วิธีสอนของอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน



ควอท. (สมาคมเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย) จัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ ๑๔  ประจำปี ๒๕๖๒  ในหัวข้อ การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อสังคมที่หลากหลาย (Inspiring Student Learning for Diverse Societies)    ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท ๑๑   ในช่วงสายเป็นรายการเสวนา เรื่อง ต้นแบบด้านการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ตัวแทนอาจารย์ต้นแบบด้านการสอนจากสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้รับรางวัลในปี พ.ศ.​๒๕๖๒   ซึ่งก็คือ ผศ. ดร. ปริญญา เสงี่ยมสุนทร แห่งภาควิชาคณิตศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์  มจธ.   กับ ดร. ธเนศ ปานรัตน์ วิทยาลัยนานาชาติ  มอ. ที่สอนวิชาด้าน Digital Media    โดยมี ผศ. ดร. วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร. วิรัชเปิดฉากถามเรื่องแรงบันดาลใจให้อาจารย์ทั้งสองเอาจริงเอาจังด้านการสอน    ได้คำตอบตรงกันว่า แรนงบันดาลใจอยู่ที่นักศึกษา  

วิธีการสอนและทำงานร่วมมือ/ช่วยเหลือ อาจารย์ท่านอื่นๆ ทั้งในและนอกสถาบัน ของอาจารย์ต้นแบบทั้งสองก็คล้ายๆ กันกับที่เล่าแล้วในบันทึกของวันที่ ๑๗ และ ๒๔ เมษายน    แต่เนื่องจากผมได้ฟังเป็นครั้งที่สอง    จึงมีโอกาสตีความได้ชัดเจนขึ้น   

กรณี ของ ดร. ปริญญา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ทฤษฎี วิชาที่เปรียบเสมือนยาขมหม้อใหญ่    ท่านมีวิธีคิดเบี่ยงมุมนิดเดียว  และจัดการเรียนรู้แบบเอาโจทย์ชีวิตจริงมาให้นักศึกษาหาวิธีอธิบายด้วยคณิตศาสตร์    ทำให้เกิดการเรียนที่ท้าทายสนุกสนาน   ที่สำคัญ เอาชิ้นงานไปประกวดได้รางวัลบ่อยๆ    สร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษารุ่นต่อรุ่น    ท่านบอกว่า ท่านได้แนวความคิดจากภาคอุตสาหกรรม  และจากอาจารย์คณะวิศวฯ ว่าต้องการให้ นศ. เรียนคณิตศาสตร์พื้นฐาน เพื่อเอาไปใช้งานอย่างไร    แล้วจึงนำโจทย์นั้นมาคิดออกแบบการเรียนรู้แบบ Activity-based  หรือ project-based

กรณีของ ดร. ธเนศ ท่านมีวิธีเล่าการจัดการเรียนรู้แบบ activity-based learning   โดยเริ่มต้นที่เป้าหมายของการเรียนรู้    แล้วให้นักศึกษาช่วยกันคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไร หรือตั้งโจทย์เพื่อทำกิจกรรมอะไรเพื่อการเรียนรู้นั้น   มีการค้นคว้าความรู้มาประกอบ   โดยความรู้ทฤษฎีหาเอาจาก MOOCs   นำความรู้ทฤษฎีเหล่านั้นมาประกอบการทำกิจกรรม   ฟังแล้วท่านใช้เวลามากทีเดียวกับการทำหน้าที่ coach นักศึกษา    แรงจูงใจสำคัญต่อนักศึกษา คือการเอาชิ้นงานไปประกวด ได้ไปร่วมงาน  ได้เดินทาง  ได้รางวัล  

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 661401เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2019 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2019 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท