การจัดการเรียนรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (Competency-Based Learning)



การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  มีเป้าหมายให้ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” (21st Century Skills) ซึ่งเป็นทักษะที่ซับซ้อน    และจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะที่ skills เท่านั้น    ยังมีเป้าหมายรู้วิชาหรือมีความรู้พื้นฐาน (foundational literacies)    และมีพัฒนาการด้านคุณลักษณะ (characters) ที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่   และที่สำคัญที่สุดต้องพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning skills) ด้วย

แค่นั้นยังไม่พอ    ยังต้องเปลี่ยนความหมายของ “เรียนความรู้พื้นฐาน”    จากเรียนความรู้ ไปเป็น “ฝึกประยุกต์ใช้ความรู้”    คือในโลกยุคนี้ การมีความรู้ไม่พอ    ต้องมีทักษะในการใช้ความรู้   

การเรียนรู้ในยุคนี้ จึงต้องเน้นการปฏิบัติ    ครูหรืออาจารย์ชวนศิษย์ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ (ที่ซับซ้อน) และตั้งโจทย์เพื่อการเรียนรู้นั้น    มีการเรียนรู้ในลักษณะของการทำโครงงาน (Project-Based Learning)    ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานเป็นทีม   เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ collaboration skills   เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม และการเรียนรู้เป็นทีม    ซึ่งจะมีการพัฒนาทักษะย่อยอื่นๆ ใน ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ตามมา    เช่นทักษะการสื่อสาร  การต่อรอง  การรับฟังผู้อื่น  การรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นต้น   

แต่การปฏิบัติเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการทำให้เกิดการเรียนรู้ในลักษณะ “รู้จริง” (mastery)    ซึ่งหมายความว่า ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ    และสามารถนำไปใช้ในต่างสถานการณ์ได้ด้วย ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า transfer   การที่จะให้เกิดการเรียนรู้ระดับ mastery learning ต้องการการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) หลังการปฏิบัติ    โดยผู้เรียนต้องได้ใคร่ครวญสะท้อนคิดทั้งแบบกลุ่ม และแบบทำคนเดียว    ครูอาจารย์ทำหน้าที่ตั้งคำถามให้นักเรียน/นักศึกษาคิด   เน้นสะท้อนคิดจากประสบการณ์ตรงของตนในการทำกิจกรรม   

ครู/อาจารย์ต้องสร้างบรรยากาศการใคร่ครวญสะท้อนคิดหลังการปฏิบัติแบบที่ทุกคนเปิดใจพูดหรือแสดงความเห็น และเปิดใจรับฟัง    เป็นบรรยากาศที่ไม่เน้นถูกผิด   เน้นการแชร์ความคิด แชร์ข้อสังเกต แชร์การตีความสิ่งที่พบเห็น    เน้นการได้รับฟังการตีความหรือให้ข้อคิดเห็นหลากหลายแบบ  

การใคร่ครวญสะท้อนคิดที่ดีต้องมีมิติที่ลึกและซับซ้อน ที่เรียกว่า critical thinking    นักเรียนนักศึกษาในยุคนี้ ต้องได้รับการฝึกให้คิดซับซ้อน มองและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้หลายชั้นหลายมุม    การเรียนแบบทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วแชร์การตีความสิ่งที่เกิดขึ้น   ด้วยความหวังเรียนรู้จากการตีความต่างๆ กัน    จึงเป็นเส้นทางสู่ mastery learning  

ทักษะที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตในโลกยุค VUCA (Volatile, Uncertain, Complex, Ambiguous) คือทักษะเผชิญความท้าทาย หรือความยากลำบาก ที่ทำให้ท้อ   ในลักษณะที่นักเรียน/นักศึกษาได้รับการคาดหวังสูง ให้ต้องพัฒนาสมรรถนะด้านฟันฝ่าสภาพ VUCA เป็น    ที่เรียกว่าเป็นการศึกษาแบบ high expectation   ซึ่งต้องตามมาด้วย high support จากครู/อาจารย์    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง high support ในช่วงที่นักเรียน/นักศึกษาท้อ  หรือเกิดความเครียดจากความขัดแย้งภายในกลุ่ม    สภาพที่กิจกรรมที่ทำมีความยากและซับซ้อนจนทีมงานเกิดความท้อ หรือเกิดความขัดแย้ง คือโอกาสในการเรียนรู้สูงสุด    แต่เป็นสภาพที่ต้องการการสนับสนุนจากครู/อาจารย์ที่มีประสบการณ์และความทุ่มเทสูง   

ครู/อาจารย์ในยุคนี้ ต้องจัดการเรียนรู้แบบ high expectation, high support เป็น    และมีความกล้าที่จะให้โจทย์ที่ยากในระดับที่มองผิวเผิน นักเรียน/นักศึกษาไม่น่าจะทำได้   

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือหัวใจของการจัดการศึกษาแบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (competency-based learning)    มีการกำหนดว่าต้องการให้นักเรียน/นักศึกษาเกิดการพัฒนาสมรรถนะอะไรบ้าง    แล้วจึงคิดย้อนทางว่า เพื่อให้ได้ฝึกฝนพัฒนาสมรรถนะเหล่านั้น ในระดับ mastery   นักเรียน/นักศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใดบ้าง    และจะประเมินอย่างไรว่าบรรลุ  

จะบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ได้ รูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย ต้องเลิกจัดแบบ ใช้รายวิชาเป็นฐาน (subject-based learning)    ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนวิชา  ไม่ใช่เน้นฝึกฝนสมรรถนะ   ผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงจัดการเรียนการสอนแบบรายวิชาเป็นฐาน    มีบางมหาวิทยาลัยที่ผมพอจะมีส่วนรับรู้บ้าง อธิการบดีแถลงนโยบายชัดเจนว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาแบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน    แต่เมื่อให้อาจารย์ผู้จัดการหลักสูตรมาอธิบายวิธีการจัดการหลักสูตรทีไร   ท่านอธิบายโดยเน้นที่รายวิชาทุกทีไป

ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า    ตัวอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนไปใช้การศึกษาแบบสมรรถนะเป็นฐานคือ กกอ./สกอ.   เพราะกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดโดย กกอ. เป็นหลักสูตรแบบเน้นรายวิชานั่นเอง            

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เม.ย. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 661740เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2019 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2019 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท