สัญลักษณ์ไม้กางเขนและไม้กางเขนกลับหัว


สัญลักษณ์ไม้กางเขนและไม้กางเขนกลับหัว

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (5 เมษายน 2562)

จากภาพยนตร์ The Devil Inside จะเห็นได้ว่าผู้ที่ถูกปีศาจสิงในเรื่อง จะทำร้ายตัวเองโดยการกรีดแขนหรือขาเป็นรูปไม้กางเขนกลับหัว และที่โดดเด่นชัดคือจะกรีดที่ปากด้านในเป็นรูปไม้กางเขนกลับหัวเช่นกัน สัญลักษณ์ไม้กางเขนกลับหัวยังถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับปีศาจเห็นได้ชัดคือ ภาพยนตร์เรื่อง The Conjuring 2 กำกับโดยเจมส์ วาน ในบ้านของหญิงสาวที่ถูกปีศาจเข้าสิง ไม้กางเขนทั้งหมดที่นำมาประดับห้องไว้นั้นถูกกลับหัวทั้งหมด อันเนื่องมาอำนาจปีศาจ ไม้กางเขน และไม้กางเขนกลับหัว มีความหมายว่าอย่างไร

หนังทั้งสองเรื่องที่กล่าวได้นำเสนอสัญลักษณ์เกี่ยวกับซาตานคือ สัญลักษณ์ไม้กางเขนกลับหัว ซึ่งแต่เดิมไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญและเก่าแก่รวมถึงแพร่หลายที่สุดของศาสนาคริสต์ เพราะพระคริสต์ทรงถูกสังเวยด้วยไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์ของการชดใช้บาป การไถ่บาปให้มนุษย์ ความรอดจากบาป รวมถึงนักบุญคนสำคัญของศาสนาคริสต์คือเปโตรก็ถูกสังเวยชีวิตด้วยการตรึงไม้กางเขน แต่เป็นการตรึงไม้กางเขนกลับหัว เพราะเหตุผลที่ว่าท่านไม่อยาก เทียบเท่าเสมอกับพระคริสต์ จึงให้ทหารชาวโรมัน ตรึงกางเขนแล้วปักหัวลง เนื่องจากชาวคริสต์ยกย่องให้ นักบุญเปโตรเปรียบเสมือนกับสันตะปาปาองค์แรกดังนั้นไม้กางเขนกลับหัวจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของสันตะปาปาด้วย

ไม้กางเขนมีหลากหลายรูปแบบ ท่านสาธุคุณ จอห์น เฟอร์กูสัน ผู้เเขียนหนังสือเรื่อง "เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์" Signs and Symbols in Christian Art ได้อธิบายถึงไม้กางเขน ว่ามีทั้งแบบลาตินกับไม้กางเขนแบบกรีก คือ

ไม้กางเขนแบบลาติน (Latin Cross) คือไม้กางเขนที่เราเห็นโดยทั่วไปในปัจจุบันไม้ทางตั้งจะย

าวกว่าไม้ทางนอน เป็นสัญลักษณ์ของการทรมานหรือการไถ่บาปให้มวลมนุษย์ของพระคริสต์ บางครั้งมีการทำจุดสีแดง 5 จุดหรือติดอัญมณี 5 เม็ดไว้บนไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของบาดแผล 5 แห่งของพระคริสต์ที่ทรงได้รับจากการตรึงกางเขน

ไม้กางเขนแบบกรีก (Greek Cross) เป็นไม้กางเขนที่ไม้แนวตั้งและแนวนอนมีความยาวเท่ากัน ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงคริสตจักรมากกว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์

ไม้กางเขนของอียิปต์ (Egeyptian Cross) ลักษณะของไม้กางเขนจะมีรูปร่างเหมือนตัวอักษร T เรียกอีกอย่างหนึ่งคือไม้กางเขนแห่งพันธสัญญาเดิม เชื่อกันว่าในสมัยที่โมเสส ได้นำชาวยิวเดินทางเร่ร่อนข้ามทะเลแดงมาสู่ดินแดนอิสราเอลในปัจจุบันท่านได้ใช้ไม้กางเขนแบบอียิปต์นี้ประวัติงูขึ้นมา เป็นการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าพระคริสต์จะถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน อีกทั้งยังเป็นเครื่องหมายประจำตัวของนักบุญฟิลลิป เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าท่านได้รับทัณฑ์ทรมานด้วยการตรึงบนไม้กางเขนแบบนี้

ไม้กางเขนในศาสนพิธี (Ecclesiastical Crosses) เป็นไม้กางเขนแบบประยุกต์ใช้บอกสมณศักดิ์ มีไม้กางเขนแบบ 2 ชั้นใช้สำหรับพระสังฆราชและพระอัครสังฆราชและไม้กางเขนแบบสามชั้นจะใช้กับพระสันตะปาปาเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้จำแนกไม้กางเขนแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือไม้กางเขนของนักบุญอันดรูว์ (St. Andrew Cross) เป็นไม้กางเขนที่ไม้ทั้ง 2 อันตัดกันเป็นรูปตัว X โดยมีต้นทางมาจากนักบุญอันดรูว์เมื่อครั้งถูกตรึงกางเขนท่านได้ขอให้ถูกตรึงกางเขนให้มีลักษณะต่างไปจากพระคริสต์เพราะคิดว่าไม่ควรตีตนเสมอ พระมหาไถ่แม้แต่ยามที่ได้รับการทัณฑ์ทรมาน ดังนั้นไม้กางเขนรูปตัว X จึงเป็นสัญลักษณ์ของการถ่อมตนอีกด้วย

เฟอร์กูสัน ยังได้อธิบายถึงไม้กางเขนประจำตัวนักบุญคนสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น นักบุญจอห์นแบปทิสต์ ถือไม้กางเขนที่ทำจากต้นอ้อ นักบุญเฮเลน่าถือไม้กางเขนที่มีรูปเทวทูตช่วยประคอง หรือไม่ต้องเขียนที่อยู่กับค้อนและตะปู นักบุญแอนโทนี่ ถือไม้กางเขนดอกไม้ นักบุญแคทเธอรีนถือไม้กางเขนดอกลิลลี่ นักบุญจอห์จ และนักบุญอูร์ซูลา มีธงรูปไม้กางเขนสีแดง

ไม้กางเขนยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของนักรบเนื่องในศาสนาในช่วงยุคกลางและช่วงสงครามครูเสส กล่าวคือนับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเยรูซาเล็มในปี 1099 โดยกษัตริย์ฝรั่งเศสแล้ว ต่อมาได้มีกลุ่มอัศวิน ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองกรุงเยรูซาเล็มรวมถึงปกป้องคุ้มครองผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญ เรียกอัศวินเทมพลาร์ จะแต่งกายด้วยชุดสีขาวมีสัญลักษณ์ไม้กางเขนสีแดง รูปกากบาทมีความยาวแนวตั้งและแนวนอนเท่ากัน อยู่ที่หน้าอกและโล่ รวมถึงที่ธง โดยเฉพาะในช่วงสงครามครูเสดนักรบที่อยู่ฝั่งคริสเตียนก็จะแต่งกายที่มีเครื่องหมายไม้กางเขนสีแดงประดับ และมีการนำไม้กางเขนขนาดใหญ่ ในการเข้าร่วมสงครามด้วยเสมือนหนึ่งกำลังใจให้กับนักรบฝั่งคริสเตียน เพื่อรบในสงครามครูเสด เพื่อปกป้องดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนแห่งพระเจ้า ถือว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์

ลักษณะแผนผังของสถาปัตยกรรมประเภทอาสนวิหารในยุโรป หากมองจากด้านบนลงมาด้านล่าง (Bird Eye View) โดยมากจะมีแผนผังรูปทรงแบบไม้กางเขน อันเป็นการแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของอาสนวิหาร ที่สร้างขึ้นเพื่อ ใช้ในการนมัสการ เฉลิมพระเกียรติพระคริสต์และพระเจ้า

ดังนั้นไม้กางเขนไม่ว่าจะเป็นแบบปกติหรือกลับหัวลง นับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของพระคริสต์และศาสนาคริสต์อย่างแท้จริง

แต่เนื่องจากคติความเชื่อเรื่องซาตาน ผู้อยู่ตรงข้ามกับพระเจ้า โดยลัทธิผู้บูชาปีศาจ หรือ ซาตาน และทำการต่อต้านพระเจ้า ต้องการจะแสดงความหมายที่แสดงถึงการต่อต้านพระเจ้าอย่างชัดเจน จึงได้ใช้สัญลักษณ์ไม้กางเขนกลับหัว

นักคติชนวิทยาได้อธิบายความหมายของปีศาจ (Devil) คือ ผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าและมนุษย์ อาจเป็น ซาตาน ภูต มีสภาวะเป็นผู้ชั่วร้าย ปีศาจในประเพณีปรัมปราของฮิบรูและคริสเตียนหมายถึง ทูตสวรรค์ที่ถูกขับไล่ให้ไปอยู่ในนรก เป็นเจ้าชายแห่งความมืด เป็นเจ้าแห่งไฟซึ่งสามารถทำลายและเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเจ้าแห่งสัตว์และพืชที่เป็นภัย ซาตาน แต่เดิมเป็นประมุขของทูตสวรรค์ เป็นผู้ปกครองอาณาจักรแห่งความชั่วร้าย มีภารกิจสำคัญคือล่อลวงให้มนุษย์ไปในทางที่ผิดทำบาป วิญญาณของมนุษย์ที่ถูกประมุขของปีศาจลงโทษจะต้องทนทุกข์ทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์ ปีศาจสามารถแปลงร่างเป็นรูปใดก็ได้ให้เหมาะสมกับภารกิจ อาจพบในรูปของมนุษย์ร่างเล็ก มีเขามีขนตามตัว มีหางและมีเท้าเป็นกีบ

นักปีศาจวิทยา (demonologist) ของยุโรป ได้จำแนกกลุ่มของปีศาจ ตามนามและลักษณะเด่น โดยปีศาจที่มีความสำคัญและชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ Lucifer เป็นตัวแทนของความอวดดีความลำพองใจ ส่วนคำว่าซาตาน หรือ เซตัน (Satan) ที่ส่วนใหญ่มักใช้เรียกแทนปีศาจ แท้จริงแล้วคือ หนึ่งในปีศาจสำคัญที่เป็นตัวแทนของความโกรธ ซาตายจะมีสีดำ ครอบครองอาณาจักรแห่งความมืด บางครั้งอาจจะเป็นสีแดงเพื่อแสดงถึงอารมณ์และความร้อนแรงแห่งบาปมักมีเท้าเป็นกลีบผ่าคล้ายเท้าแพะ ทั้ง Lucifer และ Satan เป็น 2 ใน 7 ที่แทนความหมายของบาปที่รุนแรงที่สุดในศาสนาคริสต์อีกด้วย ปีศาจอีก 5 ตนอันเป็นตัวแทนของอีก 5 บาปที่เหลือคือ Mammom - ความโลภ Asmodeus - ความหมกมุ่นในกาม Beelzebob - ความตะกะตะกาม Leviathan - ความอิจฉา Belpphegor ความเกลียดค้าน

ผู้ใดที่นับถือปีศาจ ผู้นั้นแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้า ดังนั้นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนปีศาจ จึงแสดงความเป็นตรงกันข้ามกับพระเจ้าหรือพระคริสต์อย่างชัดเจน คือไม้กางเขนกลับหัว และได้ใช้เป็นเครื่องหมายของซาตานที่โด่งดังที่สุดคือ ลูซิเฟอร์ อีกด้วย

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วเราอาจจะเข้าใจความหมายของการเป็นขั้วตรงกันข้ามได้ว่ามีดีก็ต้องมีเลว มีขาวก็ต้องมีดำ มีพระเจ้าก็ต้องมีปีศาจนั้นสัญลักษณ์ต่างๆที่สร้างขึ้นมาแม้จะเป็นเครื่องหมายเดียวกันแต่เมื่อนำมากับข้าวหรือกับบนลงล่างก็อาจมีความหมายตรงกันข้ามตามไปด้วย เป็นเรื่องธรรมดาปกติวิสัยของโลกใบนี้นั้นเอง

เอกสารประกอบการเขียน

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2554). ตำนานพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

เฟอร์กูสัน, จอร์จ. (2556). เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์ (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มภาพประกอบ). พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

Onprints, A.Piraka. (2006). สืบรหัสลับดาวินชี. กรุงเทพฯ : โซเฟีย บุ๊คส์.

รีวิวภาพยนตร์ The Devil Inside

https://m.facebook.com/story.p...

หมายเลขบันทึก: 660980เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2019 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2020 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท