เมื่อฉันเขียนถึง R2R ภาคประชาชน


เมื่อฉันเขียนถึง R2R ภาคประชาชน

เมื่อวันที่ 29-30 เมษายนที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนเขต4 ภารกิจนี้จัดขึ้นที่จังหวัดลพบุรีในส่วนตัวที่ได้เข้าไปร่วมคือการไปจับภาพและถอดบทเรียนพร้อมค้นหาพลังศักยภาพแห่งภายในแห่งการเรียนรู้ผ่านการทำงานของภาคประชาชน

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาการขับเคลื่อนงานการเข้าถึงสิทธิและหน่วยรับเรื่องร้องเรียน 50(5)ใน 8 จังหวัด 17 หน่วยพื้นที่เขต4 อาจารย์ ดร.สิริมา (ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ รองคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)ได้เสริมศักยภาพภายใต้ความเป็นวิชาการผ่านการทำโครงการทำให้การทำงานของภาคประชาชนมีความชัดเจนเป็นเหตุเป็นผลและวัดผลลัพธ์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนงาน ฉันมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งแรกจัดขึ้นที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในบทบาทของนักจับภาพ (Capture) จับภาพและถอดบทเรียน

สิ่งที่ได้มองเห็นและสะท้อนคิดในตนเองคือความเป็นนักวิชาการที่มีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ผ่านวิถีแห่งการทำงานค่อนข้างชัดเจนในภาคประชาชน ซึ่งต่างล้วนมาทำงานแบบจิตอาสาซึ่งถ้าถามว่าไม่ทำได้ไหมก็คงได้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานอยู่ที่บ้านก็น่าจะสบายกว่า แต่ก็มาทำภารกิจนี้ แม้จะมีความเกี่ยวข้องในด้านงบประมาณก็ไม่ได้ทำให้ภาคประชาชนร่ำรวยอะไรแต่กลับเหนื่อยด้วยซ้ำที่ต้องลงพื้นที่ผลักดันเพื่อให้ประชาชนบนพื้นที่ได้รับรู้เรื่องสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพและเข้าถึงสิทธิผ่านการรักษาบริการที่มีคุณภาพทางด้านสุขภาพ ส่วนตัวของฉันหัวใจของทุกท่านเป็นหัวใจที่ยิ่งใหญ่เพราะเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์อันน้อยนิดที่รวมกันลุกขึ้นมาขับเคลื่อนงานนี้แม้จะไม่ใช่ทุกคนพี่ทุ่มพลังอย่างร้อยเปอร์เซนต์แต่ก็เกือบทุกคนที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้ออย่างไม่ต้องมีใครบังคับ

การขับเคลื่อนของเก้าโครงการฉันมองว่ามันมีการพัฒนางานด้วยกระบวนการวิจัยซ่อนอยู่อย่าง R2R จึงได้เชียร์แบบนอกรอบเพื่อให้ภาคประชาชนได้ผ่องถ่ายสิ่งที่ตัวเองทำผ่านการสื่อสารในรูปแบบของงาน R2R ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างยินดีเป็นอย่างยิ่งทั้งนี้ทั้งนั้นอันเนื่องมาจากภาคประชาชนเอง เคยไปร่วมงาน R2R Forum ที่เชียงใหม่เมื่อปีที่แล้วทำให้พี่เตือนผู้ซึ่งเป็นประธานและทำงานกลไกภาคประชาชนได้มองเห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ก็สามารถทำ R2R ได้

รูปแบบงานวิจัยที่ใกล้เคียงวิถีชีวิตของความเป็นปกติของนักพัฒนางานในทัศนะของฉันเองมองว่า คือรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพราะประกอบไปด้วยการคิดวิเคราะห์และวางแผน (Plan) ไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใหม่เพื่อที่จะลงมือทำโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและพัฒนางานนั้น จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการลงมือปฏิบัติ (Action) ทำไปเรียนรู้ไปปัญญาก็จะเกิดขึ้น ขณะนี้ จุดอ่อนอย่างหนึ่งของคนทำงานที่ฉันมองเห็นก็คือการทำภารกิจการงานอย่างมากมายแต่ขาดการวัดผลซึ่งรูปแบบการวิจัยเชิงปฎิบัติการได้มีประเด็นนี้ให้นักพัฒนาได้เติมเต็มในวิถีชีวิตการทำงานของตัวเองนั่นก็คือขั้นสังเกตผล (Observation) และมีรูปแบบการวัดผลลัพธ์ที่ชัดเจนทั้งสิ้นทั้งปวงที่พัฒนาไปแล้วนั้นช่วงสุดท้ายทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดความคิดที่ตกผลึกเป็นขั้นตอนของการคืนข้อมูล (Reflection) ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันคิดช่วยกันมองสิ่งที่พัฒนามานั้นว่าสอดคล้องหรือสอดรับกับการวางแผนและการปฎิบัติในเบื้องต้นหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าภาคประชาชนหรือแม้แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิชาการภายใต้นาม R2R ได้อย่างเต็มภาคภูมิใจ


คำสำคัญ (Tags): #km&r2r#uc#r2r
หมายเลขบันทึก: 661518เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท