เก็บตกวิทยากร (56) บางถ้อยคำของความคิด ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์


ผมเน้นการบอกเล่าสอดผสานไปกับการถามทัก ซึ่งการถามทักที่ว่านั้นมีทั้งที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นการถามทักลอยๆ ชวนให้แต่ละคนได้ครุ่นคิดถอดรหัส ขณะที่บางจังหวะก็ถามทักโดยต้องการคำตอบ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการให้คนในเวทีได้สะท้อนออกมา เพื่อ “ปลดปล่อยและกลบทิ้งหลุมดำ” บางอย่างที่อาจเป็นทั้งเรื่อง “การงานและชีวิต”

วันนี้ (วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562)  ผมเดินทางไปเป็นวิทยากรกระบวนการที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เนื่องในโครงการ “บ่มเพาะผู้นำนักศึกษายุคใหม่”  และนั่นคือการจัดการเรียนรู้ทั้งวัน  เป็นการจัดการเรียนรู้ในแบบที่ผมใช้ประจำ นั่นคือ “กระบวนการทางความคิดและการลงมือปฏิบัติ”

กระบวนการทางความคิด ในที่นี้หมายถึง  ผมจะเน้นการบรรยายกึ่งเล่าเรื่อง  ฝากแฝงข้อคิด หรือชวนให้ผู้ฟังในเวทีได้ขบคิดไปพร้อมๆ กัน

การขบคิดที่ว่านั้น  เป็นได้ทั้งคิดเงียบๆ คนเดียว (เชิงปัจเจก)  และสื่อสารกลับมาในเวทีของการเรียนรู้  เพื่อก่อให้เกิด “การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” 

กระบวนการที่ว่านี้  ผมเน้นการบอกเล่าสอดผสานไปกับการถามทัก  ซึ่งการถามทักที่ว่านั้นมีทั้งที่ไม่ต้องการคำตอบ  เป็นการถามทักลอยๆ ชวนให้แต่ละคนได้ครุ่นคิดถอดรหัส  ขณะที่บางจังหวะก็ถามทักโดยต้องการคำตอบ  เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการให้คนในเวทีได้สะท้อนออกมา  เพื่อ “ปลดปล่อยและกลบทิ้งหลุมดำ” บางอย่างที่อาจเป็นทั้งเรื่อง “การงานและชีวิต” 

ข้อมูลที่คนในเวทีสื่อสารมานั้น  ในบางจังหวะ ผมผูกโยงขยายความด้วยตนเอง  หรือชวนคนอื่นได้ช่วย “เติมเต็ม-เยียวยา”

ส่วนการลงมือปฏิบัติ  จะเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำร่วมกันอย่างเป็นทีม – ผ่านการเรียนรู้และโสเหล่ผ่านคลิป ผ่านโจทย์ที่ผมกำหนดขึ้น 

โดยส่วนตัว  นี่คือกระบวนการที่ผมคิดและเชื่อว่า “เป็นการจัดการเรียนรู้ผสมผสานระหว่างเรื่องการงานและชีวิต”  เพราะสิ่งที่ผมพูดแม้จะเป็นประเด็นการงาน  ผมก็มักจะดึงกลับมาในโหมดชีวิตไปในตัว  เช่นเดียวกับประเด็นชีวิต  ผมก็จะผูกโยงไปยงวิถีแห่งการงานด้วยเช่นกัน

และนี่คือ  ส่วนหนึ่งที่ผมพูด หรือสื่อสารไว้ในเวทีที่ว่านั้น   -

  • กิจกรรมนิสิต รสชาติชีวิตปัญญาชน
  • การตั้งคำถามกับชีวิต คือการปักหมุดในการเรียนรู้
  • ธรรมชาติเป็นบ่เกิดของความรู้และปรัชญา
  • มนุษย์ คือนักถอดความรู้ และมีความรู้ในตัวเองด้วยกันทุกคน
  • เรามีสองสถานะหลักใสตัวเอง คือนักศึกษาที่ต้องทำหน้าที่หลักด้วยการเรียน  และสถานะของการเป็นผู้นำนักศึกษาที่ต้องทำหน้าที่รังสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับการพัฒนาคนรอบข้าง มหาวิทยาลัย และสังคม
  • เรามีสถานะ และสถานะจะบ่งบอกความเป็นหน้าที่ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ  การทำหน้าที่จึงควรต้องเรียนรู้ที่จะทำด้วยหัวใจ (ใจนำพาศรัทธานำทาง) 
  • การค้นพบตัวเองได้เร็ว ย่อมทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็ว
  • การลงมือทำสิ่งใด โดยไม่รู้ตัวเอง โดยไม่มีข้อมูล คือการลองถูกลองผิดที่เสี่ยงต่อความล้มเหลว  หรือไม่ก็ใช้เวลาอันยาวนานกว่าจะบรรลุซึ่งความฝัน




  • เราเติบโตได้ก็ด้วยการเรียนรู้-แต่เราจะเติบโตได้อย่างไร หากเราไม่มีเครื่องมือที่จะเรียนรู้
  • เราทำกิจกรรม  ไม่ใช่ว่าเราใช้ต้นทุนทรัพยากรของตนเองเสียทั้งหมด  งบประมาณ เวลา สถานที่ต่างล้วนเป็นสมบัติสาธารณะทั้งนั้น  เมื่อจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นลง  เราต้องทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไร เติบโตอย่างไร ล้มเหลวอย่างไร และกล้าหาญที่จะส่งต่อสิ่งเหล่านั้นให้คนรุ่นถัดมา
  • การลงมือทำ จะสอนให้เราได้รู้ว่าทำได้ และทำไม่ได้  และนั่นเราต้องกล้าหาญที่จะถอดรหัสว่าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร  สิ่งนี้เป็นธรรมดาของโลกและชีวิต
  • การทำกิจกรรม – มีประสบความสำเร็จและล้มเหลวคู่กันไป  แต่ดีตรงที่ว่าเราแก้ไขใหม่ได้  แต่ในโลกความจริงของการจบไปทำงาน บางทีผิดพรากแล้ว  เราอาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเหมือนที่เราทำกิจกรรม  นี่คือสิ่งที่กิจกรรมจะเตรียมความพร้อมให้เราได้ออกไปเผชิญต่อโลกความจริง
  • เราต่างมีอดีตด้วยกันทั้งนั้น  เราโตมาจากอดีต อดีตคือต้นทุนที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบัน  แต่ไม่ใช่การจ่อมจม เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง
  • คนทำกิจกรรม  หรือผู้นำ ต้องการคิด กล้าลงมือทำ และกล้าที่จะรับผิดชอบ
  • ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้  เว้นเสียแต่เราจะไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้
  • ในองค์กรเรามีความต่างทางความคิดเสมอ  ผู้นำต้องบริหารความต่างที่ว่านั้นให้ได้


  •  


  • ความเป็นทีม  เป้าหมาย คือสิ่งสำคัญ  เป้าหมายคือตัวบ่งบอกความเป็นทีม  การไปสู่เป้าหมายอาจมีกระบวนการที่เป็นหนึ่งเดียวกันก็ได้  หรืออาจมีกระบวนการที่ต่างกันบ้างก็ได้  แต่บรรลุในเป้าหมายเดียวกัน และกระบนการที่ว่านั้นต้องสร้างสรรค์
  • การทำกิจกรรม คือการพัฒนาตัวเองและผู้อื่น  และที่สุดกิจกรรมจะ “บ่มเพาะความเป็นสัตว์สังคม” หรือ “พลเมืองของสังคม” ไปในตัว
  • ในองค์กรกิจกรรม  ต้อง “สอนงานสร้างทีม”  และคนทำกิจกรรมต้องทำงานในแบบได้คนและได้งาน  มิใช่ทำกิจกรรมแล้วเสียเพื่อนเสียมิตรไม่รู้จบรู้สิ้น
  • บางอย่างต้องเริ่มต้นจากการให้อภัยตัวเอง  และเดินไปหาสังคม  จากนั้นสังคมจะให้โอกาสแก่เรา  ขึ้นอยู่กับว่าจะให้โอกาสมาก หรือน้อยแก่เราเท่านั้นเอง
  • บ่อยครั้งการศึกษาก็พรากเราไปจากบ้านเกิด  เราเดินทางไปเรียนต่อในที่ต่างๆ  เหมือนตัวละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่พระเอกต้องพลัดบ้านพลัดเมือง เหมือนพระรามเดินดง เหมือนพระเวสสันดรที่ต้องไปใช้ชีวิตในป่า  แต่สุดท้ายบางอย่างจะพาเรากลับบ้าน
  • ความขาดเขิน ทุกข์ยาก  ไม่ใช่อุปสรรค หรือปมด้อยเสมอไป  มันอยู่ที่เราจะมีสติและกล้าที่จะยอมรับและสู้ หรือพลิกมันเป็นพลังได้หรือไม่
  • ฯลฯ



ผมพูดในทำนองนั้นจริงๆ  และที่จริง  มีมากมายกว่านั้น 

บางส่วนผมบันทึกไว้ในสไลด์เลยก็มี  ขณะที่บางอย่างก็ผุดพรายขึ้นมาสดๆ  โดยที่ผมก็ไม่ใคร่แน่ใจนักว่าคิดเอง หรือจำมาจากที่ไหนนี่แหละ  รู้แต่เพียงว่ามันมีอยู่ในหัวสมองของผม  และผมก็สื่อสารออกมา

ถ้อยคำข้างต้นคือส่วนหนึ่งที่ผมพร่ำพูดผ่านกระบวนการในเวที “บ่มเพาะผู้นำยุคใหม่”  เป็นถ้อยคำที่เกิดขึ้นในแบบลอยๆ และเจาะจงตามจังหวะของการเรียนรู้  บางถ้อยคำผมสื่อสารลอยๆ บางถ้อยคำผมกดเน้นด้วยน้ำเสียงเพื่อชวนคิด 

ใช่ครับ- ด้วยถ้อยคำประมาณนี้นั่นแหละ  ผมถึงเรียกและเชื่อว่ากระบวนการที่ผมทำนั้น เป็น “กระบวนการทางความคิดและการลงมือปฏิบัติ” หรือ “กระบวนการเรียนรู้การงานและชีวิต” 

ผิด-ถูก ผมไม่รู้หรอก  แต่ผมคิดและทำในสิ่งที่ผมคิด  และพูดในสิ่งที่ผมคิด  และพูดในสิ่งที่ผมเสพสัมมาด้วยตนเอง  -

เขียน : ศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2562 / มหาสารคาม
ภาพ : มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

หมายเลขบันทึก: 661597เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2019 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2019 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เชิญมาแม่ฮ่องสอนสักอีกรอบดีไหมเนี่ย ;)…

เรามา.. ร่วมสร้าง.. มวล แห่ง ธรรมชาติ.. วิทยา.. กัน.. ดี.. ไหม.. เอ่ย.. @????..

สุดยอดเลยครับ เป็นกิจกรรมที่ดีอย่างนึงเลย สล็อต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท