๖๑. ไปบ้านดอนหลวง ป่าซาง..ไหว้พระธาตุหริภุญชัย..เมืองลำพูน


งานแต่งสีอวดลายผ้าฝ้ายดอนหลวง..เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผมไปถึงบริเวณที่จัดงานสิบโมง เห็นรถจอดเต็มไปหมด ผู้คนเดินกันขวักไขว่ บรรยากาศของงานเหมือนถนนคนเดิน เที่ยวชมนิทรรศการงานตลาดผ้า

                วันที่สอง..ของการเที่ยวเมืองลำพูน กำหนดการเอาไว้ว่าจะไปเที่ยวบ้านดอนหลวง อ.ป่าซาง ซึ่งกำลังมีงานประจำปีที่มักจะจัดก่อนเทศกาลสงกรานต์

              ชื่องานแต่งสีอวดลายผ้าฝ้ายดอนหลวง..เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผมไปถึงบริเวณที่จัดงานสิบโมง เห็นรถจอดเต็มไปหมด ผู้คนเดินกันขวักไขว่ บรรยากาศของงานเหมือนถนนคนเดิน เที่ยวชมนิทรรศการงานตลาดผ้า

    ทำให้ผมคิดถึงหมู่บ้านที่ผลิตกลอง ที่อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง แทบทุกบ้านจะผลิตและจำหน่ายกลองมากมายหลายแบบ บ้านดอนหลวงก็เหมือนกัน จะทอผ้าฝ้าย และขายเสื้อผ้าทั้งหมู่บ้าน..

        ถือเป็นประเพณีที่สำคัญจึงจัดงานกันทุกปี เป็นสีสันและวัฒนธรรมของชุมชน ผ้าทอที่ประณีตและการตัดเย็บที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ชวนให้ผมสนใจใคร่ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของบ้านดอนหลวง จึงเข้าไปสืบค้นในกูเกิล...

        “บ้านดอนหลวง”ต.แม่แรง อ.ป่าซาง เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมถึงเป็นชุมชนที่งดงามทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม

          ความรู้สึกแรกเมื่อสัมผัสเข้าบ้านดอนหลวง อดแปลกใจไม่ได้กับความสวยงามของบ้านเรือนในชุมชน แทบทุกหลังมีลักษณะบ้านทรงโบราณ ผสมผสานกับการตกแต่งสมัยใหม่ ถนนหนทางสะอาด แทบจะไม่พบขยะสักชิ้นตกตามเส้นทางเดิน”
        “และเมื่อเดินต่อเข้าไป สองข้างทางขนาบด้วยร้านขายผ้าฝ้ายทอมือเรียงรายต่อๆ กัน มีทั้งร้านหรู และเล็ก สลับกับวิถีชีวิตชาวบ้าน กำลังทอผ้าฝ้ายด้วยกี่โบราณอยู่ภายในครัวเรือน หากมีโอกาสเข้ามาซื้อถึงที่นี่จะได้ของราคาถูกกว่าครึ่งจากท้องตลาดทั่วไป”
       ชาวบ้านในชุมชนกว่า 250 หลังคาเรือน จำนวนประมาณ 800 คน จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม คู่กับทอผ้าฝ้ายเป็นหลัก น้อยคนจะรู้ว่า สินค้าผ้าฝ้ายที่วางขายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา กทม. ฯลฯ ส่วนใหญ่จะรับจากชุมชนแห่งนี้ทั้งสิ้น

       ที่มาของการเป็นแหล่งผ้าฝ้ายทอมือรายใหญ่ของประเทศ ต้องย้อนกลับไปกว่า 200 ปีที่แล้ว เดิมชาวบ้านดอนหลวงเป็นหมู่บ้านชาวยอง ซึ่งถูกกวาดต้อนจากเมืองยอง ประเทศพม่า โดยชาวยองมีวัฒนธรรมการทอผ้าสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันภายในครอบครัว ต่อมาเริ่มมีคนภายนอกมาสั่งซื้อ จนพัฒนาเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตและขายผ้าฝ้ายให้คนภายนอกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

        อาหารมื้อกลางวัน..ก่อนที่จะเดินทางไปกราบนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ที่อยู่ใจกลางเมืองลำพูน ผมแวะเข้าไปในซอยหน้าวัดพระธาตุฯ เดินข้ามสะพานที่มีร้านผ้าตั้งเรียงรายอยู่สองฝั่ง เดินเกือบสุดถนนก็พบร้านก๋วยเตี๋ยวขนาดใหญ่ มีลูกค้านั่งอยู่เต็มร้าน

        ผมสั่งเมนูที่ขึ้นชื่อของร้าน “ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย” ขอแบบแห้งๆ แต่ก็ไม่แห้งสนิท มองดูขลุกขลิกน่าทานมาก พอทานแล้วก็ไม่ผิดหวัง สมคำร่ำลือเลย เพราะมันอร่อยมากมายจริงๆ

        อิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็เดินตรงเข้าวัดพระธาตุหริภุญชัย การเข้าวัดเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องสำรวมกาย วาจา ใจอยู่แล้ว แต่วันนี้ต้องสำรวมเป็นพิเศษ เพราะภายในวัดกำลังมีพิธีการเตรียมน้ำอภิเษกที่จะนำมาใช้ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก

        ผมนมัสการองค์พระธาตุและสังเกตพบว่า..เป็นพระธาตุที่มีความโดดเด่นและงดงามมาก เป็นทองทั้งองค์เหลืองอร่ามจับตาจับใจ

        ผมอ่านประวัติความเป็นมา เพื่อศึกษาเรียนรู้หลังจากที่กราบนมัสการเป็นที่เรียบร้อย 

        พระธาตุหริภุญชัย (พระธาตุประจำปีไก่)ในความเป็นเมืองผ่านของ“ลำพูน” หากเพ่งพินิจลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า เมืองลำพูนหรือหละปูนมีเสน่ห์มัดใจใครหลายคนให้ ติดตรึงอยู่กับเสน่ห์อันสงบงามของเมืองนี้อยู่ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะกับวิถีที่ยังคงแนบแน่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งมี“พระบรมธาตุหริภุญชัย”เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง   

          องค์พระธาตุหริภุญไชย ประดิษฐานพระเกศธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในโกศทองคำ เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งของล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงที่ทรงคุณค่าเป็นที่ตั้งของพระสุวรรณเจดีย์และพระเจดีย์เชียงยัน

        วันพรุ่งนี้..จะได้ไปกราบพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ คืนนี้นอนพักผ่อนก่อนดีกว่า..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  เมษายน  ๒๕๖๒




       

       




หมายเลขบันทึก: 660989เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2019 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2019 06:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท