วิจัยพบ“สารพาราควอต”อันตรายหญิงตั้งครรภ์ ถึงเวลา ประเทศไทย “ยกเลิกการนำเข้า”หรือยัง


“รัฐบาล คสช. จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ และสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปหาข้อยุติ ซึ่งมีข้อยุติแล้ว ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ไม่มีมาตรการใดๆในการห้ามการนำเข้าสารเคมีดังกล่าว ”

มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ใช้สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส และสารไกลโฟเซต เป็นสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชต่อไปได้  ไม่เพียงทำให้เกิดความกังขาต่อวงนักวิชาการที่ วิจัยพบอันตรายจากการสารเคมีดังกล่าวที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเท่านั้น

หากกลุ่มที่รณรงค์ให้ยกเลิกการนำเข้าสารนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่าย สนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร บอกว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีความไม่ชอบมาพากลและความไม่ถูกต้องในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของบทบาทซ้อนทับในการต่ออายุหรือแบนสารเคมี ที่หลายประเทศทั่วโลกมีหลักการแยกบทบาทของหน่วยงานควบคุมการใช้ กับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพออกจากกัน แต่ไทยให้อำนาจกระทรวงเกษตรฯ หรือกรมวิชาการเกษตรซึ่งไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพ เป็นผู้ต่อทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

                              ขอบคุณที่มาภาพประกอบ: https://themomentum.co/paraquat-is-still-being-allowed-in-thailand/

นอกจากนี้หน่วยงานที่ต่อทะเบียนสารเคมีคือ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเคยระบุว่าไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพ จึงถือบทบาทซ้อนทับของการตัดสินใจแบนหรือไม่แบนสารเคมีอันตราย

ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน วิฑูรย์ระบุว่า จากการตั้งข้อสังเกตในคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีทั้งสิ้น 29 คน แต่พบว่าผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นอดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็นผู้จัดการสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ขายทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรง

กระบวนการพิจารณาแบนหรือไม่แบนสารเคมีอันตรายจึงถือว่า ไม่โปร่งใส เพราะ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบว่ามีการต่อทะเบียนพาราควอตให้กับใครบ้าง หรือยังไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในเรื่องนี้ เป็นต้น

การมีมติให้ใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าวทั้ง 3 ชนิดต่อไปได้ ทำให้กลุ่มเกษตรกรกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศต้องออกมาทวงถามความรับผิดชอบ โดยเตรียมนัดชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) และตรงกับวันที่สิ่งแวดล้อมโลก

“รัฐบาล คสช. จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพ และสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปหาข้อยุติ ซึ่งมีข้อยุติแล้ว ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ไม่มีมาตรการใดๆในการห้ามการนำเข้าสารเคมีดังกล่าว ” วิฑูรย์ บอกการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 5 มิถุนายน พวกเราต้องการทวงถามเรื่องนี้

ขณะที่นักวิชาการอย่าง รศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็แปลกใจเช่นกันกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ใช้สารเคทีที่อันตรายต่อไป เนื่องจากผลการศึกษาค่อนข้างชัดเจนว่า

พาราควอตและไกลโฟเซตเมื่อพ่นลงดินแล้วไม่ได้เสื่อมฤทธิ์ในทันที! แต่ดินจะดูดซับได้ดีเมื่อมีการใช้สารเคมีต่อเนื่องหลาย ปี จะมีการสะสมมากขึ้นในสารอินทรีย์ในดิน (organic matter) และส่งผลให้พืชดูดซับสารเคมีเหล่านี้ไปสะสมในลำต้น  และเกิดการสะสมของสารเคมี เหล่านี้ในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศวิทยา ในต่างประเทศวิจัยพบมีพาราควอตตกค้างในอาหาร เช่น แป้ง เบียร์ และอาหารเด็ก

ในลักษณะเดียวกันในสัตว์ เช่น ปลา กบ หอย เป็นต้น เมื่อได้รับสารพาราควอตจากห่วงโซ่ สารเคมีเหล่านี้อยู่ในเนื้อเยื่อและอวัยวะของสัตว์จึงไม่สามารถล้างออกให้หมดไป ได้ นั่นหมายถึง ผู้บริโภคมีโอกาสที่ได้รับสารเคมีเหล่านี้ทุกคนไม่ต่างจากเกษตรกร

ผลการตรวจพบ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ในจังหวัด น่าน พบในดิน 6.75 -291.60 ไมโครกรัม/กรัม พบในน้ำประปาหมู่บ้าน ในทุกตัวอย่าง (21 ตัวอย่าง) ในช่วง 0.22 - 4.67 ไมโครกรัม/ลิตร

 พบในผักท้องถิ่น มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน Codex ในทุกตัวอย่างจาก 45 ตัวอย่าง พบในปลามีค่าเกินค่ามาตรฐาน Codex ในทุกตัวอย่างจาก 19 ตัวอย่าง ในช่วงค่า 8.50-189.25 ไมโครกรัม/กก.

นอกจากนี้ยังพบในกบหนอง ปูนา ในพื้นที่เกษตร หอยกาบน้ำจืดในอ่างเก็บน้ำ และปลา มีค่าเกินมาตรฐาน Codex ในทุกตัวอย่าง

ลำพูน และ ลำปาง ในพื้นที่การเกษตรและในแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าว มากกว่า 80% ของตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ และตกค้างใน ดินความเข้มข้นสูงสุด 25.1 มก./กก

ตัวอย่างในน้ำประปาก็เกิดการปนเปื้อนไม่แตกต่างกัน โดยที่หนองบัวลำภู พบในน้ำประปาหมู่บ้านในทุกตัวอย่างที่ตรวจวัดในระดับความเข้มสูง มิลลิกรัม/ลิตร และตรวจ พบในผักท้องถิ่นทุกตัวอย่างก็พบเกินมาตรฐานเช่นกัน

งานวิจัยยังระบุชัดว่ามีการปนเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และการตกค้างในหญิงตั้งครรภ์และทารก

ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ กล่าวว่า การฉีดพ่นด้วยอุปกรณ์สะพายหลังโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ไมส่ามารถป้องกันการสัมผัสพาราควอตได้ ทำให้เกษตรกรได้รับ สารพาราควอตเข้าร่างกายในระดับที่อาจจะเกิดอันตราย จนสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ในครรภ์

ผลวิจัยตรวจพบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่ม ทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20%และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไป 1.3 เท่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร มีความเสี่ยงในการ ตรวจพบสารพาราครอตคิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดินและหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในพื้นที่ เกษตรกรรมช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่าและตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กทารกแรกเกิดสูงถึง 54.7%จากมารดา 53 คน

นอกจากนี้ผลงานวิจัยยังพบว่า เกษตรกรได้รับคลอร์ไพริฟอส จากการหายใจสูงกว่าค่าระดับความปลอดภัย และยังพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมเมื่อคลอดบตุร ตรวจพบคลอร์ไพริฟอสในขี้เท้าทารกแรกเกิดเป็น 32.8% จากมารดา 67 คน

ขณะที่ไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนได้เพราะ มีการตรวจพบการตกค้างของไกลโฟเซตใน ซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 49-54%และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมี ความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 12 เท่า และพบว่าการทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่ม ความเสี่ยงในการได้รับสารไกลโฟเซตในหญิงตั้งครรภ์ มากขึ้น

ผลการวิจัยและอันตรายที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดินน้ำระบบนิเวศน์ และกระทบต่อสุขภาพของคนทำให้ชี้ชัดว่า ควรต้องยกเลิกการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด

หมายเลขบันทึก: 660863เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท