เกณฑ์รับรองเข้มงวดเกิน ฉุดโลโก้ทางเลือกสุขภาพไม่คืบ


“เพราะหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด อีกทั้งผู้ประกอบการยังไม่กล้าเสี่ยงปรับสูตรผลิตภัณฑ์ คงไม่มีใครยอมทำ และไปกล้าเสี่ยงกับของที่ตนเองขายอยู่ติดลมบน ก็เลี่ยงไปออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ให้ผ่านการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” จะได้กระจายความเสี่ยงและไม่ให้กระทบต่อยอดจำหน่ายในภาพรวมด้วย และเมื่อมันขายไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ เขาก็จะมาอ้างกับเราได้ว่า มันไปต่อไม่ได้


ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่ากลุ่มโรค NCDs เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความหันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพ และเกินกว่าความต้องการของร่างกาย

การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักโภชนาการที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเพิ่มอัตราของผู้ป่วยโรคดังกล่าว

สำหรับประเทศไทย มีฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ อยู่ 2 ประเภท คือ ฉลากอาหาร และฉลากโภชนาการ หรือ GDA ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้กำหนดขึ้น เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสม

นายอัจฉริยะ...... กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากการสำรวจของ อย. ในปี พ.ศ.2556 กลับพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจฉลากจีดีเอ และไม่สามารถใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ แม้จะมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ มาเป็นระยะเวลามากพอสมควรแล้วก็ตาม

จึงเป็นที่มาของ สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย หรือ ทางเลือกสุขภาพ(Healthier choice) ซึ่งจะเข้ามาอุดช่องโหว่ในรูปแบบฉลากเดิมๆ

กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเมื่อปี พ.ศ.2559 เรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้มีการกำหนดสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย หรือ ทางเลือกสุขภาพ(Healthier choice) บนบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์กำหนดไว้ นำร่อง 8 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มอาหารมื้อหลัก กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มเครื่องปรุงรส กลุ่มผลิตภัณฑ์นม กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มขนมขบเคี้ยว กลุ่มไอศครีม และกลุ่มไขมันและน้ำมัน

“การออกแบบฉลากใหม่นี้ เราคิดว่าจะช่วยลดความซับซ้อน เข้าใจง่าย และง่ายต่อตัดสินใจและผู้บริโภคมั่นใจได้ เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินมาแล้ว ว่า สามารถบริโภคได้ตามคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม” นายอัจฉริยะ กล่าว

แต่หลังจากมีประกาศออกมาได้ 3 ปี ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรองรับในจำนวนที่น้อยมาก เพียง 500 รายการ และสามารถวางจำหน่ายได้แค่150 รายการ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก คิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้นเมื่อเทียบกับสินค้าที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ที่มีมากถึง 1,700 รายการ

 “เพราะหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด      อีกทั้งผู้ประกอบการยังไม่กล้าเสี่ยงปรับสูตรผลิตภัณฑ์ คงไม่มีใครยอมทำ และไปกล้าเสี่ยงกับของที่ตนเองขายอยู่ติดลมบน ก็เลี่ยงไปออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ให้ผ่านการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” จะได้กระจายความเสี่ยงและไม่ให้กระทบต่อยอดจำหน่ายในภาพรวมด้วย และเมื่อมันขายไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ เขาก็จะมาอ้างกับเราได้ว่า มันไปต่อไม่ได้ ”นายอัจฉริยะ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองออกสู่ตลาดเป้นจำนวนน้อย พร้อมทั้งแนะว่า

หน่วยงานที่รับรองน่าจะต้องปรับลดเกณฑ์ ข้อกำหนด ลดเข้มงวดบางอย่างไปบ้าง ก็จะช่วยให้มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ออกมาจำหน่ายมากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการให้มีกำลังใจในการปรับหรือการผลิตสินค้าออกมาใหม่ๆ อีกด้วย

ความคาดหวังในผลิตภัณฑ์นับตั้งแต่มีคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุข     เป็นอย่างไรนั้น นายอัจฉริยะ บอกว่า เราคาดหวังว่าภายใน 5 ปี ผู้บริโภคจะต้องมีความรู้ความเข้าใจสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ด้วยการรับรู้มากกว่าร้อยละ 70 มีความเข้าใจร้อยละ 60 ตลอดจนสามารถนำไปใช้ได้จริงมากกว่าร้อยละ 50  ซึ่งต่อไป คือ การขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการให้ปรับสูตรลง เพิ่มการผลิต หรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาจำหน่ายเพื่อกระตุ้นการรับรู้ให้กับผู้บริโภค     โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองให้ได้มากกว่า 1,000 รายการ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผลิตภันฑ์ออกมาน้อยกว่าร้อยละ 30 การรับรู้ของผู้บริโภคจะไม่เกิดผล

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีโลโก้ “ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ได้รับการยอมรับและประสบผลสำเร็จจากผู้บริโภค คือ ปัจจัยเรื่องราคา เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักมองเรื่องราคาเป็นลำดับแรก

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ราคาสินค้า ถือเป็นปัจจัยแรกของการตัดสินใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าจะมองเรื่องคุณภาพและคุณค่าโภชนาการ ซึ่งอาจจะต้องขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการกำหนดราคาให้ต่ำลง และต้องกระจายสินค้าวางจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสินค้าได้ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่เท่านั้น

“ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย มีการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย(Healthier choice) มานานกว่า 10 ปี ซึ่งต่อไปหากมีความเป็นไปได้เราอยากสร้างความร่วมมือกระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการใช้สัญลักษณ์ร่วมกันเพียงหนึ่งเดียว(One Logo One Asean) มีเกณฑ์กำหนด มาตรฐานร่วมกันที่ทุกประเทศต้องนำไปใช้ได้เหมือนกัน ไม่ต้องแยกของประเทศใดประเทศหนึ่ง การรณรงค์เรื่องนี้ก็จะมีพลังมากขึ้น ผู้บริโภคเกิดการรับรู้และมีความตระหนักทั่วอาเซียนพร้อมกัน”นายอัจฉริยะ กล่าว

หมายเลขบันทึก: 660869เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท