ร่วมปฏิวัติอาหารกลางวัน ลดความเสี่ยงเด็กไทยบริโภคสารพิษ


“เราทำเป็นโครงงานให้เด็กกับไปปลูกที่บ้าน พอครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ก็จะไปดูผักที่เขาปลูกด้วย พอถึงตอนเช้าเราก็จะสร้างความภูมิใจให้กับนักเรียน เช่น การประกาศว่าวันนี้เราจะทำแกงเลียง จากผักของพี่พลอยชั้น ป.5 หรือ ทำผัดผักซึ่งน้องๆ ป.3 เป็นคนปลูก ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือผักซึ่งเขามีส่วนร่วม และต้องกินให้หมด มิเช่นนั้น พี่ๆ เพื่อนๆจะเสียกำลังใจ เราทำแบบนี้เรื่อยๆ บ่อยๆ จนการกินผักกลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนทำกิจกรรมนี้ได้ผล เขาก็จะมาร่วมด้วย เอาผักมาให้บ้าง ช่วยปลูกที่บ้านอีกแรงบ้าง”


มื้อกลางวันคือ 1 ในจำนวน 3 มื้อหลักอาหาร นับเป็นร้อยละ 33.33 ของอาหารที่นำเข้าร่างกายทั้งหมด เช่นนี้คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาวว่าอาหารมื้อที่ว่านี้สำคัญอย่างไร

ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2561 ข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถีและเครือข่าย ระบุว่า จากการสำรวจมื้ออาหารกลางวันในโรงเรียนพบยังมีปัญหาเรื่องโภชนาการ ซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาพของเด็ก อาทิ ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งสำรวจกลุ่มอาหารตัวอย่างจำนวน 262 ตัวอย่าง พบอาหารที่ไม่ปลอดภัยซึ่งหมายถึงการมีสารปนเปื้อน 145 ตัวอย่าง จ.สกลนคร สำรวจ 59 ตัวอย่าง พบอาหารในระดับไม่ปลอดภัย 24 ตัวอย่าง จ.พังงาน สำรวจ 64 ตัวอย่าง พบอาหารระดับไม่ปลอดภัย 35 ตัวอย่าง จ.ปทุมธานี สำรวจ 14 ตัวอย่าง พบระดับความไม่ปลอดภัย 5 ตัวอย่าง

ทั้งนี้เมื่อนำเด็กนักเรียนมาตรวจเลือดเพื่อค้นหาสารเคมีที่ตกค้างในร่างกายใน 4 จังหวัดกลุ่มตัวอย่าง พบกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในสภาวะความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย อาทิ ใน จ.เชียงใหม่ มีนักเรียนอยู่ในกลุ่มผลตรวจเลือดไม่ปลอดภัยจำนวน 364 คน จากทั้งหมด 2,312 คน จ.พังงาพบ 142คน จากทั้งหมด 2,698 คน จ.ปทุมธานีพบ 49คน จากทั้งหมด 702 คน ส่วนจ.สกลนครไม่พบกลุ่มที่มีระดับไม่ปลอดภัย แต่มีกลุ่มเสี่ยง 142คน จากทั้งหมด 2,698 คน

สารพิษพุ่ง กลุ่มผักยอดนิยม

ขณะที่เมื่อจำแนกประเภทของผักและผลไม้ที่ไม่ปลอดภัย พบว่าจำนวน 1-5 เรียนพบผักที่มีสารปนเปื้อน ได้แก่ มันฝรั่ง,บวบ,กะหล่ำปลี,ดอกมะเขือ ,มะเขือเทศ,กวางตุ้ง , เห็ด,ถั่วงอก, ตะไคร้, ผักเหมียง,ข้าวโพด, ถั่วลันเตาหวาน,ฟักทอง ส่วนผลไม้คือส้มเขียวหวาน แตงโม จำนวนมาก5 โรงเรียนพบผักที่ปนเปื้อนสารพิษ ได้แก่ ถั่วฝักยาว, ผักชี, กระเทียม, มะเขือ, ผักกาดขาว, หอมหัวใหญ่ แตงกวา, ผักบุ้ง คะน้ำ,ต้นหอม ผลไม้คือองุ่น ส่วนเนื้อสัตว์ พบสารฟอกขาว ผงกรอบ และฟอร์มาลีน อาทิ ปลาหมึกสด เส้นก๋วยเตี๋ยว หมูบด ลูกชิ้นปลา หมูยอ เป็นต้น

“เมื่อพิจารณาถึงปัญหาก็พบหลายสาเหตุ อาทิ การขาดแคลนงบประมาณ พื้นที่สำหรับเพาะปลูกในโรงเรียนไม่เท่ากัน ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่ออาหารกลางวัน การขาดความรู้และความตระหนักต่อพิษภัยจากสารกำจัดศัตรูพืชและสุขภาพ โรงเรียนส่วนใหญ่ดำเนินการประมูลหรือว่าจ้างการจัดทำอาหารกลางวัน ชุมชนไม่มีการผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัย ขาดนโยบายส่งเสริมอาหารกลางวันปลอดภั้ยอย่างจริงจัง” มารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทยกล่าว

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า อาหารกลางวันเชื่อมโยงกับคุณภาพของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคต แต่ความเป็นจริงยังมี้ด็กไทยอีกมากที่พบปัญหาทุพโภชนาการ น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ผอม เตี๊ยะ แคระเกร็น อ้วน ในขณะเดียวกันก็พบว่าเด็กไม่นิยมบริโภคผักและผลไม้เพียงพอ โดยคิดการบริโภคผลไม้ในแต่ละวันอยู่ที่ ร้อยละ 5-25 เท่านั้น

“ผักและผลไม้ในจานอาหารของเด็กนักเรียนทั่วประเทศ 63% ไม่ปลอดภัย หากเปลี่ยนจานอาหารกลางวันเด็กในศูนย์เด็กเล็กและนักเรียนชั้นประถมทั่วประเทศเป็นอาหารอินทรีย์ จะทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า ลดค่าใช้จ่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้มหาศาล”

เสนอเพิ่มงบค่าหัวอาหาร ส่งเสริมผักอินทรีย์

วิฑูรย์ กล่าวว่า ข้อเสนอในเรื่องอาหารกลางวันคือผู้เกี่ยวข้องต้องมีวาระการแก้ปัญหาทุพโภชนาการให้ความ การดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัมนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเรื่องขจัดความหิวโหย การสนับสนุนให้ทำเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงการเพิ่มงบประมาณต่อหัวจาก 20บาท เป็น 26 บาท เพื่อปรับอาหารเป็นอาหารอินทรีย์แก่เด็กอนุบาล-ป.6 รวม 200มือ/คน/ปี

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจานอาหารจึงเป็นการเปลี่ยนประเทศไทย เพิ่มคุณภาพของอาหารและลดผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการทางสมองของเด็ก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับไอคิวของเด็กไทยซึ่งปัจจุบันต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานให้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผลจากการถอดบทเรียนในพื้นที่ประสบความสำเร็จ พบส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1.โรงเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการออกแบบ ทั้งในโรงเรียนและในครอบครัวเพื่อสร้างลักษณะนิสัยการบริโภคในทางเดียวกัน

2. การมีชุมชนร่วมด้วย ซึ่งเทศบาลหรือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญอย่างมาก ถ้าเทศบาลเข้าใจปัญหาจะนำมาซึ่งการสนับสนุน การจัดการงบประมาณ และ 3.การเปิดพื้นที่ทางนโยบาย ดังเช่น มีการขยายเพดานงบประมาณด้านอาหาร

“เวลามองเรื่องอาหารโรงเรียน ไม่ใช่แค่ความเพียงพอ แต่ต้องมองเรื่องโภชนาการ ความหลากหลาย ความ ปลอดภัย และชุมชน ซึ่งมีบทเรียนสะท้อนว่าเกษตรกรอินทรีย์รายหนึ่งเคยคิดจะเลิกกิจการ แต่ได้ต่ออายุเพราะโรงเรียนซึ่งกำลังมองหาผักปลอดสารพิษได้แสดงความต้องการ ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เครือข่ายต้องทำให้สังคมตระหนัก และเปลี่ยนแปลงวิธีคิดให้ได้ ว่าการบริโภคของเด็กส่งผลถึงประเทศอย่างไร เพราะแค่วิถีคิดเรื่องการกินก็สามารถเปลี่ยนโลกได้”

การจัดการและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดี การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไปพร้อมๆกัน

//////////////

โรงเรียน-พ่อแม่-ชุมชน

สูตรสร้างอาหารยั่งยืนในโรงเรียน

หัตถยา เพชรย้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลจองถนน จ.พัทลุง เล่าประสบการณ์ตอนหนึ่งในเวที “สรุปบทเรียนและแนวทางจัดการความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียน” ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2561ว่า สถานศึกษาของเธออยู่ในชุมชนติดทะเล ครอบครัวของนักเรียนทั้งหมดทำอาชีพประมง ซึ่งนั่นส่งผลให้อาหารมื้อกลางวันของนักเรียนมักเป็นเมนูแกงปลารสจัด ปลาทอด และไม่ค่อยมีผักเป็นส่วนประกอบในอาหารเลย

“แต่จะไปว่าเด็กหรือครอบครัวเขาคงไม่ได้ เพราะชุมชนเป็นแบบนั้น โรงเรียนเราติดกับทะเล ชุมชนก็เต็มไปด้วยชาวประมง พื้นที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตรอื่น เพราะถ้าน้ำหนุนสูง ผักก็จะตาย ไม่คุ้มทุนถ้าคิดจะปลูกประกอบอาชีพ”

ผลผลิตในชุมชน สะท้อนถึงนิสัยการกินของนักเรียน และความที่ไม่นิยมรับประทานผัก นิสัยการกินอาหารของนักเรียนจึงไม่หลากหลาย

แรกเริ่มสมาชิกครูและผู้ปกครองร่วมกันลงขันกันหาซื้อผักจากชุมชนอื่นเข้าร่วมประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวัน แต่ถึงเช่นนั้นมันไม่ใช่การแก้ปัญหาอยู่ดี เพราะผลสุดท้ายคือเด็กเขี่ยผักทิ้ง แล้วเลือกบริโภคแต่เนื้อสัตว์ตามความเคยชิน

การพูดคุยระหว่างครูและผู้ปกครองถึงปัญหา นำมาสู่โครงการทำการเกษตรในโรงเรียน และนำหลักคิดของโครงการเด็กไทยแก้มใสซึ่งเน้นการบริโภคอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ พวกเขาเริ่มส่งเสริมการปลูกผักในพื้นที่เล็กๆ ที่บริโภคง่าย ลองผิดลองถูก จนมาสู่แนวคิดการปลูกผักไว้รับประทาน โดยเลือกพื้นที่ซึ่งสูงจากน้ำทะเล อย่างการปลูกในกระถาง ตะกร้า ที่ยกขึ้นสูง เลือกผักที่รับประทานง่ายๆอย่าง ผักบุ้ง ถั่วงอก ฯลฯ

“เราทำเป็นโครงงานให้เด็กกับไปปลูกที่บ้าน พอครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ก็จะไปดูผักที่เขาปลูกด้วย พอถึงตอนเช้าเราก็จะสร้างความภูมิใจให้กับนักเรียน เช่น การประกาศว่าวันนี้เราจะทำแกงเลียง จากผักของพี่พลอยชั้น ป.5 หรือ ทำผัดผักซึ่งน้องๆ ป.3 เป็นคนปลูก ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือผักซึ่งเขามีส่วนร่วม และต้องกินให้หมด มิเช่นนั้น พี่ๆ เพื่อนๆจะเสียกำลังใจ เราทำแบบนี้เรื่อยๆ บ่อยๆ จนการกินผักกลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนทำกิจกรรมนี้ได้ผล เขาก็จะมาร่วมด้วย เอาผักมาให้บ้าง ช่วยปลูกที่บ้านอีกแรงบ้าง”

ส่วน นพ.พร พันธุ์โอสถ ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญโญทัย กรุงเทพฯ ตัวแทนของโรงเรียนในเขตเมือง สะท้อนประสบการณ์ว่า มื้อกลางวันในโรงเรียนเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “เราจะมั่นใจวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารให้กับนักเรียนได้หรือไม่” และ “เราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีกไหม” นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ ลงขันของผู้ปกครอง ซึ่งมีเป้าหมายให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษจริงๆ

โรงเรียนคงไม่มีศักยภาพที่จะทำทั้งหมด จึงต้องให้ผู้ปกครองเป็นคนเชื่อมต่อ จนในที่สุดเรามีแหล่งซื้อผักอินทรีย์จากผู้ผลิตโดยตรง มีเงินจ้างแม่ครัว ออกแบบระบบอาหารโรงเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพในที่นี่ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ปริมาณเพียงพอเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสะอาด ปลอดสารพิษ และเป็นอาหารซึ่งมีความจำเป็น บางครั้งผู้ปกครองถึงขนาดแสดงความเป็นห่วงด้วยซ้ำว่าทำไมโรงเรียนถึงลดเนื้อสัตว์ ลดแป้ง และเพิ่มผัก เราจึงทำความเข้าใจว่า เมื่อนักเรียนกลับไปบ้านก็น่าจะได้บริโภคเนื้อสัตว์และแป้งที่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว โรงเรียนที่รับผิดชอบมื้อกลางวันจึงเป็นทางเลือกที่ให้นักเรียนได้บริโภคอาหารอย่างหลากหลาย

หมายเลขบันทึก: 660870เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท