การจำนำในอิสลาม (الرهن )


                                                                       การจำนำในอิสลาม (الرهن )

               ( 1 ) การจำนำ คืออะไร?

        การจำนำตามคำนิยาม ของนิติศาสตร์อิสลาม คือ การถือครองสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ เพื่อเป็นประกันว่า จะได้รับสิทธิคืน

     ส่วนการจำนำ ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 มีความหมาย คือ การทำสัญญาโดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้ เพื่อประกันการชำระหนี้

       โดยนัยดังกล่าวนี้ การจำนำ ตามคำนิยามของนิติศาสตร์อิสลาม จึงมีความหมายกว้างกว่า การจำนำตามนัยยะแห่งกฎหมายไทย เพราะการจำนำในอิสลามรวมเอาความหมาย ของการจำนองไว้ในตัวด้วย ในขณะที่กฎหมายไทยแยกแยะการจำนองออกไปว่า คือ การประกันการชำระหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินตรา ซึ่งหมายถึงใช้อสังหาริมทรัพย์ เป็นตัวค้ำประกันนั้นเอง

                ( 2 ) ที่มาของการจำนำในอิสลาม

      - อัลกุรอาน

       อัลลอฮฺทรงมีพระราชกระแสรับสั่งในเรื่องการจำนำไว้ว่า : “ความว่า และหากว่าพวกท่านอยู่ในระหว่างการเดินทาง และไม่พบผู้บันทึกคนใด ก็ให้ (กู้ยืมแบบ) มีสิ่งค้ำประกันที่ถูกยึดกุมไว้ (โดยเจ้าหนี้)”

       - ประมวลกิจปฏิบัติแห่งศาสดา( ซ.ล.) อีหม่ามบุคอรีย์ รายงานกิจปฏิบัติ เกี่ยวกับการจำนำ ของศาสดา        ( ซ.ล.) ไว้ว่า : ความว่า “ราชทูตแห่งอัลลอฮฺ เคยซื้ออ่าหาร จากชาวยิวผู้หนึ่ง โดยนำเสื้อเกราะเหล็กไปจำนำ (แทนราคาของอาหาร) กับชาวยิวผู้นั้น”

       - มติอันเป็นเอกฉันท์ ของนักวิชาการ ซึ่งต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า การจำนำเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายอิสลาม

                   ( 3 ) การจำนำเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่?

       นักวิชาการยังเห็นพ้องต้องกันอีกว่า  การจำนำไม่ใช่สิ่งจำเป็น ที่จะต้องปฏิบัติ และเห็นว่า พระราชกระแสรับสั่งที่ให้มีการจำนำ ทรงรับสั่งในเชิงแนะนำ  มิใช่ในเชิงบังคับ เห็นได้จากพระราชดำรัสต่อมาว่า : ความว่า                                     

 “หากแม้นต่างฝ่ายต่างไว้ใจ ซึ่งกันแหละกัน ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจดังกล่าว ก็จงตอบสนอง ความเชื่อถือนั้น ด้วยดี ”

       นอกจากนี้นักนิติศาสตร์อิสลาม ต่างก็มีความเห็นว่า เราสามารถทำการจำนำได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการเดินทาง หรือจะอยู่ที่บ้าน สำหรับกระแสพระราชดำรัสที่ระบุ ให้ทำการจำนำในระหว่างการเดินทางนั้น ทรงดำรัสถึงความเป็นไปส่วนใหญ่ เนื่องจากในระหว่างการเดินทางมักจะหาผู้ที่จะมาเป็นสักขีพยานในการกู้ยืมยาก นอกจากนี้การจำนำระหว่างศาสดากับยิวที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็ทำกันในระหว่างที่ท่านอยู่กับบ้านด้วย

                              ( 4 ) รูปแบบของการจำนำในอิสลาม

        4.1  องค์ประกอบในการจำนำ

          ในการจำนำทุกครั้ง จะต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบ เสมอ คือ

           ก. ผู้จำนำ และ ผู้รับจำนำ

           ข. ทรัพย์สินเพื่อค้ำประกัน

           ค. หนี้สิน

          ง.  คำสัญญา

         ก.  เงื่อนไขสำหรับผู้จำนำ และผู้รับจำนำ

             เรื่องนี้อาจแบ่งออกได้เป็นสองทัศนะใหญ่ๆ คือ

         ๑. ทัศนะของนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลาม สายอีหม่ามฮานาฟีย์ ซึ่งเห็นว่า ทั้งผู้จำนำและผู้รับจำนำจะต้องมีคุณสมบัติในการซื้อขายครบถ้วน   ตามทัศนะของนักวิชาการสายนี้ เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็สามารถทำสัญญาการจำนำได้ หากผู้ปกครองอนุญาต

        ๒. ทัศนะของนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลาม สายอื่นๆ ซึ่งเห็นว่า นอกจากคุณสมบัติในการซื้อขายแล้ว ผู้ทำสัญญาจำนำ ยังต้องมีคุณสมบัติในการบริจาคด้วย  ตามทัศนะนี้ บุคคลล้มละลาย จึงไม่สามารถทำสัญญาจำนำได้

        ข. เงื่อนไขสำหรับทรัพย์สินเพื่อค้ำประกัน

        1.  ต้องเป็นทรัพย์สินที่ซื้อขายได้

        2.  ต้องมีค่าเป็นทรัพย์สินจริงๆ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้นำซากศพไปจำนำ  เพราะไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สิน หรือจะจำนำผลประโยชน์ของทรัพย์สินก็ไม่ได้ เช่น จำนำผลประโยชน์ของบ้าน โดยให้เจ้าหนี้ไปอาศัยอยู่ในบ้านของตน ชั่วระยะเวลาหนึ่งเป็นต้น เพราะการอยู่อาศัยไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สามารถส่งมอบกันได้

       ๓. ต้องเป็นทรัพย์สินที่ศาสนายอมรับว่ามีประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่สามารถจำนำสิ่งที่ศาสนาถือว่าไร้ประโยชน์ เช่น หมู หรือ เหล้าได้

        ๔. ต้องเจาะจงลงไปให้แน่นอนว่า ทรัพย์สินใดที่จะใช่ในการจำนำ  เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง เช่น ถ้าผู้จำนำมีบ้านสองหลัง ก็ต้องเจาะจงลงไปว่า จะจำนำบ้านหลังไหน เป็นต้น

    อนึ่ง !  ถ้าระบุในสัญญาว่าจำนำบ้านพร้อมทั้งสิ่งของต่างๆที่อยู่ภายในบ้าน นักนิติศาสตร์สายอีหม่ามฮานาฟีย์เห็นว่าใช่ได้ โดยให้เหตุผลว่า เพราะสามารถซื้อขายกันในลักษณะดังกล่าวได้ ส่วนนักนิติศาสตร์สายอีหม่ามชาฟีอี และ อิบนีฮัมบัล  เห็นว่า เป็นสัญญาโมฆะ เนื่องจากไม่อาจรู้ได้ว่า มีอะไรบ้างอยู่ภายในบ้าน

       ๕. ทรัพย์สินดังกล่าวต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนำ  

     สำหรับในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของผู้จำนำ ผู้คุ้มครองสามารถนำทรัพย์สินนั้นไปจำนำได้ ไม่ว่าหนี้สินที่กู้ยืมมาจะเป็นหนี้สินของผู้คุ้มครองเอง หรือ กู้มาเพื่อใช่ในกิจการของผู้ใต้ปกครอง เช่น ผู้เป็นพ่อนำทรัพย์สินขอแงลูกไปจำนำ เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม  ก่อนการจำนำ นักนิติศาสตร์สายอีหม่ามชาฟีอีย์ และ อิบนีฮัมบัล วางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เสียก่อน ในขณะที่สายอีหม่ามฮานาฟี เห็นว่าไม่จำเป็น แต่ทั้งหมดก็เห็นว่า ในการที่ผู้ปกครองจะนำทรัพย์สินของผู้ใต้ปกครองไปจำนำนั้น จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้รับจำนำ ดังต่อไปนี้

     1. ต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้

     2. ต้องไม่เป็นผู้ขัดสน

     3. ระยะเวลาในการใช้หนี้ไม่นานเกินไป

        ๖. ต้องยกสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินดังกล่าว ให้แก่ผู้รับจำนำอย่างสมบูรณ์ โดยที่ หลังจากการรับมอมแล้ว ผู้จำนำไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นอีก เช่น ถ้าจะจำนำที่ดิน ก็ต้องหมายรวมถึงพืชพรรณที่อยู่ในที่ดินนั้นด้วย จะจำนำที่ดินอย่างเดียวไม่ได้

       ๗. ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ค้ำประกัน เป็นทรัพย์สินที่มีหุ้นส่วนกับผู้อื่น ต้องสามารถแยกทรัพย์สินนั้นออกเป็นสัดส่วนได้  ดังนั้นถ้าจะจำนำรถยนต์ซึ่งมีหุ้นส่วนกันอยู่ จึงจำนำไม่ได้ เพราะไม่สามารถตัดแบ่งรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนของตนออกไปจำนำได้

    หมายเหตุ   เงื่อนไขข้อที่ ๖ และ ๗ เป็นเพียงทัศนะของนักนิติศาสตร์ สายอิหม่ามฮานาฟีย์เท่านั้น  ส่วนนักนิติศาสตร์สายอื่นๆ เห็นว่า การจำนำที่ดินอย่างเดียว โดยไม่รวมถึงพืชพรรณที่อยู่ในดินผืนนั้น หรือ จำนำต้นไม้ แต่ไม่รวมถึงผลไม้ที่อยู่บนต้น สามารถทำได้ และเช่นเดียวกัน การจำนำทรัพย์สินที่มีหุ้นส่วนกันอยู่ ก็ไม่มีข้อห้ามใดๆ เนื่องจาก ทุกอย่างที่ซื้อขายได้ ก็สามารถจำนำได้

            วิธีการถือครองทรัพย์สินที่มีหุ้นส่วนของผู้อื่นร่วมอยู่ด้วย

      นักวิชาการนิติศาสตร์อิสลามสายอิหม่ามมาลิก  ต้องให้ผู้รับจำนำถือครองทรัพย์สินนั้นทั้งหมด เพื่อที่ผู้จำนำจะได้ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นอีกในภายหลัง ซึ่งการยุ่งเกี่ยวจะทำให้สัญญาจำนำเป็นโมฆะ  ในการนำหุ้นของตนไปจำนำนั้น นักนิติศาสตร์สายนี้บางท่านเห็นว่า  ควรขออนุญาตจากผู้ร่วมหุ้นส่วนเสียก่อน แต่บางท่านก็เห็นว่า จำเป็น

     สายอิหม่ามชาฟีอีย์ และอิบนีฮัมบัล  ถ้าหากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นอสังหาริมทรัพย์ การขออนุญาตก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนหากทรัพย์สินนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่การถือครองของผู้รับจำนำ จะต้องขออนุญาตจากหุ้นส่วนเสียก่อน  และไม่อนุญาตให้ทำการเคลื่อนย้ายโดยที่หุ้นส่วนไม่ยินยอม  สำหรับในกรณีที่ผู้รับจำนำยินยอมให้ทรัพย์สินนั้นยอยู่ในครอบครองของหุ้นส่วนต่อไป ก็สามารถกระทำได้ แต่หากทั้งผู้รับจำนำและผู้หุ้นส่วนไม่ยินยอมให้แก่กันและกัน ก็ให้ตั้งคนกลาง ขึ้นมาดูแลทรัพย์สินนั้น

         การถือครองทรัพย์สินจำนำ

     นักนิติศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า  การถือครองทรัพย์สินจำนำเป็นเงื่อนไขของการจำนำ ทั้งนี้เป็นความเห็นที่เกิดจากความเข้าใจต่อพระดำรัสของอัลลอฮฺ  แต่ก็มีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับประเภทของเงื่อนไขนั้น โดยอาจแยกแยะความเห็นในเรื่องนี้ออกเป็นสองทัศนะใหญ่ๆ คือ

  ๑. ความเห็นของนักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ ซึ่งเห็นว่าเป็นเงื่อนไขเพื่อให้การจำนำเกิดผลในเชิงบังคับ ซึ่งก็หมายความว่า  ตราบใดที่ยังไม่มีการรับมอบทรัพย์สินดังกล่าว การจำนำนั้นก็ยังไม่มีผลบังคับให้ผู้จำนำสามารถยกเลิกการจำนำนั้นได้

  ๒. ความเห็นของนักนิติศาสตร์สายอิหม่ามมาลิก  ซึ่งเห็นว่า เป็นเงื่อนไขเพื่อให้การจำนำเกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ตามทัศนะนี้ การจำนำมีผลบังคับ นับตั้งแต่การทำสัญญากัน และถ้าหากว่าผู้รับจำนำรีรอชักช้าในการถือครอง หรือ ยินยอมให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในครอบครองของผู้จำนำต่อไป ก็ถือว่าการจำนำนั้นเป็นโมฆะ

         ค.  เงื่อนไขสำหรับหนี้

 ๑.  หนี้นั้นถือเป็นสิทธิ์ที่ต้องส่งมอบให้แก่เจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับเงินทอง หรือเป็นสิ่งของ จากเงื่อนไขข้อนี้  การมอบสิ่งของของตนให้ผู้อื่นดูแล โดยเกิดจากการไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และเป็นการมอบที่ผู้รับมอบไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ในกรณีที่สิ่งของนั้นเกิดการเสียหาย จึงไม่อาจถือเอาสิ่งของดังกล่าวเป็นสิทธิที่ตนสามารถนำทรัพย์สินของผู้รับมอบมาค้ำประกันในรูปแบบของการจำนำได้  เนื่องจากการจำนำจะกระทำกันเฉพาะกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหายให้กันเท่านั้น

   และเนื่องจากนักนิติศาสตร์สายอิหม่ามชาฟีอีย์ เห็นว่า การจำนำเกิดจากภาวะความเป็นหนี้สิน จึงไม่อนุญาตให้กระทำการจำนำในกรณีนอกเหนือไปจากภาวะดังกล่าว เช่น ฝ่ายหญิงจะทรัพย์สินของฝ่ายชาย เพื่อเป็นการค้ำประกันว่า ฝ่ายชายจะนำสินสอดทองหมั้นมามอบแก่ตนไม่ได้ เป็นต้น ในขณะที่นักนิติศาสตร์สายอื่นเห็นว่าสามารถกระทำได้

 ๒.  ต้องเป็นหนี้สิน ที่สามารถใช้ทรัพย์สินจำนำ มาลบล้างภาวะความเป็นหนี้สินได้

 ด้วยเหตุผลของเงื่อนไขข้อนี้ ในกรณีต่างๆต่อไปนี้ จึงไม่สามารถทำสัญญาจำนำได้ คือ

      1. ในกรณีที่ต้องชดใช้หนี้กันด้วยชีวิต ( การกีศอซ ) เพราะไม่สามารถใช้ทรัพย์สินจำนำแทนค่าชีวิตได้

      2. การรับประกันเกี่ยวกับตัวบุคคล ( กาฟาละห์ )

      3. ในกรณีการซื้อขายหุ้น เช่น นาย ก. ซื้อบ้านหลังหนึ่งโดยหุ้นส่วนกับนาย ข.  ต่อมานาย ข. ขายหุ้นส่วนของตนให้กับนาย ค.  นาย ก.เห็นว่าการเข้ามามีหุ้นส่วนของนาย ค. ในบ้านหลังนั้น อาจก่อให้เกิดความบาดหมางกับตนได้ในภายหลัง  ในกรณีเช่นนี้นาย ก. มีสิทธิ์ที่จะรับหุ้นส่วนของนาย ค. มาเป็นของตนเองได้ โดยการจ่ายเงินให้แก่นาย ค. ตามจำนวนที่เขาซื้อหุ้นจากนาย ข.  แต่ในระหว่างการมอบหุ้น นาย ก.จะนำเอาทรัพย์สินของนาย ค.เพื่อค้ำประกันว่านาย ค. จะมอบหุ้นส่วนดังกล่าวให้แก่ตนในรูปของการจำนำไม่ได้  เนื่องจากภาวะหนี้สินระหว่างนาย ก. กับนาย ค. ไม่สามารถลบล้างไปโดยใช้ทรัพย์สินจำนำดังกล่าวได้

 ๓.  ต้องเป็นหนี้ที่ได้รับการเฉพาะเจาะจงลงไปให้รู้กันทั้งสองฝ่าย

          ง.  เงื่อนไขสำหรับคำสัญญา

        ทัศนะของนักวิชาการนิติศาสตร์อิหม่ามฮานาฟี  เห็นว่า จะต้องไม่มีการวางเงื่อนไขใดๆ ในการกระทำสัญญาจำนำ  และจะต้องไม่มีการกำหนดวันเวลาด้วย ส่วนหากมีเงื่อนไข หรือการกำหนด วันเวลาอยู่ในสัญญา การจำนำนั้นยังคงใช้ได้อยู่ แต่ ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข

      ส่วนในสายของอิหม่ามชาฟีอีย์ มีการแบ่งเงื่อนไขออกเป็น สาม ประเภท

   1. เงื่อนไขที่ใช้ได้ เช่น วางเงื่อนไขว่า จะต้องมีพยานในการจำนำ

   2. เงื่อนไขที่ใช้ไม่ได้ คือ เงื่อนไขที่ไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ เช่น เมื่อเอารถไปแล้วต้องเอาผ้าไหมคลุม เป็นต้น เงื่อนไขประเภทนี้ ไม่ทำให้สัญญาจำนำเสียแต่อย่างใด

   3. เงื่อนไขที่ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ ได้แก่ เงื่อนที่ทำให้ผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย เช่น วางเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้จำนำก็ยังไม่จ่าย ทรัพย์สินดังกล่าวยังจะนำออกขายมิได้ จนกว่าจะเลยเวลาหนึ่งเดือนไปแล้ว เป็นต้น

  ( 5 )  จะทำอะไรกับทรัพย์สินจำนำได้อีก เมื่อทำสัญญากันแล้ว

      ก่อนการรับมอบ ผู้จำนำ สามารถนำทรัพย์สินของตนเอง ไปหาผลประโยชน์อย่างอื่นได้ตามความต้องการ โดยไม่ต้องขออนุญาต จากผู้รับจำนำก่อน ในส่วนของสายอิหม่ามมาลิก ซึ่งเห็นว่า การจำนำมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ทำสัญญาเสร็จสิ้นลงนั้น ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไปว่า  ถ้าหากผู้จำนำ นำทรัพย์สินดังกล่าวไปขาย การขายดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่นั้น ให้พิจารณาตัวของผู้รับจำนำ หากผู้รับจำนำรีรอไม่เอาทรัพย์สินจำนำมาถือครองไว้แต่เนิ่นๆ ก็ต้องปล่อยให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้อื่นไป และตัวเองก็ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกันอยู่ในมือ  ส่วนในกรณีที่ได้พยายามทวงขอสิทธิ์ในการถือครองแล้ว แต่ผู้จำนำก็ยังขายไปเสียก่อน เรื่องนี้มีทรรศนะให้เลือกพิจารณา สาม ทรรศนะด้วยกัน คือ

      ๑. ทรรศนะของ อิบนิกิซอร หากสินค้านั้นยังคงอยู่ในมือของผู้จำนำ ผู้รับจำนำสามารถทวงคืนได้  แต่ หากสินค้านั้นตกไปอยู่ในมือของผู้ซื้อแล้ว ผู้รับจำนำก็สามารถใช้ราคาสินค้าดังกล่าว เป็นตัวค้ำประกันหนี้ ของตนแทนได้

     ๒. ทรรศนะของ อิบนิอาบีเซด  ปล่อยให้การขายดำเนินต่อไป และใช้ราคาของสินค้า เป็นตัวค้ำประกัน

     ๓. ทรรศนะอิบนิรุชด์  การกู้ยืมระหว่างผู้จำนำ กับผู้รับจำนำ เป็นไปโดยไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน

    ส่วนภายหลังการรับมอบ  นักนิติศาสตร์สายอิหม่ามฮานาฟี เห็นว่า การขาย หรือสัญญาอื่นๆ เช่น การให้ยืม หรือ ให้เช่าจะใช้ได้หรืไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้รับจำนำ  ส่วนนักนิติศาสตร์สายอื่นๆ เห็นว่า การทำสัญญาซ้อนในขณะที่ทรัพย์สินอยู่ในมือของผู้รับจำนำแล้ว เป็นโมฆะ ไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น

    ทางด้านผู้รับจำนำเอง ก็มีสิทธิแค่ การถือครองทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์จริงๆ ยังเป็นของผู้จำนำอยู่ ดังนั้นจึงไม่อาจนำทรัพย์สินจำนำไปใช้ประโยชน์โดยพละการได้  การกระทำใดๆ จะต้องให้ ผู้จำนำยินยอมเสียก่อน และหากผู้จำนำยินยอมให้ขาย ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดสัญญาจำนำระหว่างกันเพียงแค่นั้น แต่ถ้าหากเป็นเพียงการให้เช่า หรือ ยืม สัญญาจำนำจะยังคงอยู่ต่อไป

       

             การขายทรัพย์สินจำนำ

    อำนาจในการขายเป็นของผู้จำนำ แต่เนื่องจากสิทธิในการถือครองเป็นของผู้รับจำนำอยู่ การขายจึงต้องได้รับอนุญาตและความยินยอม จากผู้รับจำนำเสียก่อน ถ้าหากผู้รับจำนำไม่ยินยอมในขณะที่ผู้จำนำ จำเป็นต้องขายก็ให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ในทำนองเดียวกันหากเวลาที่จะต้องชำระหนี้มาถึงแล้ว และผู้จำนำยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ศาลก็จำเป็นต้องบังคับให้ขายทรัพย์สินจำนำ เพื่อชำระหนี้

  

 ( 6 )  ผลประโยชน์ในระหว่างการจำนำเป็นของใคร

          ๑. ผู้จำนำ

    -  นักนิติศาสตร์สายอิหม่ามอาบูฮานีฟะห์ และ อิบนิฮัมบัลเห็นว่า  ผู้จำนำจะไปใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำไม่ได้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้รับจำนำอนุญาตให้ใช้ได้เท่านั้น เหตุผลคือ สิทธิการถือครองเป็นของผู้รับจำนำ การใช้ประโยชน์โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดสิทธิ และถ้าหากมีการละเมิดเกิดขึ้นและทรัพย์สินเกิดการเสียหาย ผู้จำนำต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่ให้ผูกพันธิ์กับภาระหนี้สิน

    -  สายอิหม่ามมาลิก เห็นว่า ไม่อนุญาตให้ผู้จำนำใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำเช่นกัน และยังเห็นว่าเพียงการอนุญาตจากผู้รับจำนำให้ผู้จำนำมาใช้ทรัพย์สินดังกล่าว สัญญาจำนำจะกลายเป็นโมฆะทันที แม้ผู้จำนำจะยังไม่ใช้จริงๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากกรรมสิทธิ์จริงๆ นั้นเป็นของผู้จำนำ จึงเห็นควรให้ผู้จำนำแต่งตั้งผู้รับจำนำเป็นตัวแทน ในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว และให้รายได้เป็นของผู้จำนำ หากผลประโยชน์ดังกล่าวหยุดชะงักไปเพราะการกระทำของผู้รับจำนำ ผู้รับจำนำจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ตามความเห็นของนักวิชาการบางกลุ่ม

   -  สายอิหม่ามชาฟีอีย์ เห็นว่า ผู้จำนำสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ถ้าหากว่าการใช้นั้นไม่ทำให้ผลประโยชน์ของทรัพย์สินนั้นลดลง แต่ถ้าหากใช้แล้วจะทำให้ลดลง การใช้ประโยชน์แต่ละครั้งจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้จำนำเสียก่อน โยให้เหตุผลว่า ผลประโยชน์และผลกำไรของทรัพย์สิน เป็นของผู้จำนำ จึงมีสิทธิใช้ได้

  นอกจากนี้ ยังมีวจนะนบี ที่ได้ยืนยัน  ความว่า  “ ทรัพย์สินจำนำ ใช้ขี่ และรีดนมได้ ”

  อีกรายงานหนึ่ง ความว่า “ และแผ่นหลังของสัตว์ที่ถูกจำนำ ใช้ขี่ได้โดยมีค่าใช้จ่ายให้ ”

       ๒. ผู้รับจำนำ

    -   สายฮานาฟี เห็นว่า ผู้รับจำนำไม่มีสิทธิที่จะใช้ของจำนำ ยกเว้นผู้จำนำอนุญาต และหากทรัพย์สินเกิดการเสียหายในระหว่าง การใช้ ผู้รับจำนำจะต้องชดใช้ ค่าเสียหายทั้งหมด

     อย่างไรก็ตาม การอนุญาตดังกล่าวไม่ควรระบุไว้ในสัญญา เพราะจะทำเป็นเหมือน ดอกเบี้ยไป

     ข้อสังเกต คือ เงื่อนไขเรื่องสิทธิประโยชน์ในทรัพย์สินจำนำ แม้จะไม่พูดกันด้วยวาจา แต่ การใช้ประโยชน์เป็นประเพณีนิยม ก็ถือว่ามีผลเท่ากับการวางเงื่อนไขเช่นกัน

    -  สายอิหม่ามมาลีกี เห็นว่า ผู้จำนำสามารถ มอบสิทธิประโยชน์ในทรัพย์สินจำนำ ให้แก่ผู้รับจำนำ และผู้รับจำนำสามารถวางเงื่อนไขเกี่ยวกับ สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ หากภาวะหนี้สินระหว่างสองฝ่ายเกิดจากการซื้อขาย หรือธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน แต่จะต้องระบุเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวลงไปให้แน่ชัด เพราะการทำเช่นนั้น คือการขายสินค้า และให้เช่าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาต

     ส่วนภาวะหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมนั้น ไม่อาจทำเหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้วได้ เพราะจะเป็นการให้กู้ เพื่อดึงผลประโยชน์เข้าตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาสนาเคยห้ามไว้

-  สายอิหม่ามชาฟีอีย์ เห็นว่า โดยสรุปแล้วเหมือนกับสายมาลีกี  เพราะมีเหตุผล คือวจนะที่ว่า  ความว่า               “ ทรัพย์สินจำนำ จะไม่ปิดกั้นตัวเองหนีจากเจ้าของที่พาไปจำนำ ( หมายถึง ผู้จำนำยังมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นอยู่ ) ผลประโยชน์ของทรัพย์สินยังเป็นของเขาอยู่ และเป็นภาระของเขาเมื่อทรัพย์สินนั้นเกิดความเสียหาย

    และหากผู้รับจำนำวางเงื่อนไขในสัญญากู้ยืม อันจะทำให้ผู้จำนำเสียหาย เช่น ให้ลูกของวัวที่ตนรับจำนำเอาไว้เป็นของตน เช่นนี้ถือว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นโมฆะ และยังทำให้สัญญาการจำนำเป็นโมฆะด้วย เนื่องจาก “เงื่อนไขทุกประเภทที่ไม่อยู่ในแนวทางแห่งคัมภีร์ของ อัลลอฮฺนั้นเป็นโมฆะ”

      สำหรับในกรณีการจำนำ ซึ่งเกิดจาก กรณีซื้อขาย ผู้ขายสามารถวางเงื่อนไข เพื่อจะใช้สิทธิประโยชน์ ในทรัพย์สินจำนำได้ เช่น ขายโทรทัศน์หนึ่งเครื่องในราคา 500 บาท โดยผู้ซื้อต้องนำวิทยุเทป มาจำนำไว้ก่อน และให้ผู้ขายใช้วิทยุดังกล่าวได้เป็นเวลาหนึ่งเดือน  ที่วางเงื่อนไขเช่นนั้นได้ เพราะถือว่า โทรทัศน์ส่วนหนึ่งขายไปในราคาที่  แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการให้เช่า โดยแลกกับผลประโยชน์จากวิทยุเทป

  • - สายฮัมบาลี เห็นว่า การอนุญาตให้ผู้รับจำนำใช้ประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทน ในขณะที่ภาวะหนี้สินเกิด

 จากการกู้ยืม ถือว่าเป็นการให้กู้เพื่อดึงผลประโยชน์ใส่ตัว แต่ถ้าหากมีค่าตอบแทนก็ใช้ได้

     ส่วนในกรณีที่ทรัพย์สินจำนำเป็นสัตว์ ผู้รับจำนำสามารถใช้แรงงานสัตว์ตัวนั้นได้ โดยต้องออกค่าใช้จ่ายเรื่องค่าอาหารของสัตว์ เอง ทั้งนี้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้จำนำก่อน  

   

เรียบเรียงโดย

กลุ่ม อ. ส. ส.

ณ  กรุงไคโร  อียิปต์

4   ส. ค.  2535

                                                                1. นายวิรัตน์   มาลี

                                                               2. นายฉลอง  โต๊ะหนูเอียด

                                                               3. นายซอลีฮีน  ณ.มาเลย์

                                                               4. นายมูฮำหมัด  ส่าหัส

                                                               5. นายอดุลย์   เหมียนเอียด

                                                                6. นายวสันต์   เหมรัญ

                                                                7. นายวิสุทธิ   บินลาเต๊ะ

                                                         ความรักนั้นเหมือนความตาย

                                                                หากเกิดขึ้นกับใครแล้ว

                                                                     ไม่สามารถหลีกหนีได้

     ความยุ่งยากในสังคม ที่เกิดขึ้น

     เพราะคนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ให้สมบูรณ์

      ส่วนมากเป็นแต่เพียงในนาม

                  ขงจื้อ

หมายเลขบันทึก: 661735เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2019 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2019 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท