คำว่า "วัด" มาจากไหน?


พระธาตุพนม

ช่วงเทศกาลเชื่อว่า คนไทยคงได้เข้าวัด เพื่อไปไหว้พระ ทำบุญ ท่องเที่ยว ขอพร ขอสิ่งศักดิ์ คุ้มครองตนเองบ้าง  วัดคือองค์กรหนึ่ง ในสถาบันหนึ่งของประเทศนั่นคือ "ศาสนา" วัดคือ สถานที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ สามเณร และอารามิกชน วัดคือ สถานที่ศึกษา อบรมบ่มเพาะนิสัย จิตใจ วัดคือ สถานที่แสวงบุญ งานบุญ ประเพณีต่างๆ เป็นที่ชุมนุมของชาวบ้าน เวลามีกิจกรรมอะไร ก็มักอาศัยวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน


วัดเกิดมาได้อย่างไร?

วัดเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็ได้เที่ยวเผยแผ่พระธรรมคำสอนออกไปทั่วสารทิศ จนเกิดสาวกมากมาย จำนวนหรือปริมาณของสาวกคือ เหตุปัจจัยให้หาที่อยู่ เพื่อพำนักพักแรม สมัยก่อนพระองค์อนุญาตให้สาวกพักในที่เฉพาะเช่น โคนต้นไม้ ถ้ำ หรือเรือนที่สร้างขึ้นเอง และห้ามจำพรรษาในที่ไม่เหมาะสมเช่น ในโรงผีป่าช้า ในตุ่ม ในร่ม ในกลด ในโพรงไม้ ฯ จึงทำให้สาวกลำบากในการพักค้างแรมในที่ต่างๆ

แม้พระพุทธองค์ ก็ทรงลำบากไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ การเกิดวัดครั้งแรก เมื่อพระพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองราชคฤห์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จนบรรลุโสดาบัน และประกาศตนเป็นพุทธมามกะ และได้สร้างวัดเวฬุวันมหาวิหารถวาย เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา คำที่เรียกในสมัยนั้นคือ “วิหาร” (วิ + หรฺ + ณ ปัจจัย) ซึ่งหมายถึงที่พักผ่อนในทุกๆ อิริยาบถหรือที่อาศัย แต่ต่อมาเป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูป ที่ถือว่าเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า

เมื่อมีใครมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็จะมาที่วิหาร ส่วนคำว่า “วัด” นั้นเกิดภายหลังพุทธปรินิพพาน อันเนื่องมาจากสาวกได้หาสถานที่พักชั่วคราว เพื่อทำกิจวัตรต่างๆ เช่น ประชุม สังกรรม กิจกรรม ฯ แต่วัดในสมัยนั้น คงไม่เหมือนสมัยปัจจุบัน ที่มีทั้งวิหาร อุโบสถ กุฏิ ศาลา หอสงฆ์ และอื่นๆ ยุคต้นๆ หลังพุทธปรินิพพาน คงยังไม่มีวัดที่แน่นอน เพราะต้องเคลื่อนย้าย เดินทางออกไปเผยแผ่ตามที่ต่างๆ 

เมื่อมีสาวกมากขึ้น มีชุมชนที่เชื่อในคำสอนแล้ว จึงปักหลักสร้างวัด สร้างศาสนสถานที่ เพื่อรับรองชุมชนและพระสงฆ์ ก็ไม่ต้องเดินทางไกลหรือออกไปเผยแผ่อีกต่อไป หรือไม่ก็อาจมีผู้นำ (กษัตริย์) สร้างให้ หรือเศรษฐี พ่อค้าสร้างให้ จึงไม่แปลกที่บางวัด มีชื่อบุคคลผสมอยู่ด้วย จากนั้น พระสงฆ์ก็สร้างองค์กรในชุมชนคนในวัด เพื่ออุดมการณ์ทางศาสนา ประชาชนและตนเอง

วัดมีไว้เพื่อจุดประสงค์ใด?

วัดคือ สถานที่รับรองกิจกรรมของพระสงฆ์ ชุมชน สมัยก่อนวัดเป็นศูนย์รวมของทางโลกและทางธรรม ทางจิตและทางกิจกรรม งานบุญต่างๆ วัดเป็นศาล (ที่เรียกว่า ศาลา) คอยตัดสินคดีต่างๆ วัดเป็นโรงเรียนที่ให้พระสงฆ์อบรม สั่งสอน วัดเป็จสถานที่ฝึกฝนทักษะ ฝีมือ ตลอดทั้งวิชายุทธวิชัยสมัยกรุงศรีฯ ทั้งสอนวิชาการต่อสู้ มวย ดาบ คาถา วิชาอาคมต่างๆ ทั้งยังเป็นโรงพยาบาล รักษาเยียวยาชาวบ้าน ด้วยสมุนไพรต่างๆ

นอกจากกิจกรรมทางสังคมแล้ว วัดเองยังมีหน้าที่หลักคือ ให้การศึกษา เรียนรู้ อบรม ฝึกฝนสมถะ วิปัสสนา ให้แก่องค์กรในวัด และอบรม สั่งสอน เทศนาเผยแผ่พระธรรมคำสอน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในพระธรรมคำสอน เพื่อให้มีจิตใจ สงบร่มเย็น เป็นสุข จนอาจบรรลุถึงขั้นสูงๆ ขึ้นไป นี่คือ งานหลักขององค์กรในวัด

แต่ละปีในชุมชน วัดวาอาราม ก็จัดกิจกรรมประจำปี มีประเพณีงานบุญ งานบวช งานพิธีกรรมในวัด นอกวัด จนดำเนินกันมาหลายปี สืบทอดกันมาจนเป็นประเพณีประจำภูมิภาคเช่น ฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ เป็นต้น เหล่านี้คือ งานประจำวัด ส่วนงานที่ถือว่า เป็นหัวใจของวัด ของศาสนาคือ อบรมทางจิต เช่น บวชศีลจาริณี อบรมภาวนาประจำเดือนหรือปี ก็มี ด้วยเหตุนี้ วัดจึงเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม และเป็นศูนย์กลางของการเกิดคำว่า "วัตร" ขึ้น


คำว่า "วัด" ที่เป็นป้ายชื่อวัดต่างๆ เพี้ยนมาจากคำว่า "วัตร" เนื่องจากวัดเป็นที่จัดงาน อบรม สั่งสอน ประจำ บ่อยๆ จึงกลายเป็นวิถีปฏิบัติกันประจำเช่น ในภาคอีกสาน ตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารไปถวายพระเรียกว่า "จังหัน" หรือตักบาตรตอนเช้าทุกวัน จนเป็นวัตร หรือเข้าอบรมบ่มเพาะนิสัย เป็นประจำ จึงกลายเป็นวัตรเช่นกัน ในที่สุดวัตรปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ ที่ฝึกหรือทำในวัด จึงเรียกสถานที่นี่ว่า "วัด" ซึ่งกร่อนมาจากคำว่า "วัตร" นั่นเอง

ปัจจุบันวัดแต่ละแห่งก็มีกิจกรรม งานบุญ งานศาสนากิจ งานประเพณีกันประจำ เวลามีเทศกาล ผู้คนก็หลั่งไหลไปกราบไหว้พระ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญ ขอพร ขอโชค ฯ จึงทำให้วัดนั้น มีรายได้ มีความเจริญด้านศาสนวัตถุมากมาย เกิดผลประโยชน์ตามมา ทำให้วัดนั้น มีพระอาศัยอยู่มาก มีคนเข้าวัด มีรายได้เข้าวัด แต่คุณภาพขององค์กรในวัดนั้น อาจไม่เจริญตามอุดมคติของศาสนาก็ได้ เพราะขาดวัตร ปฏิบัติด้านจิตภาวนา เมื่อวัตรน้อยลง คุณภาพขององค์กร ก็ด้อยลง วัดเจริญ แต่คนไม่พัฒนา


เรื่องนี้ ผู้เขียนเคยได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดราชโอราสารามฯ (พระมหาโพธิวงศาจารย์ : ทองดี สุรเตโช) ท่านบอกเป็นปริศนาว่า                                

                 "วัดใดมีพระน้อย วัดนั้นจะเจริญ วัดใดมีโยมมาก วัดนั้น ไม่เจริญ"

ความหมายจริงๆ คือ วัดใด (พระสงฆ์) มีความเป็นฆราวาสมาก มีความเป็นพระน้อย วัดนั้น ไม่เจริญ ส่วนวัดใด (พระสงฆ์) มีความเป็นฆราวาสน้อย แต่มีความเป็นพระได้สมบูรณ์ดี วัดนั้นเจริญ ก็น่าจะจริงอย่างท่านว่า เพราะสมัยนี้ พระอยากเป็นโยมในคราบพระมีมาก ส่วนโยมเอง ก็อยากแสดงออกเหมือนพระในคราบฆราวาสก็เยอะ จึงเกิดภาวะย้อนแย้งกันทั่วๆ ไป


คำสำคัญ (Tags): #วัด#วัตร
หมายเลขบันทึก: 661254เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2019 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2019 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท