหัวหน้าหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤตให้ความสำคัญกับงาน pediatric palliative care ทำให้คนทำงานก็พลอยมีความสุขไปด้วยเราต่างช่วยกันต่อจิ๊กซอร์ให้เป็นภาพที่สวยงาม ประโยชน์ทั้งหมดตกไปอยู่กับหนูน้อย palliative careและครอบครัวร้อยเปอร์เซนต์

      วันนี้ จบ ตอนที่ 2 ของเรื่องเล่าเร้าพลัง รอติดตามตอนจบนะคะ  

      หมายเลขบันทึก: 663487เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2019 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2019 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


      ความเห็น (2)

      เรื่องยาวเลย บทสรุป มีปัญหาอะไรบ้าง และพยาบาลทำอย่างไร ตอนสุดท้าย

      พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท