การศึกษาเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (๙) : ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง "Blockchain"


เป้าหมายของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ การศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก  การจัดการศึกษาตามแนวทางโรงเรียน "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" ต้องให้ความสำคัญต่อโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในยุค VUCA นี้มาก ๆ  

โลกกำลังจะเข้ายุคแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบ "เกิด-ดับ" (disruption) จากยุคอะนาล็อค -> ดิจิทัล -> และจะไปสู่ยุคคิวบิท (ควอนตัมคอมพิวเตอร์) ต่อไป ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยน หลายอย่างเมื่อเกิดแล้วเปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง เช่นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ...

ณ ขณะนี้ สิ่งที่เชื่อกันว่าจะเปลี่ยนโลกคือ เทคโนลยีบล็อคเชน (Blockchain)  บล็อคเชนคืออะไร จะส่งผลต่ออะไร อย่างไร และควรจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไร ผมพยายามจะอธิบายตามความเข้าใจจากการตีความของตนเองในบันทึกนี้ 

ยุคอะนาล็อค "เงินตรา" กับ "ผู้คุม" 

ก่อนจะใช้ระบบ "เงินตรา" เป็นสัญลักษณ์ หลายร้อยปีที่แล้ว มนุษย์ใช้ทองคำ เงิน และทองแดง เป็นสิ่งมีมูลค่า เป็นสมบัติ ด้วยที่เป็นของหายาก ใครเคยดูหนังประวัติศาสตร์ยุโรปจะทราบเรื่องนี้ดี มาถึงสมัยนี้ ทองคำก็ยังเป็นโลหะหายากและไม่สามารถสังเคราะห์ได้(อย่างคุ้มค่า) มนุษย์จึงยังเอาทองคำเป็นสิ่งอ้างอิงทรัยพย์สมบัติอยู่ 

แต่ด้วยความเจริญรุ่งเรือง ความเจริญก้าวหน้า และจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ ทองคำไม่อาจเพียงต่อความต้องการใช้ของคนในโลก สหรัฐอเมริกา ผู้ครองอำนาจโลก จึงพิมพ์ "เงินตรา" หรือ Currency โดยใช้กระดาษเป็นสัญลักษณ์แทนทองคำเพื่อความสะดวก แล้วนำเอาทองคำไปการันตีไว้ในธนาคารกลางแทน  

แรก ๆ ก็ดำเนินตามระบบนี้ แต่พอมีเหตุที่ต้องใช้เงินมาก ๆ เช่นตอนทำสงครามกับเวียดนาม สหรัฐอเมริกาก็แอบพิมพ์เงินออกมาโดยไม่ได้มีทองไว้การันตี ฝรั่งเศสระแคะระคายเรื่องนี้ จึงขนเงินดอลลาร์ใส่เรือเพื่อไปแลกเป็นทอง  ความจริงจึงถูกเปิดเผยต่อชาวโลก  แต่ด้วยที่เป็นมหาอำนาจ ระบบเงินตรายังคงดำเนินมาใช้ต่อไป โดยสหรัฐอเมริการเป็นประเทศเดียวที่ไม่จำเป็นต้องมีทองคำไปการันตีในการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใช้  และกำหนดให้ทั่วโลกใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลอ้างอิงตั้งแต่นั้นมา 

ระบบเงินตราที่ว่ามานี้ ผู้คุมก็คือผู้มีอำนาจ อเมริกาเป็นคนคุม คุม "ระบบเงินตรา" ผ่านกลไกที่เรียกว่าธนาคาร คนที่เป็นมหาอำนาจที่แท้จริงคือคนคุมระบบเงินตรานี้นั่นเอง สรุปคือ ระบบงานตราแบบนี้มี "ผู้คุม" เป็นศูนย์กลาง (Centralized) ประเทศต่าง ๆ ก็ใช้ระบบนี้ โดยสร้างสกุลเงินของตนขึ้น และควบคุมจัดการระบบเงินตราของตนด้วย "ธนาคาร" 

ระบบเงินสดแบบนี้ ยากที่จะรู้ว่าเงินในมือเรานั้นผ่านอะไรมาอย่างไรบ้าง การซื้อขายหลาย ๆ อย่าง อาจไม่ได้เป็นไปตามทางกฎหมาย ไม่มีบัญชีจดจำไว้ ตรวจสอบย้อนหลังไปก็ไม่ได้ ...

ยุคดิจิทัล "บัญชี" กับ "คนกลาง"

เมื่อมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเกิดขึ้น และเมื่อมีอินเตอร์เน็ต ระบบเงินตรา ถูกยกไปไว้ในรูปดิจิทัล ไม่ต้องใช้เงินสด ซื้อขายสิ่งต่าง ๆ ผ่าน "คนกลาง" ซึ่งก็คือธนาคาร โดยใช้วิธีการทางบัญชี ทุกธุรกรรมถูกบันทึกไว้ด้วยบัญชี "ผู้คุม" ที่มีอำนาจควบคุมระบบเงินตราด้วย "คนกลาง" ก็คือ "ธนาคาร" นั่นเอง 

"ผู้คุม" ที่ควบคุมธนาคาร สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของตน ๆ และของคนในประเทศตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศหนึ่งออกกฎว่า ห้ามธนาคารเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นที่มาซื้อกองทุนของธนาคาร ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านั้น นำเงินที่ได้จากการโกงชาติบ้านเมืองของคนอีกประเทศมาก็ตาม ธนาคารจึงเป็นเเหมือนเครื่องมือหรือเป็น "คนกลาง" ในการควบคุม ซื้อขาย แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ผ่านตลาดหุ้น ผ่านบัตรเครดิต เดบิต ฯลฯ  ...เป็นที่ประจักษ์ว่า ลูกค้าหรือลูกชาวนาตาดำ ๆ อย่างเรา  จะถูกควบคุมให้อยู่ในกฎกติกาที่เขาสร้างมาเสมอ และจะถูกติดตามตรวจสอบผ่านระบบ "บัญชี" ที่เขาสร้างขึ้น โดยลูกค้าต้องจ่ายค่าทำบัญชีด้วย

ยุคบล็อคเชน "ไร้คนกลาง" 

เทคโนโลยีบล็อคเชน อาจเปรียบได้กับ "บัญชี" ที่ไม่ต้องมี "คนกลาง" เหมือนลูกค้าทุกคนเป็นคนทำ "บัญชี" และสำเนา "บัญชี" ของคนอื่นทั้งหมดมาไว้กับตนเอง  โดย "บัญชี" นี้จะมีคุณลักษณะ ๒ ประการที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องมี "ผู้คุม" อีกต่อไป นั่นคือ ๑) ไม่มีใครสามารถแก้ไข "บัญชี" ของคนอื่นได้ และ ๒) ถ้ามีการเขียนอะไรใน "บัญชี" ของตน คนอื่นทั้งหมดจะรู้ด้วย เป็นเหมือนโซ่ล็อคต่อยาวออกไปเรื่อย ๆ จะแทรกระหว่างกลางไม่ได้ ใครที่ริอาจจะไปแอบแก้ไขบัญชีคนอื่น จะถูกจับได้ภายใน ๑๐ นาที วิธีเดียวที่จะแก้บัญชี คือต้องแก้สำเนาบัญชีที่ทุกคนมี ซึ่งจากการคำนวณเขาบอกว่าต้องใช้คอมพิวเตอร์และไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ๆ หนึ่งทีเดียว ...ดังนั้น เทคโนโลยีนี้จึงเป็นอะไรที่ปลอดภัยสุด ๆ 

เงินดิจิทัลสกุลแรกที่่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน คือ บิทคอยน์ (Bitcoin) เรียกว่า เงินตราดิจิทัล (Cryptocurrency) คนที่คิดและทำเรื่องนี้ไม่เปิดเผยตนเองออกมา เพียงแต่ใช้นามปากกา (นามแฝง) ว่า "ซาโตริ นากาโมโตะ" (อ่านที่นี่) เข้าเขียนขึ้นในรูปแบบซอท์ฟแวร์แบบโอเพ่นซอส และเผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒  บิทคอยน์ได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นไม่ให้เกิน ๒๑ ล้านบิทคอยน์เท่านั้น และจ่ะค่อยเปิดเผยในทุก ๆ ๑๐ นาที ในรูปของรางวัลสำหรับ "ผู้ขุด" (miner) (อัตราลดลงเรื่อย ๆ  วันที่ ๙ ก.ค. ๕๙ อยู่ที่ ๑๒.๕ บิทคอยน์) และค่าธรรมเนียมในการซื้อขายบิทคอยน์ ในทุก ๆ ๔ ปี จำนวนบิทคอยน์ที่ถูกขุดได้จะหายไปครึ่งหนึ่ง จนถึง พ.ศ. ๒๖๘๓ บิทคอยทั้งหมด ๒๑ ล้านบิทคอยน์จะเปิดเผยทั้งหมด 

เราอาจเปรียบบิทคอยน์ได้กับทองคำ เพราะมีจำนวนจำกัดในโลก สังเคราะห์ขึ้นใหม่ไม่ได้ (จริง ๆ ทำได้ แต่ไม่คุ้มค่า) และยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ให้นักขุดทองค้นหา นักขุดทองก็เปรียบได้กับนักขุดบิทคอยน์ เพียงแต่วิธีการขุดอาจแตกต่างไป ไม่ได้ใช้โชคช่วยเหมือนนักขุดทอง แต่เป็นวิธีการตรวจสอบ "บัญชี" โดยใช้คอมพิวเตอร์ของตนเองเข้าไปช่วยระบบบิทคอยน์ประมวลผล คนที่ชนะทำได้เร็วที่สุดจะได้รางวัลเป็นบิทคอยน์ (อ่านบันทึกนี้เขียนดีมาก) ... ระบบเงินดิจิทัลแบบบิทคอยน์นี้ กำลังจะเข้ามาแทนที่ระบบทองคำในปัจจุบัน ถึงตอนนั้น "คนกลาง" อย่างธนาคารก็จะไม่จำเป็นแล้ว และจะไม่มี "คนคุม" ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นโดยตรงระหว่างคนอย่างเรา ๆ  ถึงตอนนั้นความเสมอภาคทางการเงินจะเริ่มก่อตัวขึ้นจริง ๆ 

สกุลเงิน ลิบรา (LIBRA)

เร็ว ๆ นี้ เฟสบุ๊คเพิ่งออกมาประกาศว่า ในพี ค.ศ. 2020 (ปีหน้า) จะใช้สกุลเงินชนิดใหม่ ชื่อว่า ลิบรา ที่บริษัทของตนริเริ่มขึ้น และร่วมกับอีก ๒๗ บริษัทยักษ์ที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ  ลงขันกันสร้างหลักประกันให้เกิดสกุลเงินชนิดใหม่ ที่จะไม่มีความผันผวนเหมือนบิทคอยน์.... ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เขาเปรียบบิทคอยน์เป็นเหมือนทองคำ คือ ทองคำดิจิทัล ส่วนลิบรานั้น จะแทนเงินกลางเหมือนดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่จะส่งผลต่อคนธรรมดาอย่างเรา ๆ

ผลที่จะเกิดตามมาหากโลกนำเอาบล็อคเชนมาใช้อาจประเมินได้ยาก แต่เขาบอกว่าจะถึงขั้น "เปลี่ยนโลก" โดยเฉพาะโลกแห่งการเงินไปเลยทีเดียว ... ผมตีความว่า จะเป็นผลดีอย่างยิ่งยวด ต่อประชาชนคนไม่มีเครดิต ไม่มีบัญชี  เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า เราจะต้องศึกษาและพัฒนาทักษะทางไอซีทีของเราให้เท่าทัน 

ลองจิตนาการว่า ผมปลูกข้าว ผลิตอาหาร  สิ่งที่พอเหลือจากการแจกจ่าย ผมสามารถนำมาขายในราคาของเงินลิบราได้เลย รับ-โอนเงินผ่านห้องแชทอินบ็อคเฟสได้เลย  ได้รับเงินปุ๊บ เอาของไปส่งบริษัทขนส่งปั้บ ... ง่ายสุด ๆ แม้ต่อไปจะมีระบบภาษี เข้ามา แต่ก็ไม่น่าจะกระทบความง่ายงามนี้ได้เลย 

สรุปที่สุด ความรู้และทักษะเรื่องไอซีที ในลักษณะแบบนี้เป็นเรื่องจำเป็น สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ... นี่ไง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทุกเรื่องราว  

หมายเลขบันทึก: 662335เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2019 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2019 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับอาจารย์-ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ นี้นะครับ-ได้เรียนรู้และศึกษาเพื่อก้าวทันต่อโลกนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท