เรียว ‘หวาย’


‘หวาย’ (rattan) เป็นพืชไม้เลื้อยหนามแหลมชอบขึ้นอย่างชุกชุมในเขตป่าฝนถิ่นร้อนชื้นเช่นอุษาคเนย์ เป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนพื้นบ้านผู้คุ้นเคยกับป่าดงมาแต่ครั้งโบราณ ด้วยลักษณะของลำต้นเรียวยาวอ่อนโค้งเป็นงวงงอน เหนียวทนทานต่อการบิดพับงอไม่เปราะแตกหักง่าย อย่างเดียวกับไม้ไผ่ หรือดีกว่านั้น จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบคล้ายกันและร่วมกัน ทั้งการจักตอกเป็นเชือกมัดผูกโยง การจักสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น กระบุง ตะกร้า เป็นต้น หรือเป็นส่วนประกอบในเครื่องมือดักล่าหาสัตว์น้ำ

และที่สำคัญคือ การนำหวายท่อนยาวมาเหลาให้เล็กเรียวถึงขนาด เพื่อไว้เฆี่ยนขนาบไหล่หลังจนถึงแขนขา สำหรับใครบางคนที่ต้องโทษฝืนคำบัญชาแม่ ได้ลิ้มลองรสสัมผัสชนิดตราตรึงไปตราบนาน  

ซึ่งคำเรียกไม้ป่าสารพัดประโยชน์ชนิดนี้ว่า ‘หวาย’ ไม่ได้มีเพียงในย่านลุ่มเจ้าพระยาเท่านั้น หากมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในหมู่ไท-ไต (Tai) กินพื้นที่ขึ้นไปจนถึงเวียดนามตอนเหนือและจีนตอนใต้ ด้วยรูปเสียงถ้อยคำแทบไม่แตกต่าง เช่นคัดจากคำศัพท์พื้นฐานของอาจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ใน The Phonology of Proto-Tai ค.ศ. 2009 ว่า

Siamese, Bao Yen, Cao Bang และ Shangsi เรียกเหมือนกันว่า wa:j A1

Sapa, Lungchow, Yay และ Saek                     เรียกเหมือนกันว่า va:j A1

และมีการสืบสร้างเป็นคำโบราณของไท-ไตไว้แบบพยางค์ควบครึ่งว่า *C̥.wa:j A /วาย/    

ทั้งนี้ คำศัพท์เปรียบเทียบพื้นฐานของไท-กะไดสาขาอื่น เช่น ก้ำ-สุย ของ Ilya Peiros ใน Kam-Sui Etymology ค.ศ. 1998, ข้า/ขร้า ของอาจารย์ ดร. วีระ โอสถาภิรัตน์  ใน Proto-Kra ค.ศ. 2000 และ หลี/ไหล ของ Peter Norquest ใน A Phonological Reconstruction of Proto-Hlai ค.ศ. 2007 ไม่ได้รวมคำว่า ‘หวาย’ ไว้แต่อย่างใด ยกเว้นพวก ออง-เบ ของ Yen-ling Chen ใน Proto-Ong-Be ค.ศ. 2018 ที่ได้สืบสร้างรูปคำโบราณชนิดแตกต่างไว้ว่า *saɁ D1

เมื่อสอบค้นคำเรียก ‘หวาย’ ในตระกูลภาษาอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เช่นพวกออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) พบว่าใช้คำเรียก bamboo หรือ rattan ด้วยคำห่างไกลออกไป เช่น Khmer เรียก rəsɤy ไม้ไผ่, Stieng     เรียก [təːm] rəseːi ไม้ไผ่ต้นเล็ก, Bahnar เรียก hrɛː หวาย, Jeh เรียก reːy หวาย และ Halang เรียก reː หวาย และสืบสร้างเป็นคำโบราณของมอญ-เขมรว่า *rsiʔ (A Mon-Khmer Comparative Dictionary ของ Harry Shorto หมายเลข 249, ค.ศ. 2006)

ในขณะที่คำศัพท์สืบสร้างเสียงจีนโบราณของ Baxter-Sagart ค.ศ. 2014 (Old Chinese reconstruction, version 1.1) ไม่พบว่ามีการอ้างอิงคำเรียก ‘หวาย’ ไว้

แต่ที่น่าสนใจ กลับพบว่าหนึ่งในคำเรียกพืชตระกูล ‘หวาย’ ของพวกออสโตรนีเซียน มีความคล้ายคลึงกับคำเรียกของพวกไท-ไตเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในพวกฟอร์โมซานที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวัน และพวกมาลาโย-โพลีนีเซียนที่อาศัยอยู่นอกเกาะไต้หวัน เช่น อ้างอิงจาก Austronesian Comparative Dictionary (www.trussel2.com) ค.ศ. 2010 ดังนี้

พวกฟอร์โมซาน; Trobiawan เรียก uay, Kavalan เรียก ʔuway, Saisiyat เรียก ʔœway, Atayal เรียก quai-ux, Pazeh เรียก ʔuay, Thao เรียก quay, Bunun เรียก quađ, Tsou เรียก ʔue, Kanakanabu เรียก ʔuái, Puyuma (Tamalakaw) เรียก Huway และ Paiwan เรียก quay

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาแหรกตะวันตก; Itawis เรียก úway, Bontok เรียก ʔuwə́y, Kankanaey เรียก uéy, Ifugaw เรียก uwáy, uwé, Tagalog เรียก uwáy, Hanunóo เรียก ʔuwáy, Cebuano เรียก uwáy และ Old Javanese เรียก hwi เป็นต้น

พวกโอเชียนิก ที่อาศัยอยู่ตามเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ยังมีบางพวกเรียกใช้ทำนองเดียวกัน เช่น Lakalai เรียก la-hue, Dobuan เรียก ʔue และ Sa'a เรียก ue เป็นต้น   

แล้วมีการสืบสร้างเป็นคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียนไว้ว่า *quay /คุอัย/

จะเห็นว่าความเป็น ‘หวาย’ ของคำไท-ไตโบราณแบบพยางค์ควบครึ่ง *C̥.wa:j A /วาย/ และออสโตรนีเซียนดั้งเดิมแบบสองพยางค์ *quay /คุอัย/ แทบจะซ้อนทับให้ภาพคมชัดชนิดหนึ่งเดียว กับสิ่งผิดแผกเพียงเล็กน้อยในเสียง /w/ ที่หายไปในคำออสโตรนีเซียน อันเข้าใจว่า ผู้สืบสร้างคำดั้งเดิมได้ให้น้ำหนักตั้งต้นกับเสียงของพวกฟอร์โมซานที่ส่วนใหญ่ไม่มีเสียง /w/ ขึ้นต้นพยางค์หลัง มากกว่าเสียงของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน ที่มีเสียง /w/ ปะปนอยู่ทั่วไป

ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่าไม่ควรเป็นคำเก่าที่เกี่ยวข้องกับพวกมอญ-เขมร ในขณะที่ทางพวกชิโน-ทิเบตัน เช่นจีนโบราณ ไม่มีการสืบสาวอ้างอิงไว้ จึงไม่อาจคาดหมายทางฟากนี้ได้ แต่พบว่าบางพวกเรียกด้วยคำต่างออกไป เช่น กะเหรี่ยงเรียกด้วยคำสืบสร้างโบราณว่า *re B และ Tani ที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอินเดีย เรียกด้วยคำสืบสร้างโบราณว่า *soŋ  (อ้างอิงจากการรวบรวมของคุณ Andy Hsiu) ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าน่าจะเป็นคำในกลุ่มไท-กะได (อย่างน้อยผ่านไท-ไต) กับออสโตรนีเซียนมากกว่าตระกูลภาษาอื่นๆ

คำถามที่ตามมาโดยพลันคือ ทั้งสองเป็นคำร่วมราก หรือคำหยิบยืม?

หากเป็นคำร่วมราก คำสืบสร้างไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) *C̥.wa:j A /วาย/ สามารถเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดระดับความสัมพันธ์ว่าขึ้นไปถึงระนาบของคำสืบสร้างออสโตรนีเซียนดั้งเดิม (Proto-Austronesian) *quay /คุอัย/ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเสียงตั้งต้นพยางค์หลังที่ไม่มี /w/  

หากเป็นคำหยิบยืม ใครควรเป็นต้นรากและใครควรเป็นผู้ยืม และควรยืมกันเมื่อครั้งคราวไหน จากรูปคำสืบสร้าง ไท-ไตน่าจะเป็นผู้ยืมจากออสโตรนีเซียนมากกว่า ถึงอย่างนั้น เป็นไปได้ไหมว่าไท-ไต หรือแม้แต่ไท-กะไดควรเป็นต้นราก และออสโตรนีเซียนเป็นผู้หยิบยืม          

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียน บนฐานแนวคิดเรื่องความพัวพันแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ที่มากไปกว่าการเป็นเพียงสาแหรกหนึ่งของออสโตรนีเซียน ผ่านมุมมองของ ‘รากคำพยางค์เดียว’ (monosyllabic roots) อันเก่าแก่ทั้งหลายหลากที่ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้า ผู้เชื่อมร้อยรัดสำเนียงภาษาของฝูงคนเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน ผู้เขียนเชื่อว่าคำเรียก ‘หวาย’ ของทั้งคู่เป็นคำร่วมเหง้าเก่าเดิม ใช้ขับขานพืชไม้เลื้อยมีหนามแหลมหน้าตาคล้ายงวงโค้งงอนย้วยยาว ซึ่งถูกนำมาถักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สอยในครัวเรือนต่างๆ กัน ตามแต่ถนัด 

โดยรูปเสียงตั้งต้นควรเป็นคำสองพยางค์ ที่เน้นหนักในพยางค์ท้าย บนเสียงที่อาจมี /w/ ขึ้นต้น เป็นรูปคำ *-way หรืออีกนัยยะ ไท-ไตคือผู้ที่ยังรักษารูปคำ *-way เอาไว้ได้ เฉกเช่นเดียวกับบางพวกของฟอร์โมซานและหลายกลุ่มของมาลาโย-โพลีนีเซียน

เช่นนั้น ถ้าเป็นไปดังที่ตีความ หมายถึงคำเรียก ‘หวาย’ ของไท-ไต อาจถือเป็นคำบ่งชี้โคตรด้ำที่ส่งเสริมระดับความสัมพันธ์ถึงชั้นต้นวงศ์กับทางออสโตรนีเซียนได้เป็นอย่างดีอีกคำหนึ่ง และจึงขอเสนอข้อสังเกตเพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 28 มิถุนายน พ.ศ. 2562              

หมายเลขบันทึก: 662338เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2019 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2019 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หวาย.. หายจากป่า.. ประเทศไทยไปนานแล้ว… เหมือนกับป่าที่หายไปจากผืนดินไทย.. ด้วยเหมือนกัน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท