อันสืบเนื่องจากคำเรียกอวัยวะเพศของไทย


(ภาพปรับปรุงจาก wikipedia)

สืบเนื่องจากที่ เพจคำใคร ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ว่าด้วยความเป็นมาของคำว่า ‘หี’ และ ‘ควย’ อันเป็นคำเรียกอวัยวะเพศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในย่านไทยลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับบทความก่อนหน้าของคุณกรกิจ ดิษฐาน ที่เขียนลงในหน้าเพจ Kornkit Disthan เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ทิ้งช่วงห่างกันสองปีพอดี   อ่านรายละเอียดบทความได้ที่ https://www.facebook.com/414210022471931/photos/a.415533472339586/460465591179707/?type=3&theater, https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10154496032581954&id=719626953

ทั้งนี้ สองบทความข้างต้นได้อ้างอิงงานวิจัยปริญญาเอกของอาจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 เรื่อง The Phonology of Proto-Tai เป็นส่วนใหญ่ โดยชี้คล้ายกันว่า คำเรียก ‘หี’ และ ‘ควย’ เป็นคำไท ใช้กันอย่างค่อนข้างกว้างขวางในพวกไท-ไต (Tai) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาแหรกหลักของตระกูลภาษาไท-กะได ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในย่านลุ่มเจ้าพระยาเท่านั้น หากกินพื้นที่ไปถึงจีนตอนใต้และเวียดนามตอนเหนือ จึงไม่ควรเป็นคำหยิบยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต อย่างที่ปู่สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยกล่าวถึงไว้ เช่นในคราวบรรยายเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ ห้องเจ้าพระยา 2 โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้รับเชิญให้ไปบรรยายในโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพนักกิจกรรมรุ่นใหม่เรื่องสิทธิทางเพศครั้งที่ 1 : เรา เรื่องเพศ และงานพัฒนา” ดังคัดเนื้อความมาบางส่วนว่า

‘เมื่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาเข้ามาในไทย เพศหญิงก็ยิ่งถูกให้ความหมายลบมากยิ่งขึ้น เช่นการให้ความหมายของอวัยวะเพศผู้หญิงว่าเป็นสิ่งเลวทราม คำว่า “หี” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “หีนะ” ซึ่งมีความหมายว่าเลว เช่นใจทมิฬหีนชาติ (เพี้ยนมาเป็น ใจทมิฬหินชาติ) ในขณะที่อวัยวะเพศชายหรือคำว่า “ควย” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “คุยหะ” ซึ่งแปลว่าของลับเท่านั้น’

อ่านรายละเอียดบทบรรยายได้ที่ https://prachatai.com/journal/...

จึงเป็นสองแนวทางที่ตีความแตกต่างกันคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเป็นคำไทแท้ อย่างน้อยสืบสร้างขึ้นไปถึงในระดับคำโบราณของไท-ไต (Proto-Tai) ว่า *hi: A /ฮี/ และ *ɣwaj A /ฅวัย/ ตามลำดับ ในขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าเป็นคำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า ‘หีนะ’ และ ‘คุยหะ’ ตามลำดับ

หากทำการสืบสาวขยายพื้นที่การศึกษาออกไป บางทีอาจช่วยตอบคำถามที่ยังค้างคาใจได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งพบว่าคำเรียกอวัยวะเพศของพวกไท-ไตนี้ แตกต่างจากผู้พูดภาษาอื่นในย่านอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นพวกชิโน-ทิเบตัน หรือออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ยกเว้นออสโตรนีเซียน ผู้ที่นักภาษาศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่ามีความพัวพันร่วมรากกับไท-กะไดมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์    

โดยในภาษาออสโตรนีเซียน แม้ว่าไม่อาจเทียบเคียงได้ตรงๆ กับคำว่า ‘หี’ (vagina) *puki และ ‘ควย’ (penis) *qutiN แต่ที่น่าสนใจอย่างยอดยิ่งคือ พบคำคล้ายที่สามารถใช้เชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างใกล้ชิด เช่น

ในฐานะของคำเรียกเพศเมียและผู้หญิง (female/woman):

คำเรียกเพศเมียและผู้หญิง เป็นคำที่มีความเกี่ยวข้องกับคำเรียกอวัยวะเพศหญิงอย่างลึกล้ำจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะเมื่อเอ่ยถึงความเป็นเพศเมียหรือผู้หญิง ก็หมายถึงว่าต้องมีอวัยวะบ่งชี้เฉพาะของร่างกายที่เรียกกันว่า ‘หี’ ถ้าไม่มีอวัยวะบ่งชี้เฉพาะนี้ ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพศเมียหรือผู้หญิง เป็นการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนกับอวัยวะบ่งชี้เฉพาะของร่างกายเพศผู้หรือผู้ชายที่เรียกกันว่า ‘ควย’ (ยกเว้นในกรณีที่มีสองอวัยวะบ่งชี้อยู่ในร่างเดียวกัน) จนเป็นไปได้สูงที่อาจเรียกใช้คำเหล่านี้ทดแทนกันมาแต่ครั้งบรรพกาล   

ซึ่งมีการใช้คำคล้าย ‘หี’ เรียกเพศเมียและผู้หญิงอย่างแพร่หลายในหมู่ออสโตรนีเซียน ตั้งแต่ในพวกฟอร์โมซาน (Formosan) บนเกาะไต้หวัน ลงไปจนถึงพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน (Malayo-Polynesian) ที่อาศัยอยู่นอกเกาะไต้หวัน เช่นในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ขยายไปจนถึงหมู่เกาะน้อยใหญ่ต่างๆ มากมายในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่เว้นแม้แต่หมู่เกาะฮาวาย-อิ คัดจาก Austronesian Comparative Dictionary (www.trussel2.com) ดังนี้

พวกฟอร์โมซาน;

Hoanya                          pai          woman; female

Rukai (Mantauran)                                a-vai      woman

Rukai (Tona)                                       a-bay-ánə           woman

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตก;

Yami                                                      vai          daughter-in-law or girl; term of address for a daughter who is unmarried, or married but without children

Ilokano                                                 bai-én   a homosexual man

Bontok                                                 bái          female animal

Kankanaey                                          bái          female; hen (not used for persons)

                                                        baí ~ bai-én        a henlike cock

Ifugaw (Batad)                                  o-bay    large female animal

Tagalog                                                 baí ~ báyiʔ           royal lady; lady of the court; princess

Hanunóo                                             báyi        femininity, quality of being female

Cebuano                                              báyi        female animal or plant; have or make into a mistress

Maranao                                              báʔi        lady, queen, respectful term for woman

Binukid                                                 bahi       human female; woman, girl

Manobo (Western Bukidnon)               bahi       female person

Mansaka                                              baiy-an female monkey

Malay (Middle)                                 bai          mother, mother animal

Mori Atas                                            iro-wai  female

Mori Bawah                                        wai         female, of animals

Buginese                                             bai          female, of animals

                                                           cala-bai transvestite

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขากลาง;

Ngadha                                                fai           woman; wife; female

Ende      (ata)                                      fai           woman

Palu'e    (ata)                                      wai         female; woman

Li'o                                                         fai           female, woman

Sika                                                        bai          woman

Lamboya                                              la-wai    woman

Tetun                                                    fe-n       wife

Vaikenu                                               fɛ-n        wife

Wahai                                                   pinan     wife

pina                                                       hieti       woman

และพวกโอเชียนิก;

Tongan                                                 fe-huhu               mother; honorific or regal for faʔē (lit. ‘mother of the breast’ 

มีการสืบสร้างเป็นคำโบราณของมาลาโย-โพลีนีเซียน (PMP) ว่า *bahi ในความหมายว่า เพศเมีย, ผู้หญิง และเมีย (female, woman, wife; female of animals) และขึ้นไปเป็นระดับคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียน (PAN) ว่า *bahi /บาฮิ/ ในความหมายว่า เพศเมีย (female) ซึ่งสังเกตว่าเข้ากันได้เป็นอย่างดีทั้งรูปเสียงและความหมายกับคำสืบสร้างไท-ไตโบราณว่า *hi: A /ฮี/ อวัยวะเพศเมีย แม้ว่าจะเป็นคำที่มีพยางค์ต่างกันก็ตาม โดยสันนิษฐานว่าเดิมเป็นคำสองพยางค์ ต่อมาพวกไท-ไตโบราณได้กร่อนหรือละทิ้งพยางค์หน้าลงเสีย คงไว้แต่เพียงพยางค์หลัง แล้วลากเสียงพยางค์หลังให้ยาวขึ้น และเป็นพวกไท-ไต ผู้เลือกรักษาความหมายของอวัยวะเพศเมีย ในขณะที่พวกออสโตรนีเซียนเลือกสืบทอดเฉพาะความหมายของเพศเมีย และใช้คำเรียกอวัยวะเพศเมียที่ต่างออกไปว่า *puki

ในฐานะของคำเรียกหนวดหรืองวง (tentacle):

คำเรียกหนวดหรืองวง เป็นคำที่เกี่ยวข้องโยงใยกับคำเรียกอวัยวะเพศผู้อย่างชนิดสนิทแนบ เพราะรูปร่างเชิงกายภาพของอวัยวะเพศผู้นั้น ว่าไปก็คืองวงหรือหนวด ที่ยืดหยุ่นยื่นยาวแกว่งไกวโผล่พ้นออกมาจากลำตัวหรือร่างกาย ในแบบเดียวกับงวงช้างหรือหนวดปลาหมึกนั่นเอง ซึ่งมีการใช้คำคล้าย ‘ควย’ เรียกหนวดหรืองวงอย่างค่อนข้างกว้างขวางโดยเฉพาะในพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน เช่น    

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตก;

Bikol                                                      gáway   poisonous tentacles of the jellyfish

Cebuano                                              gawáy   tentacle

Muna                                                    gawe-gawe        fringe, appendage (on clothes, fish)

และพวกโอเชียนิก;

Motu                                                     gave      feelers of octopus

Sa'a                                                        ka-kawe               tentacles of octopus; branching of the fingers of the human hand

Marshallese                                          ko           octopus tentacles; rays of the sun

Chuukese                                            óó           tentacle of octopus or squid

Tongan                                                 kave      tentacle of cuttlefish or octopus

Samoan                                                ʔave      tentacle of octopus

Kapingamarangi                                  gawe bilibili         tentacle of octopus

Maori                                                    kawekawe          tentacles of a cuttlefish; tendrils of a creeper, fringe on a mat, etc.

Hawaiian                                              ʔawe     tentacle

                                                          ʔaweʔawe          tentacles; runners, as on a vine

แล้วมีการสืบสร้างเป็นคำโบราณของมาลาโย-โพลีนีเซียน (PMP) ว่า *gaway /กาวัย/ ในความหมายว่า งวงหรือหนวดของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ (tentacles of octopus, squid, jellyfish, etc.) สอดคล้องต้องกันชนิดไม่ผิดแผก ทั้งในเรื่องของรูปและความหมายกับคำไท-ไตโบราณว่า *ɣwaj A /ฅวัย/ อวัยวะเพศผู้ เป็นร่องรอยคำเก่าร่วมรากร่วมโคตรเหง้าที่ใช้กันคนละฟากฝั่งทะเลมาช้านาน แต่ก็เป็นความยากที่จะชี้ลงไปอย่างชัดเจนว่า ความหมายไหนเกิดก่อนหรือหลัง หรืออาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ดังนั้น ด้วยการวิเคราะห์ตีความจากมุมมองภาษาเปรียบเทียบไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ทั้งในเชิงรูปคำและความหมาย จึงอาจพอเสนอข้อสรุปเพื่อการถกเถียงไว้ ณ ปลายบรรทัดนี้ว่า คำเรียก ‘หี’ และ ‘ควย’ ควรเป็นคำที่มีความเป็นมาสอดรับกับฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นคำไทแท้ ขยายขึ้นไปยัง ไท-ไต และควรขึ้นไปถึงระดับไท-กะได ไม่ใช่คำหยิบยืมจากภาษาบาลีสันสกฤตแต่อย่างใด ผ่านการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับคำที่ใช้เรียกเพศเมียและงวงของพวกออสโตรนีเซียนอย่างลึกซึ้ง โดยพวกไท-ไตเป็นกลุ่มที่ยังสามารถรักษาและสืบทอดคำเรียกพื้นฐานชนิดสำคัญสุด ต่อการบ่งชี้จำแนกเพศเมียและเพศผู้ และการสืบสายเผ่าพันธุ์ไว้ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นกลุ่มคำที่ตอกย้ำถึงการร่วมรากร่วมสาแหรกแต่ครั้งดั้งเดิมระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเซียนได้อย่างยิ่งยวดในอีกทางหนึ่ง

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562          

หมายเลขบันทึก: 662199เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2019 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2019 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท