เฮือนคำมุ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านช้างชัยภูมิ


ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมให้นักศึกษาตัวแทนจากทุกคณะได้เรียนรู้เรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 10-11  มิถุนายน  2562 ที่ผ่านมา ในชื่อโครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์ภูมิปัญญาอีสาน  ครั้งที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องราวของศิลปะและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของสังคม แล้วเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวคิด “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่” โดยในเช้าวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ที่คุ้มสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของงานผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ในงานออกแบบและการสร้างภาพลักษณ์สินค้าหรือ Brand และการผลิตชิ้นงานเพื่อส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน จากนั้นเป็นการเรียนรู้เรื่องการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในงานด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการเรียนรู้แนวคิด คติความเชื่อ ความศรัทธาและฝึกปฏิบัติทำทุงใยแมงมุม ก่อนจะเดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวของหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ ที่ศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านยางคำ ตำยบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น  ต่อด้วยการเดินทางไปเรียนรู้การแทงหยวก สำหรับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ แล้วเดินทางเข้าที่พัก รวมทั้งกิจกรรมการถอดบทเรียนจากการเรียนรู้มา 1 วันเต็ม เช้าวันที่ 11 มิถุนายน 2562 จึงเดินทางไปเรียนรู้ที่ “เฮือนคำมุ” ศูนย์เรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พิพิธภัณฑ์ผ้าชัยภูมิ ที่มีพี่เอ๋ อาจารย์คมกริช  ฤทธิขจร ศิลปินผู้มีความรักและสนใจศึกษา รวมรวมเรื่องราวของ “ผ้าทอโบราณ” รวมถึงการเนรมิตจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ “เฮือนคำมุ”

ผมมาเฮือนคำมุครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว ตอนนั้นยังมีเพียงห้องแสดงนิทรรศการผ้าห้องเล็ก ๆ ใต้อาคารพาณิชย์ติดถนน ครั้งนั้นพี่เอ๋ได้เล่าถึงแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ด้านหลังให้เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ผมเฝ้าติดตามพัฒนาการของเฮือนคำมุผ่านทาง Facebook ของพี่เอ๋มาโดยตลอด จนครั้งนี้ได้ไปเยือน จึงได้เห็นความยิ่งใหญ่ที่มีอาคาร สวนงาม ๆ และร้านกาแฟบรรยากาศสุดแสนจะบรรยาย และพื้นที่ก่อสร้างที่กำลังเนรมิตเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหอประชุม ห้องจัดแสดงและพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกัน สำหรับการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอีสานล้านช้างชัยภูมิ และการถักทอสายใยไหม ดุจการถักทอการเรียนรู้ให้ดำรงอยู่มิสูญสิ้น... สิ้นชีพแต่ไม่สิ้นความดีงาม

“เฮือนคำมุ” ในมุมมองของผม คิดว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีทรงคุณค่าใจกลางเมืองชัยภูมิ ร้านกาแฟที่สร้างอาคารให้เป็นตูบยุ้งข้าว ปลุกพืชไม้พื้นถิ่น ให้ร่มเงาและความงาม ตกแต่งเรียบแต่หรู แล้วดูงาม ยังมีซุ้มประตูเมืองชัยภูมิที่เชื่อมโยงเรื่องราวของอดีตมาสู่ปัจจุบัน อาคารหอประชุมศิลปะผสมผสาน งดงาม ซุ้มหน้าต่างประตูที่มีต้นแบบจากใบเสมา ที่ดูเผิน ๆ คล้ายมัสยิด แต่เข้าของผลงานต้องบอกดัง ๆ ว่า “กลีบขนุนหรือกลับบัวจากใบเสมา”

นอกจากการทำพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ และสถานที่ที่งดงาม อ.พี่เอ๋ ยังเป็นนักวิชาการที่เรียนรู้ ต่อยอดอยู่เสมอ เพราะกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งเน้นวิจัยเรื่อง “ผ้า”

การเป็นแหล่งเรียนรู้ เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในความเห็นส่วนตัวคือการมีข้อมูลทางวิชาการหรือเอกสารอ้างอิง เพื่อเป็น “ฐานข้อมูล” ให้แหล่งเรียนรู้สมบูรณ์ นอกเหนือจากชิ้นงานหรือสถานที่

พี่เอ๋ต้อนรับขับสู้พวกเราชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นอย่างดี เรียนรู้ที่เฮือนคำมุจนอิ่มเอม พี่เอ๋รับอาสาเป็นผู้นำชมกิตติมศักดิ์ เดินทางไปกราบขอพรพระยาภักดีชุมพล หรือเจ้าพ่อพระยาแล ที่ศาลริมบึงปลาเฒ่า จากนั้นก้พาไป “ปรางค์กู่” อโรคยาศาลเก่าแก่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ในยุคขอมเรืองอำนาจ ครั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  แล้วไปเรียนรู้เรื่องใบเสมาหิน กุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิ

เต็มอิ่มและอิ่มหนำสำราญกับชุดความรู้ในพื้นที่เมืองชัยภูมิ เพื่อให้เห็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเมืองชัยภูมิ ที่เป็นเมืองเล็ก ๆ ในหุบเขาลำเนาไพร และธารน้ำ

“เฮือนคำมุ” จึงถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ สำหรับเมืองเล็ก ๆ อย่างชัยภูมิ และเชื่อโดยส่วนตัวว่า เฮือนคำมุ จะเป็นลมหายใจของชาวชัยภูมิ ที่ใช้เป็นที่เรียนรู้เรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ เศรฐกิจ ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวเพื่อต่อลมหายใจให้ชัยภูมิได้เป็นอย่างดี ผ่าน “ผ้าทอ” และศิลปินที่ชื่อ คมกริช ฤทธิ์ขจร

แทนคำขอบคุณ

ณ  มอดินแดง

12  มิถุนายน  2562   

หมายเลขบันทึก: 662021เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2019 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2019 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท